ร่วมปิดฉากการประชุม CBD COP 15 ช่วงที่ 2 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา รับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล

สผ. ร่วมปิดฉากการประชุม CBD COP 15 ช่วงที่ 2 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา รับรองกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก

มื่อวันที่ 18 – 19 ธันวาคม 2565 ณ นครมอนทรีออล ประเทศแคนาดา สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) โดยกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เข้าร่วมพิธีปิดการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 2 (CBD COP 15) โดยเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565 เวลา 03.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) ที่ประชุมฯ เห็นชอบร่างกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก หลังปี ค.ศ. 2020 ซึ่งได้มีการเจรจาต่อรองมานานกว่า 4 ปี โดยใช้ชื่อว่า กรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ซึ่งประกอบด้วย 4 เป้าประสงค์หลัก ได้แก่ (A) ดำรงรักษา ฟื้นฟูระบบนิเวศ และเพิ่มพื้นที่คุ้มครองหรือพื้นที่ที่มีมาตรการดูแลความหลากหลายทางชีวภาพอย่างมีประสิทธิภาพ (B) ใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพและและระบบนิเวศอย่างยั่งยืนเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ (C) การแบ่งปันผลประโยชน์การใช้ทรัพยากรพันธุกรรมและการใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องทั้งในรูปแบบตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน (D) การเพิ่มทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศภาคีจะใช้กรอบงานดังกล่าวเป็นแนวทางในการกำหนดเป้าหมายและแผนจัดการความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ โดยคำนึงถึงค่าเป้าหมายการหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถปฎิบัติได้จริง และการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการดำเนินงานดังกล่าวซึ่งประเทศไทย โดย สผ. ในฐานะหน่วยงานประสานกลางอนุสัญญาฯ มีภารกิจในการถ่ายทอดเป้าหมายระดับโลกตามกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออล ว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลกไปสู่เป้าหมายและแผนปฏิบัติการระดับชาติ โดยสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี BCG model และ SDGs และนโยบายลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ ซึ่งอยู่ระหว่างการยกร่างแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2566 – 2570 (ฉบับที่ 5) และป้าหมายระดับชาติ และอยู่ระหว่างการจัดทำร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. …. เพื่อให้ทุกภาคส่วนเร่งดำเนินการในการหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ มุ่งสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ การมีชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างผสานกลมกลืน และสมดุล ภายในปี ค.ศ. 2050 โดย “ประชาชนเห็นถึงคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด ดำรงรักษาบริการจากระบบนิเวศ เพื่อโลกที่อุดมสมบูรณ์ และสร้างประโยชน์แก่ประชาชนอย่างยั่งยืน”

#ForNature #COP15
#Biodiversity
#EcologicalCivilization
#ThailandForNature
#UNDPThailand

COP15ข่าวประชาสัมพันธ์