ทีมวิจัยทางธรรมชาติวิทยาองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้ให้ความสนใจพื้นที่อุทยานธรณีสตูลและได้ดำเนินโครงการศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของแมลงภายใต้โครงการศึกษาความหลากหลายของพืชและสัตว์ในอุทยานธรณีสตูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึง พ.ศ. 2567 โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ซึ่งเป้าหมายของการศึกษานั้นอยู่ในบริเวณอุทยานธรณีสตูลและพื้นที่ติดต่อกันในบริเวณจังหวัดสตูลและตรัง กระทั่งในปี พ.ศ. 2565 นักวิจัยอพวช. ได้ค้นพบมดชนิดใหม่ของโลกในพื้นที่ศึกษา
“มดบากจีนใจ” มดชนิดใหม่ของโลกถูกค้นพบโดย นายทัศนัย จีนทอง และ ดร.วียะวัฒน์ ใจตรง นักวิชาการกองวิชาการสัตววิทยา สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. โดยพบมดชนิดใหม่นี้อาศัยอยู่ในกิ่งไม้แห้งที่ติดค้างอยู่กับลำต้นของไม้พุ่มในป่าละเมาะด้านนอกถ้ำอุไรทอง และบริเวณป่าข้างถนนใกล้คลองห้วยบ้า
อำเภอละงู จังหวัดสตูล ในวันที่ 21 เมษายน 2565 และได้ถูกตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vombisidris satunensis Jeenthong, Jaitrong & Tasen, 2023 ได้ถูกบรรยายลักษณะและตีพิมพ์ลงในวารสาร Tropical Natural History ฉบับที่ 23 (ปี พ.ศ. 2566) และมดชนิดใหม่ได้ถูกตั้งชื่อไทยว่า “มดบากจีนใจ” ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์
ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อเป็นที่ระลึกในพิธีเปิดนิทรรศการสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ New Species of Life เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2566
มดบากจีนใจ เป็นมดขนาดเล็ก มีความยาวลำตัว 2.64 มิลลิเมตร ส่วนหัวและลำตัวมีสีเหลือง ส่วนท้องสีน้ำตาลเข้ม ขาทั้งสามคู่สีเหลืองอ่อนกว่าลำตัว ส่วนหัวมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส พื้นผิวด้านหน้าของหัวเป็นลายตาข่าย ด้านข้างหัวมีลักษณะเป็นร่องแคบ 1 เส้น ยาวคาดจากส่วนท้ายหัวผ่านมาชิดขอบล่างตารวม
(compound eyes) และยาวไปถึงด้านข้างปาก (Subocular groove) และบริเวณส่วนอกซึ่งหลอมรวมกับท้องปล้องแรกมีหนาม (Propodeal spine) 1 คู่ มีลักษณะตรง หนา และสั้น ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญที่แตกต่างจากมดบากชนิดอื่น
การค้นพบมดชนิดใหม่ของโลกในอุทยานธรณีสตูลแสดงให้เห็นถึงความคงอยู่ของความหลากหลายและความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อุทยานธรณี ซึ่งนอกจากความสมบูรณ์ของการเป็นแหล่งทรัพยากรธรณีที่สำคัญของประเทศไทยและของโลกแล้วยังมีความสำคัญของการเป็นแหล่งทรัพยากรชีวภาพที่สำคัญ
ด้วยเช่นกันและการค้นพบนี้ช่วยเติมเต็มข้อมูลการศึกษาวิจัยและการจัดทำฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพของอุทยานธรณีสตูล นำไปสู่การวางแผนบริหารจัดการ
พื้นที่เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในอุทยานธรณีสตูลอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
สามารถศึกษาวิจัยเพิ่มเติมได้ที่ https://li01.tci-thaijo.org/index.php/tnh/article/view/257699
ขอขอบคุณแหล่งที่มา https://www.nsm.or.th/nsm/th/node/54375?fbclid=IwAR190-vp8BzsY2PK9deCiTMjxnNNFo8itN9n0Zj20Jklhh5rEa5dvkxPDzU