รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ผศ.ดร.สุธีร์ ดวงใจ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ร่วมกับ
ดร.วรดลต์ แจ่มจำรูญ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการพิเศษ หัวหน้ากลุ่มงานพฤกษศาสตร์ป่าไม้
สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
นายอรุณ สินบำรุง นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ
จังหวัดสุราษฎร์ธานี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ค้นพบและตั้งชื่อพรรณไม้ชนิดใหม่ของโลก ส้มแก้วสมคิด 𝘎𝘢𝘳𝘤𝘪𝘯𝘪𝘢 𝘴𝘪𝘳𝘪𝘱𝘢𝘵𝘢𝘯𝘢𝘥𝘪𝘭𝘰𝘬𝘪𝘪 Ngerns., Meeprom, Boonth., Chamch. & Sinbumr.
ชื่อไทย “ส้มแก้วสมคิด” และคำระบุชนิด (specific epithet) “siripatanadilokii” ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ รองศาสตราจารย์ ดร.สมคิด สิริพัฒนดิลก ข้าราชการบำนาญ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนด้านวิทยาศาสตร์ป่าไม้ของประเทศไทย เช่น กายวิภาคศาสตร์ไม้ต้น (Anatomy of Trees) สรีรวิทยาไม้ต้น (Physiology of Trees) การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช (Plant Tissue Culture) ไมโครเทคนิคพืช (Plant Microtechniques) ชีววิทยาป่าไม้ภาคสนาม (Field Forest Biology) อาจารย์เป็นผู้ที่มีความตั้งใจและทุ่มเทในการสอนหนังสือ มีความเป็นครูสูงมาก สนับสนุนและส่งเสริมลูกศิษย์ จึงเป็นที่เคารพ รัก และศรัทธาของลูกศิษย์
ดร.อาเธอร์ คาร์ (Arthur Francis George Kerr) หรือที่คนไทยเรียกว่า ‘หมอคาร์’ พบและเก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้ครั้งแรกบริเวณคลองทอน จังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2471 เป็นตัวอย่างที่มีผล (A. F. G. Kerr 14580) ต่อมา Sarmrong เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณเขาช่อง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2512 เป็นตัวอย่างที่มีผล (Sarmrong 35) ต่อมา ดร.เชาวลิต นิยมธรรม เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณน้ำตกสิรินธร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2544 เป็นตัวอย่างที่มีผล (C. Niyomdham 6495) ต่อมา นายพาโชค พูดจา และ นายจันดี เห็มรัตน์ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 เป็นตัวอย่างที่มีผล (P. Puudjaa & C. Hemrat 1530) ต่อมา ดร.วรดลต์ แจ่มจำรูญ และคณะ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณใกล้แปลงตัวอย่างถาวรศึกษานิเวศวิทยาระยะยาวเขาช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 เป็นตัวอย่างที่มีผล (V. Chamchumroon, N. Suphuntee, S. Sirimongkol & J. S. Strijk 5217)
ต่อมา รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย นายณัฐนนท์ มีพรหม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุธีร์ ดวงใจ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณใกล้แปลงตัวอย่างถาวรศึกษานิเวศวิทยาระยะยาวเขาช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2559 เป็นตัวอย่างที่มีผล (ตัวอย่างหาย แต่มีภาพถ่าย) ต่อมา รศ.ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย นายณัฐนนท์ มีพรหม นางสาววีรีศา บุญทะศักดิ์ และนางสาวปวีณา เวสภักตร์ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณเดียวกัน เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2561 เป็นตัวอย่างที่มีผล (C. Ngernsaengsaruay, N. Meeprom, P. Wessapak & W. Boonthasak G25-17032018)
หลังจากนั้น รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย นายณัฐนนท์ มีพรหม นางสาววีรีศา บุญทะศักดิ์ นายจรรยา เจริญรัตตวงค์ และนายปรีชา พุทธรักษ์ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นตัวอย่างที่มีดอกเพศเมียและผล (C. Ngernsaengsaruay, N. Meeprom, W. Boonthasak, J. Jarernrattawong & P. Puttarak G26-18022022) ต่อมา รศ. ดร.ฉัตรชัย เงินแสงสรวย นางสาววีรีศา บุญทะศักดิ์ นายประพจน์ สัตถาภรณ์ นายจรรยา เจริญรัตตวงค์ และนายปรีชา พุทธรักษ์ เก็บตัวอย่างพรรณไม้ชนิดนี้บริเวณเดียวกัน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 เป็นตัวอย่างที่มีดอกเพศเมียและผล (C. Ngernsaengsaruay, W. Boonthasak, P. Sutthaporn,J. Jarernrattawong & P. Puttarak G30-08032022) โดยนายปรีชา พุทธรักษ์ และ นายอรุณ สินบำรุง นำต้นจากป่าธรรมชาติมาปลูกไว้ในบริเวณสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง
ขอบคุณข้อมูลจากแหล่งที่มา : Facebook : Department of Botany, Kasetsart University
https://www.facebook.com/photo/?fbid=561522675776743&set=a.528389882423356