สผ. จับมือ BIOFIN นำร่องนวัตกรรมด้านการเงินเพื่อปิดช่องว่างทางการเงินในการจัดการความหลากหลายหลายฯ

สผ. จับมือ BIOFIN นำร่องนวัตกรรมด้านการเงินเพื่อปิดช่องว่างทางการเงินในการจัดการความหลากหลายหลายทางชีวภาพ

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา นายพิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการ สผ. และนายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการ สผ. พร้อมด้วยคณะ ประชุมหารือทวิภาคีกับ UNDP’s Global BIOFIN โดย Mr. Onno van den Heuvel, BIOFIN global manager พร้อมด้วย Ms. Tracey Cumming, Senior Technical Advisor และทีม BIOFIN ประเทศไทย ยกระดับการดำเนินงานและกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนกลไกทางการเงินและการลงทุน เพื่อปิดช่องว่างทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ผลจากการประชุมหารือ มีข้อสรุปร่วมกันใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) การขับเคลื่อนกลไกทางการเงินและเงินทุนจะดำเนินการในทิศทางที่ผสานการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าด้วยกัน โดยศึกษากลไกที่เหมาะสมในการส่งเสริมการลงทุนเพื่อธรรมชาติควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยพิจารณาความเป็นไปได้ในส่งเสริมให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับความหลากทางชีวภาพของภาคธุรกิจ 2) การขยายผลนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือโมเดลเกาะเต่า ที่คาดว่าจะสร้างรายได้มากกว่า 12 ล้านบาทต่อปี และ 3) การขับเคลื่อนการดำเนินงานในการจัดทำงบประมาณแบบมุ่งผลลัพธ์ในระดับประเทศและท้องถิ่น การศึกษาเพื่อระบุและปรับเปลี่ยนแรงจูงใจที่เกิดผลลบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และการมีส่วนร่วมของภาคการเงินการธนาคารในการกำหนดนโยบายทางการเงินที่ยั่งยืน

ทั้งนี้ ได้มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการขยายการดำเนินงานโครงการ BIOFIN ในประเทศไทยออกไปจนถึง พ.ศ. 2570 และการเพิ่มความสนับสนุนในการจัดทำและทบทวนแผนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทย นับเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่มีการจัดทำแผนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2562 และการนำร่องกลไกทางการเงินของประเทศไทยได้รับการยอมรับและถ่ายทอดบทเรียนสู่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก

** BIOFIN หรือ Biodiversity Finance Initiative เป็นโครงการระดับโลกภายใต้โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ดำเนินการนำร่องนวัตกรรมทางการเงินใน 41 ประเทศทั่วโลก ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ประเทศไทยเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 โดยมีกิจกรรมการดำเนินงาน อาทิ การประเมินค่าใช้จ่ายและช่องว่างการดำเนินงานตามแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดทำแผนการเงินด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อการท่องเที่ยวยั่งยืนในพื้นที่เกาะเต่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 ซึ่งจะสิ้นสุดในปี พ.ศ. 2568

#ForNature #COP15
#Biodiversity
#EcologicalCivilization
#ThailandForNature
#UNDPThailand

COP15ข่าวประชาสัมพันธ์