สผ. โดยกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ในฐานะหน่วยประสานงานกลางคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชในฐานะกรรมการอุทยานมรดกอาเซียน และหัวหน้าอุทยานมรดกอาเซียนของประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมอุทยานมรดกอาเซียน ครั้งที่ 7 (The Seventh ASEAN Heritage Parks: AHP 7) ระหว่างวันที่ 31 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2565 ณ เมืองโบโกร์ ประเทศอินโดนีเซีย การประชุมจัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Healing Nature and People: The Role of AHPs in Ecosystem Protection and Pandemic Recovery” เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุทยานมรดกอาเซียน ได้แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวทางการปฏิบัติ การวางแผน การบริหารจัดการ และการส่งเสริมความร่วมมือเครือข่ายในการอนุรักษ์และคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและพื้นที่อนุรักษ์ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงการประเมินศักยภาพของอุทยานมรดกอาเซียนในการปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศภายหลังการระบาดของโรค COVID-19 และการหารือการจัดทำแผน AHP Regional Action Plan (RAP) หลังปี ค.ศ. 2022
โดยเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 ได้มีพิธีมอบประกาศนียบัตรให้กับอุทยานมรดกอาเซียนซึ่งได้รับการรับรองจากรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมล่าสุด 2 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาสก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 ให้เป็นอุทยานมรดกอาเซียนลำดับที่ 50 และอุทยานแห่งชาติ Endau Rompin Johor ประเทศมาเลเซีย ได้รับการรับรองให้เป็นอุทยานมรดกอาเซียนลำดับที่ 51 เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2565 ในการนี้หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสกได้ขึ้นรับประกาศนียบัตรดังกล่าว
และในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ได้มีพิธีมอบรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes 2022 ให้กับตัวแทนของประเทศสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และประเทศไทย ในการนี้ ศาสตราจารย์ ดร.สุชนา ชวนิชย์ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการเสนอชื่อจาก สผ. ให้เป็น ASEAN Biodiversity Hero ของประเทศไทย