พบจิ้งจกนิ้วยาว 2 ชนิดใหม่ของโลก “จิ้งจกนิ้วยาวเกาะสมุย และจิ้งจกนิ้วยาวเกาะสิมิลัน”

ด้วยความร่วมมือของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยทักษิณ ค้นพบจิ้งจกนิ้วยาว 2 ชนิดใหม่ของโลก ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่เกาะสมุย ฝั่งทะเลอ่าวไทยและเกาะสิมิลัน ฝั่งทะเลอันดามัน ทางภาคใต้ของประเทศไทย “จิ้งจกนิ้วยาวเกาะสมุย” ถูกค้นพบจากพื้นที่เขาหินแกรนิตใกล้ลำธารบริเวณน้ำตกหินลาด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ “จิ้งจกนิ้วยาวเกาะสิมิลัน” ถูกค้นพบจากพื้นที่เขาหินแกรนิตใกล้ป่าชายหาดบริเวณอ่าวงวงช้าง ภายในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นจิ้งจกนิ้วยาว 2 ชนิดใหม่ของโลก โดยงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนจากสถาบันยุทธศาสตร์ทางปัญญาและวิจัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (KURDI) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (Thailand Research Fund) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คณะนักวิจัยไทย ประกอบด้วย อาจารย์ ดร. นที อำไพ (ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) รศ.ดร. อัญชลี เอาผล อาจารย์ ดร. อรรถพล รุจิราวรรณ ดร. กอขวัญ เติมประยูร (ภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์) และอาจารย์ ดร. ศิริพร ยอดทอง (ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ) และนักวิจัยต่างชาติ Dr. Bryan L. Stuart จาก North Carolina Museum of Natural Sciences และ Dr. Perry L. Wood Jr. จาก Department of Ecology and Evolutionary Biology, University of Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา

จิ้งจกนิ้วยาวสกุล Cnemaspis จัดอยู่ในกลุ่มจิ้งจกและตุ๊กแกในวงศ์ Gekkonidae ซึ่งจิ้งจกในสกุลนี้มีความหลากหลายสูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีรายงานการค้นพบชนิดใหม่อย่างต่อเนื่องในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาและปัจจุบันมีจำนวนทั้งหมด 21 ชนิดในประเทศไทย ซึ่งจิ้งจกนิ้วยาว 2 ชนิดใหม่ที่รายงานในครั้งนี้มีชื่อสามัญและชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (1) จิ้งจกนิ้วยาวเกาะสมุย Cnemaspis samui Ampai et al. 2022 และ (2) จิ้งจกนิ้วยาวเกาะสิมิลัน Cnemaspis similan Ampai et al. 2022

สำหรับจิ้งจกนิ้วยาวเกาะสมุย อาศัยในบริเวณป่าเขาหินแกรนิตบริเวณใกล้ลำธารบริเวณน้ำตกหินลาด ซึ่งเป็นหนึ่งในน้ำตกที่ใหญ่ที่สุดในพื้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในฝั่งทะเลอ่าวไทย ในขณะที่จิ้งจกนิ้วยาวเกาะสิมิลัน พบที่บริเวณเขาหินแกรนิตใกล้ป่าชายหาดอ่าวงวงช้าง ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ซึ่งจิ้งจกนิ้วยาวทั้ง 2 ชนิดมีแหล่งที่อยู่อาศัยย่อย (microhabitat) ที่คล้ายคลึงกันโดยอาศัยและดำรงชีวิตอยู่ตามซอกหิน (crevices) หรือเพิงหินแกรนิต (rock wall) ขนาดใหญ่ จากการสำรวจพบว่าจิ้งจกนิ้วยาวทั้ง 2 ชนิดนี้มีรูปแบบการดำรงชีวิตในช่วงเวลากลางวันซึ่งมีความรวดเร็วในการเคลื่อนที่บนพื้นผิวแบบหินและยังสามารถหลบหนีจากศัตรูผู้ล่าได้ดี จิ้งจกนิ้วยาวในสกุล Cnemaspis ยังมีบทบาทสำคัญเช่น การควบคุมจำนวนแมลง และช่วยรักษาสมดุลของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ การค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่องในรอบ 15 ปีของจิ้งจกนิ้วยาวในสกุล Cnemaspis บ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของป่าทางภาคใต้ของประเทศไทย การอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ เช่น ป่าเขาหินแกรนิต ซอกหินใกล้ลำธารและน้ำตก รวมถึงป่าเขาหินปูน จะทำให้ประชากรจิ้งจกนิ้วยาวสามารถดำรงชีวิตและอยู่รอดได้ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ความหลากหลายของจิ้งจกกลุ่มนี้ในประเทศไทยต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : Facebook Environman
https://www.facebook.com/environman.th/photos/pcb.5328667767261627/5328667570594980/