มดชุติมา…มดชนิดใหม่ของโลกจากป่าสะแกราช

มดชุติมา (𝐿𝑒𝑝𝑖𝑠𝑖𝑜𝑡𝑎 𝑐ℎ𝑢𝑡𝑖𝑚𝑎𝑒 Jaitrong, Waengsothorn et Buddhakala, 2022) เป็นมดชนิดใหม่ของโลกที่ถูกค้นพบเมื่อเร็ว ๆ นี้ และได้รับการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว) มดหน้าตางดงามชนิดนี้มีสีเหลืองทองตลอดทั้งตัว (ท้องมีสีเข้มกว่าอกเล็กน้อย) ผิวตัวเรียบเป็นเงามัน ท้ายส่วนอกและเอวมีหนามแหลม ประเทศไทย มีมดในสกุล 𝐿𝑒𝑝𝑖𝑠𝑖𝑜𝑡𝑎 ซึ่งเป็นสกุลเดียวกันกับมดชุติมาจำนวน 8 ชนิด เกือบทั้งหมดอาศัยอยู่ในดิน ยกเว้นเพียงมดชุติมาเท่านั้นที่ปรับตัวขึ้นไปอาศัยอยู่บนต้นไม้ เหตุผลในการปรับตัวที่แปลกไปจากมดชนิดอื่นในสกุลเดียวกันนั้น นักวิจัยเองก็กำลังค้นหาคำตอบ

.

การค้นพบมดชนิดใหม่นี้เกิดจากความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงานได้แก่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.) และ วว. ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง “ความหลากหลายทางชีวภาพของมดบนเรือนยอดไม้บริเวณสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา” โดยได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณจาก อพวช. และ วว. สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวก

.

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ Far Eastern Entomologist ฉบับที่ 456 หน้าที่ 1–8 เดือนมิถุนายน 2565 โดย ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง (อพวช.) ดร.สุรชิต แวงโสธรณ์ และ ผศ.ดร.นพรัตน์ พุทธกาล (มทร.)

.

เรื่องโดย… วียะวัฒน์ ใจตรง

ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล : https://www.facebook.com/photo/?fbid=558296432972785&set=a.514975057304923