โครงการศึกษาและประเมินสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย (2563)

รายละเอียดโครงการ

  • ที่มาความสำคัญ
    ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง แต่ก็ถูกทำลายไปมาก แรงขับเคลื่อนที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว คือการมุ่งพัฒนาประเทศโดยใช้ทรัพยากรเกินศักยภาพ ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากร การขยายตัวของเมือง ทำให้เกิดปัญหาและผลกระทบหลายประการจากการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้ การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การลักลอบตัดไม้ รวมถึง ภัยคุกคามที่ยังคงมีอยู่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งภาวะมลพิษ การรุกรานของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น และในฐานะหน่วยประสานงานกลางระดับชาติ ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ จึงได้ดำเนินการติดตาม ตรวจสอบสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีการดำเนินการศึกษาและประเมินสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ครอบคลุมทุกประเด็นในภาพรวมของประเทศ ดังนั้น ในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓ สำนักงานนโยบายฯ จึงได้ดำเนินการศึกษาและประเมินสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพที่ครอบคลุมประเด็นสำคัญในภาพรวมของประเทศ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญเป็นลำดับแรกในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ จากการศึกษาจะทำให้มีข้อมูลสถานภาพปัจจุบันของความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งระบบนิเวศ ชนิดพันธุ์ และพันธุกรรม รวมถึง ชนิดพันธุ์ที่มีศักยภาพและประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และครอบคลุมประเด็นสถานการณ์และภัยคุกคามที่เป็นสาเหตุการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยผลการศึกษาจะได้ข้อมูลสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศที่เป็นปัจจุบัน สามารถนำไปใช้ประโยชน์เป็นข้อมูลในการจัดทำเครื่องมือทางนโยบายทางการบริหาร รวมถึง จัดทำ ปรับปรุงแผน มาตรการ กลไกในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งนำไปสู่ผลลัพธ์การดำเนินงานที่ตอบสนองการบรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ
  • วัตถุประสงค์
    ๑) เพื่อศึกษาและประเมินสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวมของประเทศ และ ประเด็นสถานการณ์ ภัยคุกคามด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลในการจัดทำนโยบายและแผน รวมถึงใช้เป็นข้อมูลประกอบในการปรับปรุงกลไก มาตรการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู และติดตามการเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศ บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
    ๒) เพื่อคาดการณ์สถานการณ์และแนวโน้มด้านการเปลี่ยนแปลงความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพที่สามารถนำไปใช้ในการจัดทำแผนบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ
  • ผลผลิตของโครงการ
    ๑) ได้ข้อมูลสถานภาพและสถานการณ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวมของประเทศไทย
    ๒) ได้ข้อเสนอแนะแนวทางในการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาจัดทำแผนบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ
  • ความร่วมมือ
    มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย(TEI)
  • พื้นที่ศึกษา
    ทั่วประเทศไทย
  • ระยะเวลาดำเนินโครงการ
    ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๓
  • E-Mail/เว็บไซต์โครงการ