📌 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม 2567 มีวัตถุประสงค์ เพื่อยกร่างเอกสารการวิเคราะห์เป้าหมายและแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ รวมถึงเอกสารข้อเสนอแนะในการดำเนินงานตามเป้าหมายและแผนปฏิบัติการฯ ให้สมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพพิจารณาในการประชุม สมัยที่ 16 สืบเนื่องจากการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 (CBD COP 16) เมื่อเดือนธันวาคม 2565 ได้รับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework: KM-GBF) เพื่อเป็นกรอบให้ภาคีนำไปจัดทำเป้าหมายชาติ (National Targets) และแผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ (National Biodiversity Strategies and Action Plans: NBSAP) โดยกำหนดให้ส่งสำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ก่อนการประชุม CBD COP 16
📌สาระสำคัญของการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการดำเนินงาน ครั้งที่ 5 (the Fifth meeting of the Subsidiary Body on Implementation: SBI5) มีดังนี้
-
- สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ รายงานความก้าวหน้าการจัดทำ National Targets และ NBSAPs ของภาคีอนุสัญญาฯ โดย 91 ประเทศ ส่ง National Targets แล้ว และ 29 ประเทศ ส่ง NBSAP ที่ปรับปรุงแล้ว โดยในข้อมูลดังกล่าว ซึ่งมีประเทศสมาชิกอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ส่ง National Targets และ NBSAP แล้ว และประเทศลาวส่ง National Targets แล้ว
- การจัดทำ National Targets และการทบทวน NBSAPs เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการแสดงเจตนารมณ์ทางนโยบายของภาคีสมาชิกอนุสัญญาฯ ที่จะดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายและเป้าประสงค์ของ KM-GBF และนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ดังนั้น SBI5 ได้ทบทวนการดำเนินงาน เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นตามความสมัครใจ ใน 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
-
- วิธีการทำให้ทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตาม NBSAPs รวมถึงการบูรณาการการดำเนินงานระหว่างพิธีสารและความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม
- วิธีการให้หน่วยงาน องค์กร สถาบัน หรือกลุ่มการรวมตัวทางสังคม เป็นผู้ดำเนินงานและติดตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
- วิธีการสนับสนุนการดำเนินงาน ได้แก่ 3.1 การจัดทำแผนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับประเทศ ซึ่งมีข้อเสนอให้ริเริ่มกลไกการระดมทรัพยากรทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อใช้ในการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เช่น biodiversity finance, investment for green initiatives, synergies carbon credit for biodiversity conservation 3.2 การจัดทำแผนพัฒนาสมรรถนะระดับประเทศ โดยการวิเคราะห์ช่องว่างการดำเนินงาน การออกแบบกิจกรรม การพิจารณาผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งนี้ สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ จะจัดทำสรุปประเด็นสำคัญเพื่อเสนอให้ CBD COP 16 พิจารณาเป็นมติที่ประชุม สำหรับภาคีอนุสัญญาฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินงานต่อไป