นักวิจัย มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ค้นพบหอยหางดิ้นสีนิล: หอยทากบกชนิดใหม่ของโลก จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยได้ทำการศึกษาหอยทากบกที่พบในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ซึ่งหอยทากบกในพื้นที่ป่าชุมชน ป่าธรรมชาติ และป่าต่าง ๆ ในภาคอีสานยังคงมีความหลากหลาย และมีเรื่องที่น่าสนใจอีกมากมาย
หอยหางดิ้นสีนิลเป็นหอยทากบกที่อยู่ในช่วงกึ่งกลางวิวัฒนาการระหว่างหอยทากบกกับทากเปลือย เปลือกลดรูปลง มีแมนเทิลคลุมเปลือก เปลือกมีสีน้ำตาลถึงสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวมีสีดำเข้ม อาศัยอยู่ใต้ซากใบไม้ที่ทับถมกัน ตามซอกหิน ซึ่งหอยหางดิ้น (dancing snails) มีพฤติกรรมที่น่าสนใจ คือ ดิ้น และสะบัดหางหนีศัตรู ลักษณะเหมือนการเต้นรำ ไม่มีพิษ ข้อมูลจากการวิจัยนี้เป็นการเพิ่มพูนองค์ความรู้ทางด้านอนุกรมวิธาน นิเวศวิทยา และการกระจายทางภูมิศาสตร์ของหอยทากบกขนาดเล็ก ซึ่งใช้เป็นตัวอย่างในการสอนวิชาสังขวิทยา (Malacology) อนุกรมวิธาน (Taxonomy) และชีวภูมิศาสตร์ (Biogeography) ได้เป็นอย่างดี
วิธีการพัฒนาการอนุรักษ์พันธุ์ของหอยทากชนิดนี้ที่ดีที่สุดคือ ไม่ทำลายถิ่นอาศัย นั่นคือ ป่าไม้ที่เป็นที่อยู่ของหอยหางดิ้นสีนิล และส่งเสริมให้ความรู้กับชุมชน หรือนักเรียนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงว่าสิ่งมีชีวิตตัวนี้มีคุณค่ามาก ไม่พบที่อื่นเลยในโลก จะทำให้เป็นแหล่งที่ชุมชนเห็นความสำคัญได้ นอกจากนี้ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับกิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติต่าง ๆ เช่น การปลูกป่า การสร้างฝาย ฯลฯ ว่ากิจกรรมที่เหมือนจะช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติตามที่คนส่วนใหญ่เข้าใจนั้น แท้จริง คือ การแทรกแซงที่ธรรมชาติที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์และพืชท้องถิ่นขนาดเล็กมากมายมหาศาล อีกทั้งการทำทางเดินศึกษาธรรมชาติที่มีการถาง เผา และใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชทำให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงและเป็นการทำลายถิ่นอาศัยของสัตว์ขนาดเล็กจำนวนมากรวมถึงหอยหางดิ้นสีนิล
สามารถศึกษางานวิจัยเพิ่มเติมได้ที่
ㅤㅤ- Tumpeesuwan, S., Tanmuangpak, K. and Tumpeesuwan, C. (2023) New species of the dancing semislug cryptosemelus collinge, 1902 (eupulmonata, Ariophantidae) from Loei Province, northeastern Thailand with a key to genera of Mainland Southeast asian semislugs and a key to species of the genus, ZooKeys. Available at: https://zookeys.pensoft.net/article/103650/ (Accessed: 27 December 2023).
ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล เพจ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ㅤㅤ- https://www.facebook.com/science.msu/posts/pfbid02k7rtyxnBaMWnqUd2CkNfe62EXU
2xrhNyXY32ioxND528XprNukoGpfhpoy8txbEjl