อ.ดร.อรรถพล รุจิราวรรณ และ รศ.ดร.อัญชลี เอาผล อาจารย์ประจำภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาวิจัยอนุกรมวิธานเชิงบูรณาการของจิ้งจกและตุ๊กแก (วงศ์ Gekkonidae) ในระบบนิเวศเขาหินปูนของภาคตะวันตกและภาคใต้ของประเทศไทย และได้ค้นพบจิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่ของโลก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ตั้งชื่อว่า จิ้งจกนิ้วยาวเอราวัณ Cnemaspis auriventralis ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีผู้ร่วมค้นพบซึ่งประกอบด้วย ดร.กอขวัญ เติมประยูร (นักวิจัย) และ นายอัครชัย อักษรเนียม (นิสิตปริญญาเอก) จากภาควิชาสัตววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อ.ดร.ศิริพร ยอดทอง จากสาขาวิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ .ดร.นที อำไพ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ Dr. Bryan L. Stuart จาก North Carolina Museum of Natural Sciences ประเทศสหรัฐอเมริกา
อนุกรมวิธานและลักษณะสำคัญของจิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่
จิ้งจกนิ้วยาวเอราวัณ Cnemaspis auriventralis ถูกค้นพบจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี โดยจิ้งจกนิ้วยาวชนิดนี้จัดอยู่ในกลุ่มจิ้งจกนิ้วยาวสยาม Cnemaspis siamensis group ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 13 ชนิด และมีข้อมูลการแพร่กระจายบริเวณภาคตะวันตกลงไปและภาคใต้ของประเทศไทย รวมถึงเกาะลังกาวีของประเทศมาเลเซีย จิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่มีขนาดลำตัวจากปลายจมูกถึงช่องเปิดทวาร 32.9–38.6 มิลลิเมตร สำหรับลักษณะทางสัณฐานวิทยาที่สำคัญ คือ มีสีเหลืองทั่วบริเวณฝั่งด้านท้อง (ventral) ตั้งแต่ส่วนหัว ลำตัว และหาง ในเพศผู้ตัวเต็มวัย ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่ปรากฏในจิ้งจกนิ้วยาวชนิดอื่น นอกจากนี้ผลจากการศึกษาทางด้านชีวโมเลกุลพบว่า จิ้งจกนิ้วยาวเอราวัณ มีสายสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการใกล้ชิดกับจิ้งจกนิ้วยาวหัวสีส้ม Cnemaspis huaseesom ซึ่งพบในพื้นที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีค่าความแตกต่างทางพันธุกรรมระหว่างชนิดเท่ากับ 12.12–12.55% จากข้อมูลยีน NADH dehydrogenase subunit 2
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cnemaspis auriventralis โดย specific epithet “auriventralis” มีที่มาจากภาษาละตินคำว่า aurum หมายถึง ทอง หรือสีทอง (gold) และ ventralis หมายถึงส่วนด้านท้อง (venter) เพื่อให้มีความหมายอ้างอิงถึงลักษณะเด่น คือ เพศผู้ตัวเต็มวัยมีสีเหลืองทั่วบริเวณด้านท้องตั้งแต่หัวจรดหาง
นิเวศวิทยาและการอนุรักษ์
จิ้งจกนิ้วยาวเอราวัณอาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เขาหินปูนของทิวเขาตะนาวศรี ในอุทยานแห่งชาติเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 750 เมตร ซึ่งจิ้งจกนิ้วยาวชนิดใหม่นี้มักเกาะอาศัยตามก้อนหินขนาดใหญ่ และส่วนมากมักพบในช่วงเวลากลางวัน ปัจจุบันพบว่าจิ้งจกนิ้วยาวชนิดนี้พบเฉพาะที่อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี แต่อย่างไรก็ตามในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรีมีบริเวณที่เป็นพื้นที่เขาหินปูนจำนวนมาก ดังนั้นการสำรวจในภาคสนามบริเวณพื้นที่เขาหินปูนใกล้เคียง และการเก็บข้อมูลทางด้านนิเวศวิทยาจะทำให้ได้ข้อมูลการแพร่กระจายและนิเวศวิทยาที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพื่อใช้สำหรับประเมินข้อมูลประชากร และปัจจัยทางนิเวศวิทยาที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของจิ้งจกนิ้วยาวชนิดนี้เพื่อที่จะใช้ในการวางแผนอนุรักษ์
งานวิจัยนี้ได้รับทุนอุดหนุนวิจัยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากสถาบันวิจัยและพัฒนาแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (โครงการวิจัย ร-ม 64) และได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินงานวิจัยในพื้นที่โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ขอขอบคุณข้อมูลจากแหล่งที่มา : นักวิจัย ม.เกษตรฯ ค้นพบ “จิ้งจกนิ้วยาวเอราวัณ” ชนิดใหม่ของโลก สยามรัฐ (siamrath.co.th)