ปาดตะปุ่มผิวเรียบ

คณาจารย์และนักศึกษาประจำหลักหลักสูตรชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ค้นพบปาดตะปุ่มผิวเรียบเป็นครั้งแรกบนเขาคอหงส์ ในบริเวณพื้นที่ปกปักพันธุกรรมสิ่งมีชีวิต เขาคอหงส์ #จากเดิมที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อนแม้แต่ในระดับจังหวัดสงขลา
.
สำหรับการค้นพบครั้งนี้ ดร. ยิ่งยศ ลาภวงศ์ กล่าวว่า ดร. ศันสรียา วังกุลางกูร และตน ได้พานักศึกษาเข้าไปทำกิจกรรมสำรวจสิ่งมีชีวิตในยามค่ำคืน ภายในพื้นที่ปกปักฯ ซึ่งเป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งของรายวิชาชีววิทยาภาคสนาม ขณะที่เดินสำรวจก็มีนักศึกษาร้องเรียกอาจารย์ว่า “อาจารย์คะ มีกบอะไรก็ไม่รู้อยู่ในโพรงต้นไม้ค่ะ”
อาจารย์ทั้งสองท่านจึงได้เข้าไปพิจารณาดู และร่วมกันให้ข้อสรุปด้วยความมั่นใจว่า กบดังกล่าวเป็น ปาดตะปุ่มผิวเรียบ ซึ่งไม่เคยมีการรายงานค้นพบในพื้นที่เขาคอหงส์ และจังหวัดสงขลามาก่อน
.
#ปาดตะปุ่มผิวเรียบ#หรือปาดตะปุ่มหลังเรียบ 𝘛𝘩𝘦𝘭𝘰𝘥𝘦𝘳𝘮𝘢 𝘭𝘪𝘤𝘪𝘯 McLeod and Ahmad, 2007 เป็นปาดในกลุ่มปาดตะปุ่มที่สมาชิกส่วนใหญ่มีผิวหนังเป็นปุ่มปมตะปุ่มตะป่ำ แต่ในปาดตะปุ่มชนิดนี้กลับมีผิวที่เรียบกว่าญาติร่วมสกุล จึงเป็นที่มาของชื่อภาษาไทยดังกล่าว ทั้งปาดตะปุ่มผิวเรียบ และปาดตะปุ่มชนิดอื่น ๆ ล้วนเป็นปาดที่มีพฤติกรรมเข้าไปอาศัยอยู่ในโพรงต้นไม้ที่มีน้ำขัง หรือตามซอกกาบใบของพืชต่าง ๆ และยังใช้โพรงต้นไม้นี้ในการวางไข่ เลี้ยงดูลูกอ๊อดของมันอีกด้วย ด้วยพฤติกรรมที่ลึกลับไม่ค่อยออกมาโชว์ตัวดังเช่นกบอื่นทั่วไป ทำให้ปาดชนิดนี้ไม่เคยถูกพบเห็นในพื้นที่ปกปักฯ มาก่อน แม้ว่าคณาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย และผู้สนใจธรรมชาติได้เข้าไปเดินสำรวจในกิจกรรมต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
.
โดยปาดตะปุ่มผิวเรียบอาจจะเข้ามาใช้โพรงไม้ในจุดที่พบเฉพาะบางช่วงเวลาในฤดูสืบพันธุ์ หรือแม้แต่ปาดชนิดนี้อาจจะเพิ่งเดินทางออกมาจากพื้นที่อื่นที่เคยอาศัย เนื่องจากถูกรบกวน หรือมีการทำลาย หรือเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัยเดิม จึงนับเป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกชนิดที่ 21 ที่ถูกพบในพื้นที่ปกปักฯในขณะนี้
.
#สำหรับพื้นที่ปกปักพันธุกรรมพืชบริเวณเขาคอหงส์ใน ม.อ.นี้ เป็นพื้นที่ป่าผสมสวนยางพาราเก่าที่ทางมหาวิทยาลัยได้ขอความร่วมมือจากผู้เข้ามาใช้ประโยชน์ห้ามตัดฟันหรือปลูกใหม่ เพื่ออนุรักษ์ป่าที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำของมหาวิทยาลัยไว้ ต่อมาทางมหาวิทยาลัยได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริงาน อพ.สธ. เมื่อปี พ.ศ. 2545 จึงได้น้อมเกล้าถวายพื้นที่ดังกล่าวเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามกิจกรรมปกปักพันธุกรรมสิ่งมีชีวิต โดยใช้เป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกอบรมเกี่ยวกับทรัพยากรชีวภาพให้กับ นักศึกษา นักวิจัย นักเรียน ครู บุคลากรของหน่วยงานอปท. และผู้สนใจธรรมชาติ ทำให้ได้ทราบถึงข้อมูลความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตภายในพื้นที่ปกปักฯ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละปีจากการฟื้นตัวของส่วนที่ถูกใช้ประโยชน์เป็นสวนยางพารา ค่อย ๆ คืนกลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์ สัตว์ที่ยังไม่เคยถูกสำรวจพบมาก่อนหน้านี้จึงมีแนวโน้มที่จะถูกพบเพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ นับเป็นความสำเร็จประการหนึ่งในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าแห่งนี้
.
เรียบเรียงข้อมูลโดย คุณเรืองฤทธิ์ พรหมดำ
นักวิทยาศาสตร์ ประจำพิพิธภัณฑ์ฯ
และ อาจารย์ ดร. ยิ่งยศ ลาภวงศ์
หลักสูตรชีววิทยา สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 

แหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.facebook.com/psunhm/photos/a.758873714145430/5335009773198445