โครงการศึกษาจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดี และตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพในภาคการเกษตร (2564)

รายละเอียดโครงการ

  • ที่มาความสำคัญ
    ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญของการเกษตร ส่งผลถึงความมั่นคงทางอาหาร ลดปัญหาความยากจน และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี นอกจากนี้ยังช่วยสนับสนุนบริการจากระบบนิเวศที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มประชากร พฤติกรรมการบริโภค การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การขยายพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะการเกษตรที่มุ่งเน้นการเพิ่มผลผลิตโดยส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวล้วนส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพและการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศจากการเกษตรเป็นประเด็นหนึ่งที่ประชาคมโลกและภูมิภาคอาเซียนกังวล เนื่องจากภูมิภาคอาเซียนมีผลผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะข้าวเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยที่ผ่านมาประเทศไทยมีแนวทางการทำเกษตรที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพที่ส่งผลต่อการทำการเกษตรยั่งยืน โดยเฉพาะในการทำนาข้าว ทำให้การทำเกษตรส่วนใหญ่ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้นในปี ๒๕๖๔ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยประสานงานกลางของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ จึงดำเนินการศึกษาจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดีและตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพในภาคการเกษตร ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานในพื้นที่นาข้าว ซึ่งเป็นผลผลิตหลักทางการเกษตรของไทยและภูมิภาคอาเซียน เพื่อให้เกษตรกรและผู้บริโภคตระหนักถึงคุณค่า ร่วมกันอนุรักษ์ และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลิตผลการเกษตร เพิ่มความปลอดภัยทางด้านอาหาร และส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค นำไปสู่ผลลัพธ์การดำเนินงานที่ตอบสนองเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ สนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งเสริมการดำเนินงานตามมติสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ ๑๓ การบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพในภาคการเกษตร รวมถึงการดำเนินงานตามร่างยุทธศาสตร์อาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ค.ศ. ๒๐๑๖-๒๐๒๕ (ASEAN Strategic Plan on Environment 2016-2025: ASPEN 2016-2025)
    ทั้งนี้ ประเทศไทยได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกอาเซียนในการประชุมกรรมการบริหารศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ ๒๑ ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ให้เป็นประเทศผู้นำ (lead country) การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในภาคการเกษตร ภายใต้แผนปฏิบัติการคณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของร่างยุทธศาสตร์อาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ประเทศไทยต้องเร่งรัดการดำเนินโครงการศึกษาดังกล่าว เพื่อใช้เป็นแบบอย่างการดำเนินงานให้กับประเทศสมาชิกอาเซียน และเป็นตัวแทนการดำเนินงานของภูมิภาคอาเซียนในการรักษาสมดุลของการทำเกษตรกรรมไปพร้อมกับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งถือเป็นการแสดงบทบาทของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้นำในประเด็นดังกล่าว
  • วัตถุประสงค์
    ๑) เพื่อส่งเสริมการบูรณาการดำเนินงานระหว่างการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและเกษตรกรรม
    ๒) เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการทำการเกษตรโดยเฉพาะการทำนาข้าวที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการลดต้นทุนการผลิตและการส่งเสริมสุขภาพทั้งเกษตรกรและผู้บริโภค
    ๓)  เพื่อให้เกษตรกร ผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถติดตามและตรวจสอบการทำเกษตร โดยเฉพาะในพื้นที่นาข้าวที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ
    ๔)  เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรกรและผู้บริโภคที่ตระหนักถึงคุณค่าและร่วมกันอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศเกษตร
    ๕)  เพื่อเผยแพร่แนวทางปฏิบัติที่ดีและตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพในการทำเกษตรอย่างยั่งยืนให้เป็นตัวอย่างในระดับภูมิภาคอาเซียน
  • ผลผลิตของโครงการ
    ๑)  แนวทางปฏิบัติที่ดีในการทำนาข้าวที่สอดคล้องกับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ
    ๒)  ตัวชี้วัดความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศนาข้าว
  • ความร่วมมือ
    มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
  • พื้นที่ศึกษา
    – กรณีการผลิตข้าวอินทรีย์ ตำบลเจดีย์ อำเภออู่ทอง และตำบลมดแดง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี และตำบลสะแกโพรง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์
    – กรณีการผลิตข้าวระบบวนเกษตร ตำบลโนนแดง อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม
    – กรณีการผลิตข้าวแบบประณีต ตำบลท่าวุ้ง อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี
    – กรณีการผลิตข้าวตามมาตรฐานการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน ตำบลไผ่ดำพัฒนา อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง และตำบลทุ่งหลวง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด
    – การผลิตข้าวตามแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับข้าว ตำบลม่วงเตี้ย อำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง และตำบลนางลือ อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท
  • ระยะเวลาดำเนินโครงการ
    ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๔

    ดาวน์โหลดเอกสารฉบับภาษาไทย
    ดาวน์โหลดเอกสารฉบับภาษาอังกฤษ