“บุศรินทร์” พืชสกุลกระเจียวชนิดใหม่ของโลก

อาจารย์ม.เกษตรฯ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ร่วมกันค้นพบพืชสกุลกระเจียวชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อว่า “บุศรินทร์” มีความหมายว่า
“ดอกบัวของพระอินทร์”

คณะผู้วิจัย ประกอบด้วย ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ ดร. จุฑามาศ กองผาพา และดร. สุคนธ์ทิพย์ เวียนมานะ อาจารย์สังกัดคณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ร่วมกับนางสาวณัชชา กุลภา ประธานวิสาหกิจชุมชนทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่
ตำบลท่าก้อน อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร และ Dr. Jana Leong-Škorničková นักอนุกรมวิธานผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลกระเจียว (Curcuma) อันดับหนึ่งของโลกจากสวนพฤกษศาสตร์ ประเทศสิงคโปร์ ได้ร่วมกันค้นพบ ศึกษา และบรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ โดยตั้งชื่อพืชสกุลกระเจียวชนิดใหม่ของโลกว่า “บุศรินทร์” (Curcuma stahlianthoides Škorničk. & Soonthornk.) อันมีความหมายว่า “ดอกบัวของพระอินทร์” และร่วมกันตีพิมพ์บทความลงในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Blumea – Biodiversity, Evolution and Biogeography of Plants เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดร.ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากคณะผู้วิจัย จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ได้รับการประสานงาน
จากนางสาวณัชชา กุลภา ประธานวิสาหกิจชุมชนทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ ตำบลท่าก้อน อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร ว่าได้พบพืชลักษณะคล้ายว่านเพชรน้อย
ในพื้นที่เกษตรกรรมแห่งหนึ่งของจังหวัดนครพนม ทางคณะผู้วิจัยจึงได้ลงพื้นที่สำรวจ เก็บตัวอย่างและข้อมูลขนาดประชากรเบื้องต้น พร้อมถ่ายภาพสภาพถิ่นที่อาศัย
แล้วจึงนำตัวอย่างและข้อมูลกลับมาที่คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร
เพื่อตรวจสอบกับข้อมูลพืชสกุลกระเจียวในพิพิธภัณฑ์พืชต่างๆ และบรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์ ต่อมา ดร. ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ซึ่งร่วมงานกับ Dr. Jana Leong-Škorničková นักอนุกรมวิธานผู้เชี่ยวชาญพืชสกุลกระเจียว (Curcuma) อันดับหนึ่งของโลกจากสวนพฤกษศาสตร์ประเทศสิงคโปร์  ในการศึกษาพืชสกุลกระเจียวในประเทศไทยมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2562 ได้ส่งข้อมูลให้ Dr. Jana ตรวจสอบ พบว่าพืชชนิดนี้เป็นพืชสกุลกระเจียวชนิดใหม่ของโลก และได้จัดทำต้นฉบับบทความวิชาการเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Blumea – Biodiversity, Evolution and Biogeography of Plants ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ออนไลน์ในวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา
“บุศรินทร์” เป็นพืชล้มลุกสูงประมาณ 50 ซ.ม. มีลำต้นใต้ดินรูปไข่ ลำต้นใต้ดินมีการแตกแขนง เนื้อด้านในลำต้นสีขาวครีม ใบรูปรีแคบคล้ายใบหญ้า แผ่นใบและก้านใบมีสีเขียว ช่อดอกออกที่ด้านข้างของลำต้นมักเกิดก่อนใบ ในต้นที่เจริญอยู่ในพื้นที่ได้รับแสงอาทิตย์มากก้านช่อดอกสั้นและฝังอยู่ในดิน แต่ในต้นที่เจริญในที่ร่มก้านช่อดอกจะยาวโผล่พื้นดิน ช่อดอกมีใบประดับรูปไข่หรือรูปไข่กว้าง ปลายใบประดับโค้งลง จำนวน 3-11 กลีบ มีสีเขียว กลีบดอกมีสีขาวเกือบทุกกลีบ กลีบปากรูปไข่กลับ มีแถบสีเหลืองสดที่กึ่งกลางของกลีบปากส่วนปลายกลีบปากแยกเป็นสองพู ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆคล้ายมะลิ ลักษณะที่โดดเด่นของบุศรินทร์ที่บ่งบอกว่าเป็นพืชชนิดใหม่ของโลก คือการมีลักษณะร่วมกันระหว่างพืชสกุลกระเจียว (Curcuma) และสกุลว่านเพชรน้อย (Stahlainthus) โดยมีดอกที่คล้ายกับพืชสกุลว่านเพชรน้อยแต่ลักษณะของช่อดอกมีใบประดับหลายใบ ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปในพืชสกุลกระเจียว (พืชสกุลว่านเพชรน้อยจะมีใบประดับเพียง 2 ใบเท่านั้น) และยังพบว่ามดช่วยในการกระจายเมล็ด
ของบุศรินทร์ ซึ่งมดจะถูกล่อด้วยสารเคมีในเยื่อหุ้มเมล็ดของบุศรินทร์ ลักษณะเช่นนี้ยังพบได้ในพืชวงศ์ขิง-ข่าหลายสกุล

สำหรับการตั้งชื่อนั้น บุศรินทร์ เป็นชื่อสามัญได้มาจากลักษณะของใบประดับที่มีใบสีเขียวเรียงซ้อนกันตั้งแต่ 3-11 กลีบ ลักษณะคล้ายกับดอกบัวจึงตั้งชื่อว่า บุศรินทร์ อันมีความหมายว่า ดอกบัวของพระอินทร์ ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์นั้น บุศรินทร์จัดอยู่ในสกุลเดียวกับกระเจียว หรือ Curcuma โดยลักษณะดอกของบุศรินทร์มีความคล้ายคลึงกับพืชในสกุลว่านเพชรน้อย หรือ Stahlianthus ซึ่งจากการศึกษาทางชีวโมเลกุลก่อนหน้าของ Záveská และคณะในปีพ.ศ. 2555 พบว่าพืชในสกุลว่านเพชรน้อยมีความใกล้ชิดกับพืชในสกุลกระเจียวมากจนสกุลว่านเพชรน้อยถูกรวมเข้ามาอยู่ในสกุลกระเจียว ทางคณะผู้วิจัยจึงมีความเห็นตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Curcuma stahlianthoides ซึ่งสื่อถึงลักษณะของบุศรินทร์ที่มีลักษณะคล้ายกับว่านเพชรน้อย

ดร.ศุทธิณัฏฐ์ สุนทรกลัมพ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบุศรินทร์พบเพียงที่จังหวัดนครพนมเท่านั้น แต่มีรายงานอย่างไม่ทางการว่าอาจจะพบในสปป.ลาวด้วย  สำหรับการต่อยอดจากการค้นพบพืชชนิดใหม่ โดยทั่วไปพืชในวงศ์ขิง-ข่า จะมีการสร้างน้ำมันหอมระเหยในทุกส่วนของต้น แต่อย่างไรก็ดียังไม่มีการศึกษาทางพฤกษเคมีในบุศรินทร์ ซึ่งหากมีการศึกษาในด้านนี้อาจจะพบสารที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ทางสมุนไพรได้ในอนาคต และจากการลงพื้นที่สำรวจ ประชากรของบุศรินทร์ขึ้นอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรมที่ไม่ได้อยู่พื้นที่อนุรักษ์ ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำลายจากการทำการเกษตรได้ ทางผู้วิจัยจึงได้ทำการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเมล็ดเพื่อเป็นการอนุรักษ์นอกถิ่นอาศัย ณ คณะทรัพยากรธรรมชาติและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติจังหวัดสกลนคร เพื่อใช้ประโยชน์ในการศึกษาวิจัยในอนาคตต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลจากแหล่งที่มา : https://siamrath.co.th/n/373560