ระบบนิเวศป่าไม้

 

ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ให้คำนิยาม “ป่าไม้” ว่าหมายถึง พื้นที่บนบกมากกว่า 0.5 เฮกแตร์ ที่ถูกปกคลุมด้วยเรือนยอดต้นไม้มากกว่าร้อยละ 10 ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ภายใต้การใช้ประโยชน์ทางการเกษตรหรือการใช้ประโยชน์ที่ดินอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ป่า ในกรณีของป่ารุ่นใหม่หรือพื้นที่ที่ต้นไม้ถูกยับยั้งการเจริญเติบโตโดยสภาพภูมิอากาศ ต้นไม้ควรมีความสูงถึง 5 เมตรในถิ่นที่อยู่อาศัย และมีคุณสมบัติตรงตามข้อกำหนดของการปกคลุมเรือนยอด

ป่าไม้ ตามคำนิยามของประเทศไทย

ป่าไม้ หมายถึง พื้นที่ปกคลุมของพืชพรรณที่สามารถจำแนกได้ว่าเป็นไม้ยืนต้น ปกคลุมเป็นผืนต่อเนื่องขนาดไม่น้อยกว่า 3.125 ไร่ และหมายรวมถึงทุ่งหญ้าและลานหินที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ที่ปรากฏล้อมรอบด้วยพื้นที่ที่จำแนกได้ว่าเป็นพื้นที่ป่าไม้ โดยไม่รวมถึงสวนยูคาลิปตัส หรือพื้นที่ที่มีต้นไม้ แต่ประเมินได้ว่าผลผลิตหลักของการดำเนินการไม่ใช่เนื้อไม้ ได้แก่ พื้นที่วนเกษตร สวนผลไม้ สวนยางพารา และ สวนปาล์ม

ป่าในประเทศไทยสามารถจำแนกได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ป่าไม่ผลัดใบ (Evergreen forest) และป่าผลัดใบ (Deciduous forest)

ป่าไม่ผลัดใบ เป็นป่าที่มีเรือนยอดเขียวชอุ่มตลอดปีเนื่องจากต้นไม้เกือบทั้งหมดที่ขึ้นอยู่เป็นประเภทไม่ผลัดใบ จำแนกออกเป็นชนิดใหญ่ ๆ ได้ 4 ชนิด ได้แก่

ป่าดิบเขตร้อน (Tropical evergreen forest) ประกอบด้วย

  • ป่าดิบชื้น (Tropical rain forest) พบตามภาคตะวันออกเฉียงใต้และภาคใต้ของประเทศ ที่มีระดับสูงตั้งแต่ระดับเดียวกันกับน้ำทะเลจนถึงระดับ 100 เมตร
    มีปริมาณน้ำฝนตกไม่น้อยกว่า 2,500 มิลลิเมตร ต่อปี
  • ป่าดิบแล้ง (Dry evergreen forest) พบอยู่ทั่วไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ
    ตามบริเวณที่ราบและหุบเขา ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100-500 เมตร มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,000-2,000 มิลลิเมตร ต่อปี
  • ป่าดิบเขา (Hill evergreen forest) พบอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 1,000 เมตรขึ้นไปที่มีกระจัดกระจายอยู่ตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,500-2,000 มิลลิเมตร ต่อปี

ป่าสน (Coniferous forest) พบการกระจายเป็นหย่อม ๆ ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200-1,600 เมตร (ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สูงประมาณ 30 เมตร) ปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,000-1,500 มิลลิเมตร

ป่าพรุหรือป่าบึง (Swamp forest) ประกอบด้วย

  • ป่าพรุ (Fresh-water swamp forest) เป็นป่าที่มีน้ำท่วมขังในบางช่วงหรือขังตลอดปี มักพบกระจายทั่วไปทุกภาค พบมากทางภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงใต้ และภาคใต้ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 10-500 เมตร
  • ป่าชายเลน (Mangrove forest) เป็นป่าที่น้ำทะเลท่วมถึง พบตามชายฝั่งที่เป็น
    แหล่งสะสมดินเลนทั่ว ๆ ไป อยู่ระดับเดียวกับน้ำทะเลเป็นส่วนใหญ่ ปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1,500-4,000 มิลลิเมตร ต่อปี

ป่าชายหาด (Beach forest) เป็นป่าที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลที่มีดินเป็นกรวดทรายและ
โขดหิน สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน ๕๐ เมตร มีไอเค็มกระจายถึง ปริมาณน้ำฝนใกล้เคียงกับป่าชายเลน

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับชนิดของป่าไม้ ได้แก่ ลมฟ้าอากาศ ชนิดของดินหิน ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และชีวปัจจัย สามารถแบ่งชนิดป่าไม่ผลัดใบของประเทศไทยเป็น 14 ชนิด  ได้แก่

  1. ป่าดิบชื้น (Tropical evergreen rain forest หรือ Tropical rain forest)
  2. ป่าดิบแล้ง (Seasonal rain forest หรือ Semi-evergreen forest หรือ Dry evergreen forest)
  3. ป่าดิบเขาต่ำ (Lower montane rain forest)
  4. ป่าไม้ก่อ (Lower montane oak forest)
  5. ป่าไม้ก่อ-ไม้สน (Lower montane pine-oak forest)
  6. ป่าไม้สนเขา (Lower montane coniferous forest)
  7. ป่าละเมาะเขาต่ำ (Lower montane scrub)
  8. ป่าดิบเขาสูงหรือป่าเมฆ (Upper montane rain forest หรือ Cloud forest)
  9. ป่าละเมาะเขาสูง (Upper montane scrub)
  10. แอ่งพรุภูเขา (Montane peat bog หรือ Sphagnum bog)
  11. ป่าชายเลนหรือป่าโกงกาง (Mangrove forest)
  12. ป่าพรุ (Peat swamp forest)
  13. ป่าบึงน้ำจืดหรือป่าบุ่ง-ทาม (Freshwater swamp forest)
  14. สังคมพืชชายหาด (Strand vegetation) ตามหาดทราย (Sand strand)
    และโขดหิน (Rock strand)

ป่าผลัดใบ เป็นป่าที่มีองค์ประกอบพืชพรรณเป็นพรรณไม้ผลัดใบ พบทั่วไปในทุกภาคยกเว้นภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงใต้ (จันทบุรี-ตราด) ป่าผลัดใบสามารถจำแนกเป็น 3 ชนิด ตามองค์ประกอบ
พืชพรรณ ดังนี้

  • ป่าเบญจพรรณหรือป่าผลัดใบผสม (Mixed deciduous forest) พบทั่ว ๆ ไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศที่เป็นที่ราบหรือตามเนินขาที่สูงจากระดับน้ำทะเลระหว่าง 50-600 เมตร ดินเป็นได้ตั้งแต่ดินเหนียว ดินร่วน จนถึงดินลูกรัง ปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 1,000 มิลลิเมตร ต่อปี
  • ป่าเต็งรัง ป่าแพะ ป่าแดง หรือป่าโคก (Deciduous dipterocarp forest หรือ Dry dipterocarp forest) พบทั่วไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศที่เป็นที่ราบหรือตามเนินเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100-600 เมตร ดินมักเป็นดินทรายและดินลูกรัง มีปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 1,000 มิลลิเมตร ต่อปี
  • ป่าหญ้า (Savanna forest) เป็นป่าที่เกิดภายหลังจากที่ป่าธรรมชาติอื่น ๆ ดังกล่าวข้างต้น ได้ถูกทำลายไปหมด ดินมีสภาพเสื่อมโทรมจนต้นไม้ไม่อาจขึ้นหรือเจริญงอกงามต่อไปได้ พวกหญ้าต่าง ๆ จึงขึ้นมาแทนที่ พบได้ทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออกของไทย

ในขณะที่ การแบ่งชนิดของป่าโดยพิจารณาจากสภาพภูมิประเทศ ลมฟ้าอากาศ และชีวปัจจัยตามธวัชชัย (2555) สามารถแบ่งชนิดของป่าผลัดใบ ได้ 3 ชนิด คือ

  1. ป่าเบญจพรรณ, ป่าผสมผลัดใบ (Mixed deciduous forest)
  2. ป่าเต็งรัง (Deciduous dipterocarp forest)
  3. ป่าเต็งรัง-ไม้สน (Pine-deciduous dipterocarp forest)

เมื่อพิจารณาการแบ่งชนิดของป่าไม้ตามที่กล่าวมาและการแบ่งระบบนิเวศตามประเด็นของภาคีสมัชชาอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พบว่าป่าไม้ไม่ผลัดใบในประเทศไทยมีความทับซ้อนกับระบบการเกษตร ภูเขา ทะเลและชายฝั่ง เกาะ และแหล่งน้ำในแผ่นดินด้วย ขณะที่ป่าไม้ผลัดใบบางส่วนมีความทับซ้อนกับระบบการเกษตร พื้นที่แห้งแล้งและกึ่งชื้น และภูเขาด้วยเช่นกัน

ใน พ.ศ. 2561-2562 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้จำนวน 102,484,072.71 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.68 ของพื้นที่ประเทศ โดยภาคเหนือพบพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด รองลงมา คือ ภาคตะวันตก ภาคใต้ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามลำดับ  ขณะที่จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ มีจำนวน 14 จังหวัด ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ 8 จังหวัดภาคตะวันตก 3 จังหวัด ภาคใต้ 2 จังหวัด และภาคกลาง 1 จังหวัด  จังหวัดที่มีพื้นที่ป่าไม้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (ร้อยละ 85.51) ตาก (ร้อยละ 71.98) ลำปาง (ร้อยละ 70.04) เชียงใหม่ (ร้อยละ 69.59) และแพร่ (ร้อยละ 64.84) ทั้งนี้มี 3 จังหวัด ที่ไม่พบพื้นที่ป่าไม้ ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และอ่างทอง