ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ
สัตว์ผู้ล่า เช่น เสือปลา (Prionailurus viverrinus) นากชนิดต่าง ๆ (Lutra spp.) และจระเข้น้ำจืด (Crocodylus siamensis) มีบทบาทสำคัญในโซ่อาหารของระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดินในฐานะผู้ควบคุมประชากรของสัตว์ที่เป็นเยื่อชนิดอื่น ๆ และสัตว์เหล่านี้บางชนิดก็ถูกล่าเนื่องจากความขัดแย้งกับคนท้องถิ่น ตลอดจนได้รับผลกระทบจากถิ่นอาศัยถูกทำลาย ทำให้ประชากรลดจำนวนลง จึงควรต้องให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ในลำดับต้น ๆ
นอกจากนี้ เราสามารถใช้กลุ่มนกน้ำและนกที่มีการดำรงชีวิตสัมพันธ์กับพื้นที่ชุ่มน้ำมาประเมินความสมบูรณ์ของระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดิน เช่นเดียวกับการใช้สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ในน้ำเป็นดัชนีตรวจประเมินคุณภาพของน้ำในแหล่งน้ำได้
ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญในการนำมาใช้ประโยชน์
- อาหาร เช่น ปลาช่อน (Channa striata) ปลาหมอไทย (Anabas testudineus) ปลาสลาด (Notopterus notopterus) ปลาไหลนา (Monopterus albus) และปลาสร้อยนกเขา (Osteochilus hasselti) เทา (สาหร่ายน้ำจืด) (Spirogyra sp.) ผักกูด (Diplazium esculentum) ผักหนาม (Lasia spinosa)
- สมุนไพร เช่น ขลู่ (Pluchea indica) เหงือกปลาหมอดอกขาว (Acanthus ebracteatus) เสม็ดขาว (Melaleuca cajuputi)
- เครื่องใช้ เช่น กระจูด (Lepironia articalata) กก (Cyperus spp.) ผักตบชวา (Eichhornia crassipes)
ปลาสวยงาม เช่น ปลาหัวตะกั่ว (Aplocheilus panchax) ปลาแปปหางดอก (Parachela maculicauda) ปลาซิวควาย (Rasbora argyrotaenia) ปลาแก้มช้ำ (Systomus rubripinnis) ปลาปักเป้าดำ (Pao cochinchinensis) โดยเฉพาะ ปลากัดไทย (Betta splendens) ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็นสัตว์น้ำประจำชาติ เพราะมีความสำคัญด้านวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ มีชื่อที่บ่งบอกเอกลักษณ์ความเป็นไทย และลักษณะรูปร่างที่มีความสวยงามสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมาก