เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก

ที่ตั้งและขอบเขต

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก สภาพพื้นที่เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่เป็นทะเลสาบน้ำจืด สร้างขึ้นเพื่อการชลประทานและการประปา มีพื้นที่ 3,876 ไร่ อยู่ใน ต.บ้านบัว ต.เสม็ด และ ต.สะแกโพรง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ อ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก เป็นอ่างเก็บน้ำชลประทาน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2505 อยู่ห่างจากอ่างเก็บน้ำห้วยตลาดประมาณ 1 กิโลเมตร

สถานภาพทางกายภาพ

สภาพพื้นที่โดยรอบค่อนข้างราบเรียบ อ่างเก็บน้ำทั้งหมดเป็นพื้นที่ลุ่ม รับน้ำจากพื้นที่ข้างเคียง ในฤดูแล้งน้ำแห้ง ส่วนที่ลึกที่สุดเพียง 2 เมตร ในฤดูฝนมีน้ำลึกที่สุดประมาณ 5-7 เมตร ทั้งสองข้างมีหมู่บ้านต่างๆ ล้อมรอบ ลักษณะดินที่พบมีความอุคมสมบูรณ์ค่อนข้างต่ำ บริเวณที่ลุ่มที่ไม่มีน้ำขังทำนา

สถานภาพทางชีวภาพ          

เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มากเป็นพื้นที่ทดลองปล่อยนกกระเรียนพันธุ์ไทยแห่งแรกของไทย ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่เคยเกือบสูญพันธุ์ในประเทศไทย และเป็นที่อยู่อาศัยของนกจำนวนมาก พบนกอย่างน้อย 11 ชนิด ชนิดที่อยู่ในสถานภาพถูกคุกคามของโลก (globally threatened) ได้แก่ เป็ดคำหัวดำ (Aythya baeri) ชนิดที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered) ของประเทศไทย ได้แก่ นกกระสาแดง (Ardea purpurea) พบประมาณ 100 ตัว ชนิดที่อยู่ในสภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (vulnerable) ได้แก่ เป็ดคำหัวดำ ชนิดที่พบเป็นจำนวนมาก ได้แก่ นกยางโทนน้อย (Egretta intermedia) ประมาณ 2,500 ตัว นกเค้าดินอกแดง (Anthus cervinus) ประมาณ 700 ตัว นกนางแอนทรายสร้อยคอดำ (Riparia riparia) ประมาณ 464 ตัว และนกเค้าดินทุ่ง (Anthus novaeseelandiae) ประมาณ 200 ตัว นอกจากนี้ยังพบเหยี่ยวทุ่ง (Circus spilonotus) เหยี่ยวค่างดำขาว (C. melanoleucos) นกหัวโตหลังจุดสีทอง (Plvialis fulva) และนกจาบปีกอ่อนอกเหลือง (Emberiza aureola) เป็นต้น
พบปลาอย่างน้อย 18 ชนิด เป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) 8 ชนิด ได้แก่ ปลากะสูบขีด (Hampala macrolepidota) ปลาตะโกก (Cyclocheilichthys enolops) ปลายี่สกเทศ (Labeo rohia) ปลาสร้อยขาว (Henicorbynchus siamensis) เป็นต้น
พบพืชริมอ่างเก็บน้ำ ได้แก่ กกสามเหลี่ยม หญ้าหวาย ถัดเข้าไปเป็นบัวหลวง กลางน้ำมีพืชใต้น้ำ ได้แก่ สาหร่ายหางกระรอก พืชลอยน้ำ ได้แก่ จอกหูหนู ผักบุ้ง ผักตบชวา