Biodiversity CHM Thailand

กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย (Thailand Clearing-House Mechanism) เป็นการดำเนินงานตามมาตรา 18 วรรค 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยจัดทำ รวบรวม และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ผ่านเว็บไซต์ https://chm-thai.onep.go.th ซึ่งเป็นกลไกในการเข้าถึงและถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพ ในระดับชาติและระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน รวมถึง ผลงานวิจัยทางวิชาการ และวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ

  • ความเป็นมาของ CHM

Clearing-House เป็นศัพท์เฉพาะที่ใช้ในด้านธุรกิจและการธนาคาร โดยหมายถึง กลไกหรือกระบวนการในการสะสางบัญชีและเช็คเบิกจ่ายเงินต่างๆ ที่ได้มา

กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพ (Clearing-House Mechanism; CHM) เป็นการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ประโยชน์องค์ประกอบความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลข่าวสารและความรู้ทางวิทยาศาสตร์อย่างเพียงพอ ตลอดจนเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพในการเก็บรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร อย่างไรก็ตาม เนื่องจากแต่ละประเทศมีความรู้ ความชำนาญในการจัดการข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีในระดับที่แตกต่างกัน ทำให้การแลกเปลี่ยนหรือเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างยากลำบากและไม่มีประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร และหลายประเทศยังไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ อนุสัญญาฯ จึงได้จัดตั้งกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพขึ้น เพื่อเป็นหลักประกันว่าทุกประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและเทคโนโลยีที่จำเป็นในการดำเนินงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพได้

มาตรา 18 วรรค 3 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จึงได้กำหนดให้ “ภาคีจัดตั้งกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร เพื่อส่งเสริมและเอื้ออำนวยความร่วมมือทางวิชาการและวิทยาศาสตร์” โดยมี วัตถุประสงค์เพื่อ

  • ส่งเสริมและเอื้ออำนวยความร่วมมือทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
  • จัดทำและพัฒนากลไกระดับโลกสำหรับการผสานและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
  • จัดทำและพัฒนาเครือข่าย เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ที่จำเป็นต่อการดำเนินงาน
  • บทบาทหน้าที่ของ CHM

CHM เป็นกลไกการถ่ายทอดข้อมูล ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคนิค ตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่จะมีส่วนช่วยเหลือและสนับสนุนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในทางวิชาการ หมายถึง การเสริมสร้างประสิทธิภาพของการเคลื่อนย้าย ถ่ายทอดข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และเทคนิค ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้นักวิชาการได้ประโยชน์จากความรู้และข้อมูลใหม่ๆ และ/หรือสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและความรู้ทางวิชาการให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ อนุสัญญาฯ ได้กำหนดให้กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ทำหน้าที่มากกว่าเครื่องมือที่ช่วยเหลือทางวิชาการ และอาจจำเป็นต้องมีบทบาทในการถ่ายทอดเทคโนโลยีตลอดจนงบประมาณสนับสนุนความร่วมมือในกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และบทบาทของกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ยังเป็นการแจ้งให้ภาคีและผู้สนใจได้ทราบว่ามีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานตามอนุสัญญาฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีที่เป็นของสาธารณะ และสามารถเข้าถึงใช้ประโยชน์ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

โดยมีกิจกรรมด้านการส่งเสริมความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างประเทศ มีการสร้างบทบาทของกลไกอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตอบสนองความต้องการ และทรัพยากรที่มีอยู่ ใช้รูปแบบการดำเนินงานที่เป็นกลาง โปร่งใส ประหยัด มีประสิทธิภาพ เข้าถึงได้ และมีการกระจายข้อมูลโดยใช้สื่อต่างๆ โดยอยู่ภายใต้ความร่วมมือกับองค์กรระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการพัฒนากลไก และเสริมสร้างเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญและเกี่ยวข้องในระดับชาติ ภูมิภาค และนานาชาติ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐ เอกชน และ NGOs และมีหน่วยประสานงานกลางกลไกการถ่ายทอดข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพประจำสำนักเลขาธิการอนุสัญญาฯ (Secretariat Focal Point) ระดับชาติ (National Focal Point) และเฉพาะด้าน (Thematic Focal Point) ซึ่งแต่ละหน่วยประสานงานมีความรับผิดชอบในการชจัดทำเครือข่ายของตน เพื่อทำให้เครือข่ายของกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิผล เป็นระบบที่มีเคลื่อนไหว และแปรรูปได้

*ข้อมูลเพิ่มเติม  จากเว็บอนุสัญญา  https://www.cbd.int/chm/

  • มติ COP เกี่ยวกับ CHM

*ยังไม่มีข้อมูล หน้าเว็บเดิมหายไป

  • การดำเนินงานของประเทศไทย

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางระดับชาติของอนุสัญญาฯ ได้จัดทำและพัฒนาเว็บไซต์กลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพ (https://chm-thai.onep.go.th) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 โดยดำเนินงานตามหลักการและแนวทางของอนุสัญญาฯ เพื่อเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารความหลากหลายทางชีวภาพ และเชื่อมโยงกับหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลในกลไกการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารฯ ประกอบด้วย เนื้อหาสาระของอนุสัญญาฯ และพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ผลการดำเนินงานตามพันธกรณี โปรแกรมงาน และมติการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ เช่น นโยบายและแผนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ สถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพ กฎหมายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รายการชนิดพันธุ์ในประเทศไทย ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น รวมถึง ข่าวสารเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ข่าวสารการค้นพบชนิดพันธุ์ใหม่ ข่าวสารการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนกิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ เช่น การประชุม การฝึกอบรม นอกจากนี้ ยังได้เผยแพร่และให้ความรู้ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ความปลอดภัยทางชีวภาพ และพื้นที่ชุ่มน้ำ ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับการดาวน์โหลดไว้ใช้ประโยชน์ทั้งความรู้วิชาการ เช่น หนังสือ แผ่นพับ รายงานการประชุม ชุดนิทรรศการ และความรู้กึ่งวิชาการ เช่น สารคดี การ์ตูนแอนิเมชั่น มิวสิควิดีโอ เพลง