📰 ประเทศไทยแสดงความมุ่งมั่นผ่านเป้าหมายชาติเพื่อร่วมดำเนินงานกับประชาคมโลกและภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ

📍 เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ณ เมืองซานเตียโก เด กาลิ สาธารณรัฐโคลอมเบีย ดร. อรนุช หล่อเพ็ญศรี รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
หัวหน้าคณะผู้แทนไทย กล่าวถ้อยแถลงในระหว่างในการประชุมระดับสูง ของการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 16 โดยเน้นย้ำถึง
การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 15 ซึ่งสร้างพันธะผูกพันร่วมกันระหว่างภาคีอนุสัญญาฯ ให้จัดทำเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการความหลากหลายทางชีวภาพระดับประเทศ ที่สอดคล้องกับกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming – Montreal Global Biodiversity Framework: KM – GBF) และในการประชุมระดับสูง ประเทศไทยแจ้งว่า คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 เห็นชอบเป้าหมายชาติและแผนปฏิบัติการฯ โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาได้ส่งเป้าหมายชาติให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ แล้ว ซึ่งเป็การดำเนินงานตามพันธกรณีที่ประเทศไทยเป็นภาคีอนุสัญญาฯ นอกจากนี้ในถ้อยแถลงดังกล่าวยังมีประเด็นสำคัญ ดังนี้ ประเทศไทยมีความตั้งใจและแสดงความพร้อมขยายพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพนอกเขตพื้นที่คุ้มครองร่วมกับประชคมโลก เพื่ออนุรักษ์พื้นที่บนบก น้ำ และทะเล ให้ได้ร้อยละ 30 ภายในปี ค.ศ. 2030 ประเทศไทยพร้อมจะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการดำเนินงานกับภาคีอนุสัญญาฯ เกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Model) เพื่อยกระดับมูลค่าสินค้า จากภาคการผลิตและบริการ ซึ่งส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ที่มนุษย์จะได้รับจากธรรมชาติ ประเทศไทยพร้อมร่วมดำเนินงานกับภาคีอนุสัญญาฯ และองค์กรระหว่างประเทศในการจัดตั้งกลไกที่เหมาะสมต่อการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม ข้อมูลดิจิทัลของลำดับพันธุกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ประเทศไทยสนับสนุนให้มีกลไกเพื่อเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบใหม่ ๆ ทีนำมาสู่การเพิ่มและการใช้กองทุนกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพและกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เพียงพอต่อ การดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์ความหากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ พันธสัญญาและการแสดงความมุ่งมั่น เหล่านี้เป็นการแสดงความพร้อมที่ประเทศไทยจะขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพควบคู่ไปกับการรักษาประโยชน์จากธรรมชาติที่มีต่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติ ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับโลก

BiodiversityCOP16