พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Cartagena protocol on biosafety)
ความเป็นมา
มาตรา 19 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพขอให้พิจารณาถึงความจำเป็นที่จะต้องมีพิธีสารเพื่อกำหนดระเบียบวิธีการที่เหมาะสมในการขนย้าย
การควบคุมดูแล และการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม (Living Modified Organisms: LMOs) ที่เป็นผลมาจากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ หลังจาก
การเจรจาต่อรองเป็นหลายปี พิธีสารคาร์ตาเฮนาฯ ได้รับการรับรอง และมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2546
พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ เป็นเครื่องมือระหว่างประเทศที่มีพันธะผูกพัน (binding international instrument) มีลักษณะที่แยกส่วนแต่สัมพันธ์กับความตกลง อนุสัญญา และสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ซึ่งลักษณะของการแยกส่วนนี้ ทำให้มีภาคีสิทธิ และข้อกำหนดเป็นของตัวเอง และต้องมีการเจรจา
ลงนามให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติและมีผลบังคับใช้โดยเฉพาะในตัวเองเช่นกันโดยมีผลผูกพันเฉพาะกับประเทศที่เป็นภาคีเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับประเทศภาคี จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในพิธีสารด้วย
กลไกที่สนับสนุนการดำเนินงานตามพิธีสาร ได้แก่ การประชุมสมัชชาภาคีพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพตามอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (COP-MOP) โดยปกติจัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี คู่ขนานไปพร้อมกันกับการประชุมสมัชชาภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
วัตถุประสงค์
กำหนดตามแนวทางระมัดระวังล่วงหน้า (precautionary approach) ตามที่ระบุไว้ในหลักการข้อ 15 ของปฏิญญาริโอ เดอจาเนโร สาธารณรัฐบราซิล ปี พ.ศ. 2535 ดังนี้
- ให้มีระดับการป้องกันที่เพียงพอในการเคลื่อนย้าย ดูแล และใช้ประโยชน์สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ที่อาจมีผลกระทบต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืนให้เป็นไปอย่างปลอดภัย •
- คำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขอนามัยของมนุษย์
- ให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเคลื่อนย้ายข้ามแดน (transboundary movement)
สาระสำคัญ
พิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตที่ได้รับการดัดแปลงพันธุกรรม ประกอบด้วย 40 มาตรา แบ่งออกเป็นส่วนหลักๆ ได้ 9 ส่วน คือ วัตถุประสงค์ (objective), ขอบเขต (scope), วิธีการดำเนินการ, การประเมินความเสี่ยง (risk assessment) และการจัดการความเสี่ยง (risk management), ข้อมูลและสิ่งพึงปฏิบัติต่างๆ, การเสริมสร้างขีดความสามารถ, เรื่องทั่วๆ ไป,การกำหนดการบริหารต่างๆ และมาตราขมวดท้าย (final clause) รวมถึงข้อมูลที่ต้องระบุในการแจ้งภายใต้มาตรา 8,10 และ 13, ข้อมูลสำหรับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ได้รับการดัดแปลงทางพันธุกรรม ซึ่งมีเจตนาเพื่อนำมาใช้โดยตรงเป็นอาหาร อาหารสัตว์หรือในขบวนการผลิตภายใต้ มาตรา 11 และการประเมินความเสี่ยงภายใต้มาตรา 15
พิธีสารให้ความสำคัญกับการควบคุมดูแลและการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อาจมีผลกระทบเสียหายต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดน โดยพิธีสารอ้างอิง แนวทางระมัดระวังล่วงหน้า นอกจากนี้ ยังได้กำหนดระเบียบวิธีการสำหรับความตกลงที่ได้แจ้งล่วงหน้า (advance informed agreement – AIA) เพื่อให้หลักประกันว่าประเทศต่าง ๆ จะได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร และได้รับข้อมูลข่าวสารเพียงพอที่จะตัดสินใจก่อนให้ความเห็นชอบกับการนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม การนำสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมข้ามเขตแดนเพื่อใช้เป็นอาหาร อาหารสัตว์ หรือการผลิต/การแปรรูปใด ๆ นอกจากนี้ พิธีสารยังระบุถึงกลไกในการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยงจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม และกำหนดกรอบกฎหมายระหว่างประเทศที่รวมถึงมาตรการในการดูแลให้มีการตัดสินใจที่ได้รับแจ้งข้อมูล (informed decision) ก่อนที่จะมีการนำเข้าสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม
ดาวน์โหลดพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ