ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส หรือ MSU) ค้นพบพืชสกุลขมิ้นชนิดใหม่ของโลก “มหาอุดมนครพนม” หรือ “ขมิ้นนครพนม” ชื่อวิทยาศาสตร์ “Curcuma nakhonphanomensis Boonma, Saensouk & P. Saensouk” ในพื้นที่จังหวัดนครพนม ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยตั้งชื่อวิทยาศาสตร์และชื่อไทยเป็นเกียรติแก่จังหวัดนครพนมแหล่งค้นพบตัวอย่างของพืชชนิดใหม่นี้ จัดเป็นพืชถิ่นเดียวและเป็นพืชหายากชนิดใหม่ของโลกปัจจุบัน มหาอุดมนครพนม หรือ ขมิ้นนครพนม ยังคงพบกระจายพันธุ์แค่ในพื้นที่ป่าเขตจังหวัดนครพนม และยังไม่เคยมีรายงานการค้นพบในพื้นที่อื่น ๆ หรือประเทศอื่นมาก่อน ทำให้มีสถานะเป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic species) และหายากของไทย (rare species) ทางคณะผู้วิจัยจึงได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับพืชชนิดใหม่นี้ว่า Curcuma nakhonphanomensis Boonma, Saensouk & P. Saensouk โดยตั้งชื่อไทยว่า “มหาอุดมนครพนม” หรือ “ขมิ้นนครพนม” เนื่องจากเป็นพืชในสกุลขมิ้น นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักในชื่อ “กระเจียวแม่โขง” เนื่องจากพบกระจายพันธุ์อยู่ใกล้กับแม่น้ำโขง และชื่อ “เสน่ห์นครพนม” ซึ่งมีที่มาจากการแบ่งกลุ่มการใช้ประโยชน์ว่านชนิดนี้ในกลุ่มว่านที่ให้ความเมตตามหานิยมแก่ผู้ที่ปลูกเลี้ยง. จากการสำรวจการใช้ประโยชน์พืชชนิดนี้ เบื้องต้นพบว่าใช้ปลูกเป็นไม้ประดับมงคลตามความเชื่อ ช่อดอกอ่อนนำมารับประทานสด หรือลวก ทานกับน้ำพริกได้เช่นเดียวกับกระเจียวขาวและกระเจียวแดง
รายละเอียดเพิ่มเติมและตารางเปรียบเทียบลักษณะทางสัณฐานวิทยากับชนิดที่ใกล้เคียงกันสามารถดาวน์โหลดและอ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่ https://smujo.id/biodiv/article/view/12165/6310
ข้อมูลจากเฟสบุ๊ค Environman