ปากแม่น้ำกระบี่ เป็นพื้นที่เครือข่ายนกอพยพ ตามโครงการความร่วมมือพันธมิตรสำหรับการอนุรักษ์นกน้ำอพยพและการใช้ประโยชน์ถิ่นที่อยู่อาศัยของนกน้ำอพยพอย่างยั่งยืนในเส้นทางการบินเอเชียตะวันออก – ออสเตรเลีย (EAAFP) แห่งแรกของประเทศไทย (ลำดับที่ ๘๔ ของ EAAFP)
ที่ตั้งและขอบเขต
มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๓,๑๙๙ ไร่ (๒๑,๒๙๙.๑๔ เฮกแตร์) ครอบคลุมตำบลกระบี่น้อย ตำบลหนองทะเล ตำบลไสไทย เทศบาลเมืองกระบี่ ตำบลอ่าวนาง ตำบลคลองประสงค์ อำเภอเมืองกระบี่ ตำบลคลองประสงค์ ตำบลปกาสัย ตำบลคลองเขม้า ตำบลคลองขนาน ตำบลตลิ่งชัน ตำบลเกาะศรีบอยา ตำบลเกาะสิมา ตำบลเกาะโต๊ะลัง อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่
สถานภาพทางกายภาพ
มีลักษณะเป็นปากแม่น้ำครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่สุสานหอย ๗๕ ล้านปี ปำชายเลน หาดเลน หาดทราย ลำคลองน้อยใหญ่หน้าเมืองกระบี่ ถึงป่าชายเลนและหญ้าทะเลผืนใหญ่ในบริเวณเกาะศรีบอยา สภาพพื้นที่ป่าชายเลน ปากแม่น้ำกระบี่ มีความสมบูรณ์ ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหนาแน่นและสวยงาม มีลำคลองหลายสายไหลลงสู่ทะเลปกคลุมด้วยป่าชายเลน และหาดเลนที่ยาวตามแนวชายฝั่งทะเล ประมาณ ๒๖ กิโลเมตร โดยหาดเลนจะปรากฏเมื่อน้ำทะเลลง หาดเลนบางแห่งมีความกว้างประมาณ ๒ กิโลเมตรจากชายฝั่งทะเล หาดเลนระหว่างปากน้ำกระบี่กับคลองยวน มีขนาดประมาณ ๙.๓ ตารางกิโลเมตร
สถานภาพทางชีวภาพ
ปากแม่น้ำกระบี่ พบนกชายเลนทั้งหมด ๒๗ ชนิด มี ๒๕ ชนิดเป็นนกอพยพชนิดที่มีความสำคัญระดับโลก เช่น นกทะเลขาเขียวลายจุด (Nordmann’s Greenshank) นกหัวโตทรายเล็ก (Mongolian Plover) นกหัวโตทรายใหญ่ (Greater Sand Plover) นกหัวโตขาดำ (Kentish Plover) นกซ่อมทะเลอกแดง (Asian Dowitcher) และนกน็อตใหญ่ (Great Knot) เป็นต้น