กะท่างน้ำอุ้มผาง (Tylototriton​ umphangensis)​ สัตว์ชนิดใหม่ของโลก ถูกค้นพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก

กะท่างน้ำอุ้มผาง (Tylototriton​ umphangensis)​ สัตว์ชนิดใหม่ของโลก ถูกค้นพบที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก โดยนักวิจัยไทยและต่างประเทศ ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สะท้อนความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ

กะท่างน้ำอุ้มผาง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Tylototriton​ umphangensis ถูกตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่สถานที่ที่พบกะท่างน้ำชนิดนี้เป็นครั้งแรก ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จ.ตาก ภาคตะวันตกของประเทศไทย นับว่าเป็นกะท่างน้ำชนิดใหม่ของโลกและเป็นชนิดที่ 6 ที่มีการค้นพบในประเทศไทย ถูกค้นพบโดย ผศ.ดร. ปรวีร์ พรหมโชติ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วยคณะทำงาน และได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทั้งจากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ประเทศฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายอำนาจ ฟองชัย หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และนางสาวบุญร่วม ขุนอินทร์ ฝ่ายวิชาการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผา ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ ZooKeys ฉบับที่ 1072 หน้าที่ 83–105 วารสารฉบับเต็ม : https://zookeys.pensoft.net/article/75320/

กะท่างน้ำอุ้มผาง เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลัง กลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกหรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (class Amphibia) อันดับซาลาแมนเดอร์และนิวท์ (order Urodela) จัดเป็นนิวท์ (newt) ที่มีผิวหนังขรุขระ หัวและลำตัวมีสัน ในวงศ์กะท่างน้ำ (family Salamandridae) ลักษณะเฉพาะของกะท่างน้ำอุ้มผาง คือ มีพื้นลำตัวสีน้ำตาลเข้มถึงน้ำตาลดำ สีสดบนส่วนอื่นๆ ของร่างกายมีสีน้ำตาลส้ม บางตัวมีปลายหางสีส้มสว่าง ปลายกระดูกขากรรไกรล่างยื่นยาวคล้ายติ่งขนาดเล็ก และกระดูก quadrate ขยายใหญ่ทำให้มองเห็นว่ามีหัวกว้าง เป็นต้น ถูกพบบนเทือกเขาสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางมากกว่า 1,000 เมตร ในผืนป่าธรรมชาติ และถูกพิจารณาว่าเป็นกะท่างน้ำเฉพาะถิ่น (endemic species) ที่มีรายงานการพบเจอเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น และนับว่าเป็นกะท่างน้ำสกุล Tylototriton ชนิดที่ 34 ของโลก นับเป็นชนิดที่ 6 ของประเทศไทย รองจากเวียดนาม (7 ชนิด) และจีน (18 ชนิด) สามารถใช้เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพที่สามารถบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมได้ และเป็นการสนับสนุนว่าผืนป่าตะวันตกของประเทศไทยนั้นเป็นพื้นที่ทางธรรมชาติที่สำคัญ เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งต้องมีการอนุรักษ์ไว้ และมีความหลากหลายทางชีวภาพที่รอคอยการค้นพบอีกมาก

ที่มาของเนื้อหา : https://www.facebook.com/environman.th/photos/a.1745027465625693/4262977420497339