ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ

ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการลดลงของพื้นที่จัดว่ามีระดับของภัยคุกคามสูง นั่นคือระดับความรุนแรงสูงและมีขอบเขตความเสียหายมาก ได้แก่ การบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดิน การเกิดไฟป่าในป่าดงดิบหรือป่าที่ไม่เคยมีวิวัฒนาการร่วมกับไฟป่าตามธรรมชาติมาก่อน การทำเหมืองแร่ การทำถนนและสิ่งก่อสร้าง สิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ

ภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการสูญเสียหน้าที่ของระบบนิเวศที่มีระดับของภัยคุกคามสูง ได้แก่ การลักลอบล่าสัตว์ป่า และการเลี้ยงปศุสัตว์แบบปล่อย ขณะที่การทำไม้และการเก็บหาของป่า กิจกรรมนันทนาการ การขับรถวิบาก และการท่องเที่ยวที่ไม่เหมาะสม เป็นภัยคุกคามที่มีระดับความรุนแรง และขอบเขตความเสียหายในระดับปานกลาง

จากสถิติคดีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการป่าไม้ของกรมป่าไม้ ใน พ.ศ. 2562 พบว่า มีการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการเก็บหาของป่ามากที่สุด รวม 27,288 คดี รองลงมา ได้แก่ การทำไม้ 1,749 คดี การบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,749 คดี มีพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก รวม 34,491 ไร่ และการกระทำที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า 23 คดี เมื่อเปรียบเทียบการบุกรุกพื้นที่ป่า ใน พ.ศ. 2561 ที่มีจำนวนคดีบุกรุกเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,519 คดี พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก 33,783.57 ไร่ จำนวนคดีบุกรุกเขตพื้นที่ป่าในความรับผิดชอบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 1,519 คดี พื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุก 21,839.40 ไร่ จะเห็นว่า จำนวนคดีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการบุกรุกป่าไม้ ใน พ.ศ. 2562 มีเพิ่มมากขึ้น และพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน

ขณะที่สถิติไฟป่าในพื้นที่ความรับผิดชอบของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นับตั้งแต่ พ.ศ. 2552 ถึง พ.ศ. 2562 มีแนวโน้มรุนแรงและเกิดความเสียหายต่อพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะนับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา ซึ่งสาเหตุของการเกิดไฟป่าส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ขณะเดียวกันปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็ส่งผลกระทบให้ปัญหาไฟป่ามีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน

นอกจากนี้ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นอีกภัยคุกคามหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าไม้ จากการศึกษาการประเมินผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อพืช 22 ชนิด ในพื้นที่ป่าภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงทศวรรษที่ 2050 พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ส่งผลต่อจำนวนสายพันธุ์ของพืชอย่างมีนัยสำคัญ แต่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงพื้นที่ คือ การกระจายตัวของสายพันธุ์ต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงไป และมีอัตราการหมุนเวียนสูง ในจำนวนพืช 22 ชนิด มีพืช 10 ชนิด ได้แก่ มะค่าโมง (Afzelia xylocarpa) มะม่วงป่า (Mangifera spp.) สัก (Tectona grandis) สมพง (Tetrameles nudiflor) เหียง (Dipterocarpus obtusifolius) ซ้อ (Gmelina arborea) พลวง (Diptercarpus tuberculatus) ยมหิน (Chukrasia spp.) เต็ง (Shorea obtusa) และประดู่ (Pterocarpus macrocarpus) ที่จะสูญเสียสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่เหมาะสม ส่วนอีก 12 ชนิดที่เหลือ เช่น พะยูง (Dalbergia cochinchinnensis) ตะเคียน (Hopea odorata) สนสองใบ (Pinus merkusii) เป็นต้น โดยไม้ไม่ผลัดใบ มีแนวโน้มจะมีพื้นที่ที่เหมาะสมเพิ่มขึ้นมากกว่าไม้ผลัดใบ และจะมีการขยายแหล่งกระจายพันธุ์ (distribution range) ซึ่งคาดว่าการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณตะวันตกและบริเวณตอนบนของภาคเหนือ ขณะที่การศึกษาผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อพืชในป่าภาคใต้ของประเทศไทย พบว่า มีพืช 20 ชนิดที่จะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่เหมาะสม เหลือน้อยกว่าร้อยละ 10 โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชตระกูลยาง (Dipterocarpus spp.) จะมีสภาพแวดล้อม ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตที่เหมาะสมเหลือน้อยกว่าร้อยละ 1

การดำเนินงานที่ผ่านมา

การดำเนินการเพื่อคุ้มครองระบบนิเวศป่าไม้ในระดับชาติอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งรับผิดชอบดูแลป่าไม้และสัตว์ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติ (จำนวน 130 แห่ง) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (จำนวน 60 แห่ง) เขตห้ามล่าสัตว์ป่า (จำนวน 58 แห่ง) วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ ขณะที่กรมป่าไม้ทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลรักษาป่าไม้ในเขตพื้นที่ป่าสงวน ส่งเสริมการปลูกป่าเพิ่มเติม ส่งเสริมการปลูกป่าเพื่อเศรษฐกิจ ตลอดจนส่งเสริมให้ชุมชนโดยรอบป่ามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนในรูปแบบป่าชุมชนด้วย โดยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าชุมชนใน พ.ศ. 25626 นับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2543-2562 ประเทศไทยมีชุมชนที่จัดตั้งป่าชุมชนทั้งหมด 17,442 หมู่บ้าน มีป่าชุมชนครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 7,634,925 ไร่ 2 งาน 41 ตารางวา

ใน พ.ศ. 2557 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” เพื่อเรียกคืนป่าไม้ของประเทศไทยที่ถูกบุกรุกแผ้วถาง แก้ไขปัญหานายทุนบุกรุกป่า การบุกรุกขยายพื้นที่เพื่อทำการเกษตรแบบพันธสัญญา และการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ โดยมีเป้าหมายในการทวงคืนผืนป่าในปีงบประมาณ 2561 ให้ได้ 140,000 ไร่ ผลการดำเนินงานในภาพรวมของกรมป่าไม้ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นไปตามเป้าหมาย ขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินงานได้ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย เนื่องจากต้องดำเนินการตรวจสอบสิทธิ์ผู้บุกรุกพื้นที่ป่าว่าเข้าข่ายเป็นผู้ยากไร้/ผู้มีรายได้น้อย/ไร้ที่ทำกิน ให้แล้วเสร็จก่อน
จึงจะดำเนินคดีตามกฎหมายได้

สืบเนื่องจากนโยบายทวงคืนผืนป่า รัฐบาลยังมีนโยบายการจัดสรรที่ดินให้แก่ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน จึงมีการดำเนินโครงการ “การจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน” โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการเปลี่ยนสถานภาพจากการเป็นผู้บุกรุกที่ดินของรัฐโดยเฉพาะในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ให้เป็นผู้อยู่อาศัยทำกินในที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย สร้างความมั่นคงในการถือครองที่ดิน นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ จากหน่วยงานภาครัฐ ทั้งปัจจัยการผลิตประเภทเมล็ดพันธุ์พืช สารปรับปรุงบำรุงดิน รวมทั้งการส่งเสริมพัฒนาอาชีพในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2558-2561 มีการดำเนินการจัดหาและจัดที่ดินให้ประชาชนไปแล้ว จำนวน 265 พื้นที่ 61 จังหวัด 45,329 ราย (คิดเป็นร้อยละ 73) 57,153 แปลง เนื้อที่ประมาณ 321,481 ไร่ จากการประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการดังกล่าว พบว่า โครงการนี้เป็นประโยชน์โดยตรงต่อชุมชนในพื้นที่ห่างไกล และตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลในด้านการป้องกันการบุกรุกพื้นที่ป่า และการแก้ไขปัญหาความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ

ในส่วนของการจัดการในระดับนานาชาติได้แก่ การขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และกลุ่มป่าแก่งกระจาน ซึ่งประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติกุยบุรี อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี เป็นอุทยานมรดกแห่งอาเซียน การขึ้นทะเบียนป่าสงวนแห่งชาติแม่งาว จังหวัดลำปาง เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าไม้สักห้วยทาก การขึ้นทะเบียนอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และพื้นที่โครงการพัฒนาลุ่มแม่น้ำสา อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่สงวน
ชีวมณฑลคอกม้า-แม่สา และการขึ้นทะเบียนป่าสงวนสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช นอกจากนี้ยังมีการขึ้นทะเบียนพื้นที่ป่าของประเทศไทยเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติอีก 2 แห่ง ได้แก่ มรดกโลกทางธรรมชาติเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ซึ่งประกอบไปด้วย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และมรดกโลกทางธรรมชาติกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ซึ่งประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่

ใน พ.ศ. 2559 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ในระดับนานาชาติได้ร่วมกันกำหนดเกณฑ์เพื่อจัดจำแนกระบบนิเวศทั่วโลกทั้งระบบนิเวศบก น้ำจืด และทะเล ที่มีความสำคัญต่อการคงอยู่ของความหลากหลายทางชีวภาพในชื่อ Key Biodiversity Areas (KBA) หรือพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลาย ทางชีวภาพ โดยอาศัยข้อมูลหลักจากพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก (Important Bird Areas, IBAs) ซึ่งเป็นฐานข้อมูลจาก The BirdLife International และ Alliance for Zero Extinction Sites ซึ่งจัดทำโดย
The Alliance for Zero Extinction จุดมุ่งหมายของการจัดทำพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพคือ เพื่อช่วยแต่ละประเทศในการจัดลำดับความสำคัญในการจัดตั้งหรือขยายพื้นที่คุ้มครอง ตลอดจนการกำหนดมาตรการอนุรักษ์เชิงพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ (IUCN, 2016) สำหรับประเทศไทยมีระบบนิเวศที่อยู่ในฐานข้อมูลพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งหมด 121 แห่ง ทั้งนี้ มีพื้นที่พื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ จำนวน 24 แห่ง ที่ปรากฏชื่ออยู่ทั้งในบัญชีรายชื่อพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก และพื้นที่ที่มีความสำคัญยิ่งด้านความหลากหลายของพืช (Important Plant Area, IPA) ขณะที่บางพื้นที่ เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญยิ่งด้านความหลากหลายของพืช แต่ไม่อยู่ในบัญชีพื้นที่สำคัญเพื่อการอนุรักษ์นก

จากการวิเคราะห์ข้อมูลรายงานการพบชนิดพันธุ์สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ทั้งที่เป็นข้อมูลตีพิมพ์และข้อมูลที่ไม่ได้ตีพิมพ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ถึง 2559 โดย Tantipisanuh & Gale (2018) พบว่า พื้นที่คุ้มครองของประเทศไทยจำนวน 22 แห่ง (อุทยานแห่งชาติ 11 แห่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 9 แห่ง เขตห้ามล่าสัตว์ป่า 1 แห่ง และพื้นที่สงวนชีวมณฑล 1 แห่ง) และพื้นที่ที่ไม่อยู่ในระบบพื้นที่คุ้มครองอีก 3 แห่ง ได้แก่ ตำบลแหลมผักเบี้ย ตำบลปากทะเล และตำบลกระบี่ใหญ่ จัดเป็นพื้นที่วิกฤติทางความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity Hotspot) พื้นที่ที่มีจำนวนชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามมากที่สุด ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา (86 ชนิด) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (84 ชนิด) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (66 ชนิด) ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาซึ่งมีขนาดพื้นที่น้อยกว่าพื้นที่คุ้มครองทั้ง 3 แห่ง ข้างต้นมาก แต่กลับพบจำนวนชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคามมากที่สุดนอกจากการดำเนินของภาครัฐ การดูแลรักษาระบบนิเวศป่าไม้ในประเทศไทยยังได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากภาคเอกชนหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร เช่น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร มูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF-Thailand) สมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย เป็นต้น