นายเสริมพงศ์ นวลงาม นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 สาขาแม่สะเรียง กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้สำรวจพบพรรณไม้เลื้อย สกุลปอยาบ (Grewia) วงศ์ชบา (Malvaceae) แต่ไม่ทราบชนิด จากป่าในท้องที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2563 และได้ส่งตัวอย่างไปให้ศาสตราจารย์ ดร.ประนอม จันทรโณทัย อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาลัยขอนแก่น ช่วยระบุชนิดให้ ปรากฏว่าไม่ตรงกับชนิดใด ต่อมาจึงได้ร่วมกันตีพิมพ์ประกาศให้เป็นพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ลงในวารสารนานาชาติ Thai Forest Bulletin (Botany) เล่มที่ 50(1) ค.ศ.2022 ใช้ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Grewia thailandica Chantar. & Nualngam คำระบุชนิด “thailandica” ตั้งตามสถานที่ที่พบพรรณไม้ชนิดนี้เป็นครั้งแรก คือ ประเทศไทย ใช้ชื่อพื้นเมืองว่า ปอยาบเลื้อย ตั้งตามลักษณะวิสัยที่เป็นไม้เลื้อยชนิดเดียวในสกุลนี้ที่พบในประเทศไทย ปอยาบเลื้อย เป็นพรรณไม้ถิ่นเดียวของไทย (endemic species) พบเพียงแห่งเดียวในโลก ที่อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก ขึ้นในป่าดิบ ที่ระดับความสูงประมาณ 690 ม. ออกดอกเดือน มีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม เป็นผลเดือนเมษายนถึงเดือนพฤศจิกายน
ที่มาของข้อมูล : https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3159306#