คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ AWGNCB จัดตั้งขึ้นตามความเห็นของผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ปัญหาอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ปัจจุบัน AWGNCB จึงเป็นเวทีประสานความร่วมมือทางด้านวิชาการระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน หน่วยงานพันธมิตร อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และความตกลงภายใต้สหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง การประชุมครั้งแรกเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 โดยมีสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat) เป็นฝ่ายเลขานุการฯ และปัจจุบันศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB) ร่วมเป็นฝ่ายเลขานุการฯ ด้วย
AWGNCB มีหน้าที่ในการทบทวนและติดตามความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียน ในการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายชีวภาพ และพิจารณากิจกรรมที่จะดำเนินการร่วมกันในอนาคต ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะ AWGNCB ได้มีการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่
- การเสนอพื้นที่คุ้มครองเป็นอุทยานมรดกอาเซียน ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช (อส.) ในฐานะกรรมการอุทยานมรดกอาเซียน (AHP Committee) และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง (AWGCE)
- การติดตามการดำเนินโครงการด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพภายใต้กรอบอาเซียนที่ประเทศไทยร่วมดำเนินงานกับประเทศสมาชิกอาเซียน อาทิ โครงการ Biodiversity Conservation and Management of Protected Areas in ASEAN (BCAMP), โครงการ Institutional Strengthening (ISB), โครงการ Improving Biodiversity Conservation of Wetlands and Migratory Waterbirds in the ASEAN Region (JAIF) และ โครงการ Effectively Managing Ecological Networks of Marine Protected Areas in Large Marine Ecosystems in the ASEAN Region (ASEAN ENMAPS)
- การผลักดันความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นกระแสหลัก (mainstreaming biodiversity) ในภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตรซึ่งประเทศไทยได้รับเกียรติจากประเทศสมาชิกอาเซียนให้เป็นผู้นำในการดำเนินงานด้านการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้าสู่ภาคการเกษตร
- การยกร่างแถลงการร่วมอาเซียนสำหรับการประชุมสมัชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ