ค้นพบ”กระเจียวสุพรรณ” พืชใหม่ของโลกกระจายพันธุ์ บริเวณเขาตะโกปิดทอง-เขาเพชรน้อย

ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสวนพฤกษศาสตร์ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ เปิดเผยว่า เมื่อปี พ.ศ. 2561 ทีมนักพฤกษศาสตร์
องค์การสวนพฤกษศาสตร์ ประกอบด้วย นายเมธี วงศ์หนัก ดร.วัฒนา ตันมิ่ง และดร.ศรายุทธ รักอาชา ได้เข้าสำรวจพื้นที่เตรียมการจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์สุพรรณบุรี บริเวณเขาตะโกปิดทอง-เขาเพชรน้อย ขององค์การสวนพฤกษศาสตร์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ค้นพบกระเจียวที่มีลักษณะแตกต่างจากชนิดอื่นในบริเวณพื้นที่ เตรียมจัดตั้งสวนพฤกษศาสตร์ฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ได้แก่ วนอุทยานน้ำตกพุม่วง และพุหางนาค ต่อมา ปี 2565 นักพฤกษศาสตร์ขององค์การฯ
ได้ตรวจสอบตัวอย่างเทียบเคียงกับกระเจียวชนิดอื่นๆ ทั่วโลก พบว่า เป็นกระเจียวชนิดใหม่ของโลกที่ยังมิได้มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์มาก่อน
จึงร่วมกับ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข ผู้เชี่ยวชาญพืชวงศ์กระเจียว และนักวิชาการของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำการบรรยายลักษณะ โดยตั้งชื่อและตีพิมพ์ลงในวารสารสากล Biodiversitas เล่มที่ 22 ฉบับที่ 9 หน้า 4,579 เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2565

กระเจียวสุพรรณ หรือ ขมิ้นสุพรรณ เป็นพืชสกุลกระเจียว จัดอยู่ในวงศ์ขิงข่า (Zingiberaceae) ที่มีเหง้าใต้ดิน เจริญเติบโตแตกใบและออกดอกเฉพาะในช่วงฤดูฝน
ช่อดอกมีใบประดับที่มีสีสันหลากหลาย เช่น ขาว ชมพู หรือ สีอมม่วงแดง ดอกจริงมีสีขาว ที่กลีบปากมีแต้มสีเหลือง
ปัจจุบันพบการกระจายพันธุ์ของกระเจียวสุพรรณที่เดียวในโลก อยู่ในบริเวณเขาตะโกปิดทอง และเขาเพชรน้อย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี จึงถือเป็นพืชที่มีคุณค่ายิ่ง
ของจังหวัดสุพรรณบุรีและประเทศไทย
ทั้งนี้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ อยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาวิจัยการขยายพันธุ์กระเจียวสุพรรณในห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในสภาพปลอดเชื้อ
เพื่อเป็นหลักประกันว่าพืชหายากชนิดนี้จะไม่สูญพันธุ์และได้รับการอนุรักษ์ คุ้มครอง อย่างยั่งยืนสืบไป

ขอขอบคุณข้อมูลจากแหล่งที่มา : https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_7284196