ระบบนิเวศการผลิตพืช

ระบบนิเวศการผลิตพืช มีระบบการผลิตหลัก คือ การปลูกพืช (Cropping System) (ซึ่งเป็นวิธีการที่เกษตรกรสามารถเพิ่มผลผลิตและรายได้ของตนในพื้นที่ ๆ มีอยู่ หมายถึง การปลูกพืชให้มากครั้ง ในพื้นที่ที่กำหนดในระยะเวลาที่กำหนดให้ เช่น 1 ปี เป็นต้น ระบบการปลูกพืชนี้ต้องมีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่มีอยู่ และสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนก่อให้เกิดรายได้และผลิตผลสูงกว่าการปลูกพืชดั้งเดิมที่เกษตรกรเคยปฏิบัติอยู่ ซึ่งระบบการปลูกพืชมีประโยชน์ ในแง่ของการควบคุมศัตรูพืช และในด้านอนุรักษ์ความสมบูรณ์ของดิน ซึ่งการปลูกพืช แบ่งได้เป็น 3 ระบบ ดังนี้

  1. ระบบไร่หมุนเวียน อยู่ตามภูเขาสูง มีการเคลื่อนที่ของเกษตรกรไปเรื่อย ๆ
  2. ระบบเกษตรน้ำฝน อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว การผันแปรของน้ำฝนอาจทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไป ปัจจุบันมีพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมส่วนใหญ่ของประเทศ
  3. ระบบเกษตรชลประทาน เป็นระบบที่มีการพัฒนาแล้ว ให้ผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบอื่นและเกษตรกรมีฐานะดี มีการจัดหาน้ำให้และให้ผลผลิตสูง

การผลิตพืชตามประเภทพืช

  • พืชไร่ หมายถึง กลุ่มพืชที่มีลักษณะต้องการน้ำน้อย ทนความแห้งแล้งสูง ไม่ต้องการ ความพิถีพิถันในการปลูก และการดูแลรักษา มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้นที่เก็บเกี่ยวผลผลิต เพียงครั้งเดียว เป็นทั้งพืชล้มลุกปีเดียวหรือนานหลายปี มักปลูกในพื้นที่มากเป็นแปลง
    ขนาดใหญ่ ทั้งนี้ มีกลุ่มพืชไร่บางสายพันธุ์ที่ปลูกในพื้นที่ลุ่ม และต้องการน้ำมาก เช่น ข้าว ตัวอย่างพืชไร่ที่นิยมปลูก ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด ถั่วลิสง เป็นต้น

การปลูกข้าวและการดูแลรักษาต้นข้าวในนา ตั้งแต่ปลูกไปจนถึงเก็บเกี่ยวในประเทศไทยพื้นฐานของการทำนาและตัวกำหนดวิธีการปลูกข้าว และพันธุ์ข้าวที่จะใช้ในการทำนามีปัจจัยหลัก 2 ประการคือ (1) สภาพพื้นที่ (ลักษณะเป็นพื้นที่สูงหรือต่ำ) และภูมิอากาศ (2) สภาพน้ำสำหรับการทำนา หลักสำคัญของการทำนา ฤดูทำนาปีในประเทศไทยปกติจะเริ่มราวเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคมของทุกปี ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำฝน เมื่อสามเดือนนี้ผ่านไป ข้าวที่ปักดำหรือหว่านเอาไว้จะสุกงอมเต็มที่พร้อมเก็บเกี่ยว ส่วนนาปรังสามารถทำได้ตลอดปี เพราะพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกเป็นพันธุ์ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง เมื่อข้าวเจริญเติบโตครบกำหนดอายุก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้

  • พืชสวน หมายถึง พืชที่ต้องดูแลอย่างพิถีพิถัน ต้องดูแลเอาใจใสอย่างใกล้ชิด มีขอบเขต ในการปลูกที่แน่นอน ทั้งยังมีขั้นตอนและความประณีตในการปลูกมาก นับตั้งแต่การเพาะเมล็ด การเตรียมดิน การจัดระยะปลูก การให้ปุ๋ย ให้น้ำ พรวนดิน การป้องกันกำจัดศัตรูพืช และการเก็บเกี่ยว แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ (1) ไม้ผล (2) ไม้ดอก (3) ไม้ประดับ (4) ผัก และ (5) สมุนไพร

ทั้งนี้ องค์ประกอบของระบบนิเวศการผลิตพืช ประกอบด้วย พืชปลูก พืชตามธรรมชาติ วัชพืช ไม้ยืนต้น สัตว์ตามธรรมชาติ สัตว์ในดิน แมลงผสมเกสร แมลงศัตรูพืช จุลินทรีย์ในดิน และจุลินทรีย์ก่อโรค จึงจะถือว่าครบองค์ประกอบของระบบนิเวศอย่างสมบูรณ์

ลักษณะพื้นที่

ประเทศไทยมีเนื้อที่การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตร ประมาณ 149.25 ล้านไร่ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงการใช้เนื้อที่ทางการเกษตร ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า ใน พ.ศ. 2553 มีเนื้อที่การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตร ประมาณ 149.42 ล้านไร่ ซึ่งใน พ.ศ. 2554 มีเนื้อที่การใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรลดลงอยู่ที่ ประมาณ 149.25 ล้านไร่ และต่อจากนั้นมาในช่วง 9 ปีที่ผ่านมานี้ มีแนวโน้มการใช้ประโยชน์ที่ดินทางการเกษตรคงที่ ซึ่งพื้นที่ทางการเกษตรใน พ.ศ. 2562 ส่วนใหญ่มีลักษณะปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 63.86 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 60.92 ของพื้นที่ทั้งภูมิภาค ได้แก่ พื้นที่การปลูกข้าวและอ้อย เป็นต้น ประเภทและเนื้อที่การใช้ประโยชน์ทางการเกษตร พ.ศ. 2562 ของประเทศ โดยแบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 1) นาข้าว 2) พืชไร่ 3) สวนไม้ผล ไม้ยืนต้น 4) สวนผัก ไม้ดอก/ไม้ประดับ 5) อื่น ๆ ซึ่งมีพื้นที่นาข้าว ๖๘.๗๒ ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่พืชไร่ 30.74 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ พื้นที่สวนไม้ผล ไม้ยืนต้น 36.94 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคใต้ พื้นที่สวนผัก ไม้ดอก ไม้ประดับ 1.40 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและภาคกลาง และพื้นที่อื่น ๆ 11.36 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่อื่น ๆ ยังครอบคลุมเนื้อที่การใช้ประโยชน์ทางประมงและปศุสัตว์ของประเทศ

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศการผลิตพืช

ตามองค์ประกอบของระบบนิเวศการผลิตพืช และจากการสำรวจความหลากหลายของชนิดพืชเกษตรที่มีในระบบนิเวศเกษตรของประเทศไทย ภายใต้โครงการประเมินสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพ ในพื้นที่วิกฤติ ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งพบว่าทำการศึกษาเฉพาะในส่วนภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งยังขาดการสำรวจในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลการศึกษาในจังหวัดต่าง ๆ พบว่า มีจำนวนชนิดของพืชปลูกที่สำรวจพบจำนวนตั้งแต่ 94-180 ชนิด และแต่ละชนิดต่างมีความแตกต่างของสายพันธุ์ พบความหลากหลายของสัตว์ตามธรรมชาติในพื้นที่ได้ทั้ง 4 กลุ่ม (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และนก) มีจำนวนตั้งแต่ 82-229 ชนิด พบชนิดแมลงจำนวนตั้งแต่ 34-313 ชนิด และไม้ยืนต้นที่นิยมปลูก ซึ่งถือได้ว่าระบบนิเวศเกษตรมีความหลากหลายทางชีวภาพทางด้านชนิดพันธุ์สูงมาก

ไม้ยืนต้น

จากการสำรวจ พบว่า การสำรวจชนิดของไม้ยืนต้นมีข้อมูลน้อยมาก มีข้อมูลของจังหวัดทางภาคใต้ 4 จังหวัด กลุ่มภาคใต้ตอนล่าง จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดทางภาคเหนือ 2 จังหวัด ซึ่งสรุปข้อมูลจังหวัดที่มีการสำรวจชนิดพันธุ์ไม้ยืนต้น ดังนี้

  • จังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดพิษณุโลก พบประเภทไม้ป่ายืนต้น 21 ชนิด พบว่า ชนิดไม้ป่ายืนต้นที่พบ อาทิ กระถินเทพา ยูคาลิปตัส ไผ่ สัก ฯลฯ ส่วนใหญ่จะพบปลูกตามขอบแปลงไร่นา หรือเป็นรั้วรอบบ้าน
  • จังหวัดนครราชสีมา มีการศึกษาการใช้มาตรการวิธีพืชในสวนป่าไม้เศรษฐกิจโตเร็วเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ทำการทดลอง ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พบว่า การใช้มาตรการวิธีพืชด้วยการปลูกถั่วฮามาต้าเป็นพืชแซมร่วมกับการใช้น้ำหมักชีวภาพเป็นวิธีที่เหมาะสมต่อการอนุรักษ์ดินและน้ำและเพิ่มผลผลิตกระถินเทพา
  • จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา จังหวัดพัทลุง และจังหวัดสตูล นิยมปลูกไม้กฤษณา สะเดา และสะเดาเทียม

นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลความหลากหลายของสัตว์ป่า สัตว์ในดิน แมลงผสมเกสร จุลินทรีย์บำรุงดิน และศัตรูพืชต่าง ๆ ในระบบนิเวศการผลิตพืช สรุปได้ดังนี้

สัตว์ตามธรรมชาติ โดยการสำรวจความหลากหลายของชนิดพันธุ์สัตว์ตามธรรมชาติ ซึ่งพบความหลากหลายของสัตว์ป่าในพื้นที่ได้ทั้ง 4 กลุ่ม (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก และนก) มีจำนวนตั้งแต่ 82-229 ชนิด โดยพบสัตว์ป่าประเภทนกมากที่สุด พบชนิดแมลงจำนวนตั้งแต่ 34-313 ชนิด

แมลงผสมเกสร

จากการรวบรวมข้อมูลงานวิจัยเกี่ยวกับแมลงผสมเกสร พบการศึกษาชีววิทยาของผึ้ง Nomia ridleyi (Cockerell) และบทบาทการช่วยผสมเกสรชวนชม ซึ่งมีแมลงที่เข้าช่วยผสมเกสรชวนชมมี ๑๔ ชนิด เป็นผึ้งสกุลที่สำคัญ ได้แก่ Xylocopa, Amegilla, Ceratina และ Nomia และความหลากชนิดและพฤติกรรมหาอาหารของแมลงในการช่วยผสมเกสรดอกกฤษณาในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สำรวจระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกกฤษณาบาน พบแมลงทั้งสิ้น 86 ชนิด ใน 34 วงศ์ จาก 4 อันดับ ดังนี้ อันดับ Lepidoptera (ผีเสื้อ) พบจำนวน 46 ชนิด รองลงมาเป็นแมลงในอันดับ Hymenoptera (ผึ้ง ต่อแตน มด) จำนวน ๒๕ ชนิด อันดับ Diptera (แมลงวัน) จำนวน 8 ชนิด และอันดับ Coleoptera (ด้วง) จำนวน 7 ชนิด แนวโน้มของพฤติกรรมการหาอาหารในแต่ละช่วงเวลาของแมลง และความพร้อมรับเรณูของยอดเกสรเพศเมีย แสดงให้เห็นว่าแมลงที่มีความสำคัญในการช่วยผสมเกสรให้แก่กฤษณาสามารถจัดได้สองกลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแมลงที่หากินในช่วงกลางคืน ซึ่งเป็นกลุ่มแรก (first pollination) และกลุ่มแมลงที่หากินในช่วงกลางวันเป็นกลุ่มที่สอง (second pollination)

สัตว์ในดิน

จากการสำรวจสัตว์ในดินจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดพิษณุโลก โดยทั่วไปมีค่าใกล้เคียงกันอยู่ระหว่าง 7,760 ถึง 8,160 ตัวต่อตารางเมตร ยกเว้นความมากมายของสัตว์ในดินในไร่มะขามจะพบในปริมาณที่มากที่สุด คือ 21,440 ตัวต่อตารางเมตร กลุ่มสัตว์ในดินที่พบในไร่ข้าวโพด เป็นกลุ่มไรในดิน กลุ่มแมงป่องเทียม (Pseudoscorpions) และกลุ่ม pauropods ที่พบในปริมาณมาก ในสวนมะขามพบกลุ่มไรในดิน (Acari) กลุ่มแมลงปีกแข็ง (Beetles) กลุ่มแมลงหางดีด (Springtails) และกลุ่มมด (Ants) มีความมากมายค่อนข้างสูงกว่าพื้นที่อื่น จากการสำรวจครั้งนี้ สามารถสรุปได้ว่า ผลกระทบที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ต่อสัตว์ในดินในด้านความมากมายมีผลน้อย การปลูกพืชยืนต้นจะช่วยส่งเสริมการสร้างอาณาจักรของสัตว์ในดินได้ดีกว่าการปลูกพืชอายุสั้น

จุลินทรีย์บำรุงดิน

ปัจจุบันกรมพัฒนาที่ดินมีผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีการเผยแพร่ และส่งเสริมทั้งหมด 9ผลิตภัณฑ์ แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ตามวัตถุประสงค์ของการนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่

กลุ่มที่ 1 จุลินทรีย์ปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายวัสดุ เหลือใช้จากการเกษตร และอุตสาหกรรมแปรรูป ผลผลิตทางการเกษตรเพื่อ ผลิตปุ๋ยหมักในเวลารวดเร็วและมีคุณภาพสูงขึ้น ประกอบด้วยเชื้อราและแอคติโนมัยซีสที่ย่อยสารประกอบเซลลูโลสและแบคทีเรียที่ย่อยไขมัน สารเร่งซุปเปอร์ พด.2เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการย่อยสลายวัสดุการเกษตรในลักษณะสด อวบน้ำ หรือมีความชื้นสูง เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์น้ำ โดยดำเนินกิจกรรมทั้งในสภาพที่ ไม่มีอากาศและมีอากาศ ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 5 สายพันธุ์ ดังนี้ ยีสต์ (Pichia sp.) แบคทีเรียผลิตกรดแลคติด (Lactobacillus sp.) แบคทีเรียย่อยสลายโปรตีน (Bacillus sp.) แบคทีเรียย่อยสลายไขมัน (Bacillus sp.) และแบคทีเรียละลายอนินทรีย์ฟอสฟอรัส (Burkholderia sp.) จุลินทรีย์ซุปเปอร์ พด.9 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์เพิ่มความเป็นประโยชน์ของฟอสฟอรัสในดินเปรี้ยวน้อยซึ่งเป็นดินกรดกำมะถัน ที่มีความรุนแรงของกรดน้อย (pH ไม่ต่ำกว่า 5) ประกอบด้วย แบคทีเรีย Burkholderia sp. จุลินทรีย์สำหรับพืชปรับปรุงบำรุงดิน พด.11 เป็นผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการตรึงไนโตรเจนจากบรรยากาศ เพื่อเพิ่มมวลชีวภาพให้แก่พืชปรับปรุงบำรุงดิน โดยแบ่งออกเป็น จุลินทรีย์ พด.11 สำหรับโสนอัฟริกัน และจุลินทรีย์ พด.11 สำหรับปอเทือง เป็นเชื้อแบคทีเรียที่จัดอยู่ในสกุล Rhizobium เช่น Burkholderia sp. และปุ๋ยชีวภาพ พด.12 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างธาตุอาหาร หรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืชเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน และสร้างฮอร์โมนส่งเสริม การเจริญเติบโตของพืช ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ แบคทีเรียตรึงไนโตรเจน (Azotobacter sp.) แบคทีเรียละลายฟอสเฟต (Burkholderia sp.) แบคทีเรียละลายโพแทสเซียม (Bacillus sp.) และแบคทีเรียผลิตฮอร์โมนพืช (Azotobacter sp.)

กลุ่มที่ 2 จุลินทรีย์ควบคุมศัตรูพืช ได้แก่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.3 เป็นกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติควบคุมเชื้อสาเหตุ โรคพืชในดินโดยมีความสามารถป้องกันหรือยับยั้ง การเจริญของเชื้อโรคพืช ที่ทำให้เกิดอาการรากหรือโคนเน่า และแปรสภาพแร่ธาตุในดินบางชนิด ให้เป็นประโยชน์ต่อพืช ได้แก่ เชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma sp.) และเชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส (Bacillus sp.) และสารเร่งซุปเปอร์ พด.๗ เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักและย่อยสลายพืชสมุนไพรชนิดต่าง ๆ ในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อผลิตสารป้องกันแมลงศัตรูพืช ได้แก่ ยีสต์ (Saccharomyces sp.) แบคทีเรียผลิตกรดอะซิติก (Gluconobacter sp.) และแบคทีเรียผลิตกรดแลคติด (Lactobacillus sp.)

กลุ่มที่ 3 จุลินทรีย์รักษาสิ่งแวดล้อม ได้แก่ สารเร่ง พด.6 เป็นเชื้อจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติในการเพิ่มประสิทธิภาพการหมักเศษอาหารในสภาพที่ไม่มีออกซิเจน เพื่อผลิตสารสำหรับทำความสะอาดคอกสัตว์ บำบัดน้ำเสีย และลดกลิ่นเหม็นตามท่อระบายน้ำ ประกอบด้วยจุลินทรีย์ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ ยีสต์ผลิตแอลกอฮอล์ (Saccharomyces sp.) แบคทีเรียผลิตกรดแลคติด (Lactobacillus sp.) แบคทีเรียย่อยสลายโปรตีน (Bacillus sp.) แบคทีเรียย่อยสลายไขมัน (Bacillus sp.) และแบคทีเรียกำจัดลูกน้ำยุงรำคาญ (Bacillus sphaericus)

ศัตรูพืช

ตามบัญชีรายชื่อศัตรูพืช (Pest List) ของประเทศไทย ภายใต้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (๒๕๕๘) ได้รวบรวมข้อมูลชนิดของศัตรูพืช ได้แก่ วัชพืช สัตว์ศัตรูพืช แมลงศัตรูพืช และจุลินทรีย์ก่อโรคพืช ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการคัดกรองรายชื่อเพื่อความน่าเชื่อถือของฐานข้อมูล ซึ่งสามารถรวบรวมข้อมูลศัตรูพืชได้ ดังนี้

วัชพืช พบข้อมูลวัชพืชในบัญชี 85 ชนิด และจากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตรได้ทำการศึกษาชนิดของวัชพืชของพืชส่งออก ได้แก่ ข้าวโพดฝักอ่อนและมะม่วง พืชนำเข้า ได้แก่ อ้อยและข้าวฟ่าง ทำการศึกษาสำรวจในแปลงพืชทั้งสี่ชนิดในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตาก นครราชสีมา นครสวรรค์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ลพบุรี สระแก้ว สระบุรี สุพรรณบุรี หนองคาย อุดรธานี และอุตรดิตถ์ พบว่า พบวัชพืชทั้งหมด 198 ชนิด กระจายตัวอยู่ใน 136 สกุล ของ 40 วงศ์ วงศ์ที่พบมากที่สุด คือวงศ์หญ้า Poaceae พบทั้งสิ้น 39 ชนิด ใน 27 สกุล รองลงมา ได้แก่ วงศ์ทานตะวัน Asteraceae หรือ Compositae พบ 17 สกุล 21 ชนิด เป็นวัชพืชประเภทใบแคบ จำนวน 27 ชนิด ใบกว้าง 157 ชนิด และประเภทกก จำนวน 14 ชนิด วัชพืชชนิดที่พบสูงสุดได้แก่ หญ้าตีนติด (Brachiaria reptans (L.) C.A.Gardner & C.E.Hubb.) รองลงมา ได้แก่ หญ้าปล้องข้าวนก หญ้าตีนนก (Digitaria ciliaris (Retz.) Koel.) และหญ้ายาง (Euphorbia heterophylla L.) นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลวัชพืชเพิ่มเติมที่ได้จากการศึกษาวิจัยและสำรวจข้อมูล เช่น วัชพืชในสวนส้มโอ วัชพืชศัตรูถาวรของเกษตรกร เป็นต้น โดยการรวบรวมของกลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร และยังมีหนังสือวัชพืชในประเทศไทย โดยผศ.ดร.ดวงพร สุวรรณกุล และศ.ดร.รังสิต สุวรรณเขตนิคม ภาควิชาพืชไร่นา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นต้น

สัตว์ศัตรูพืช

สัตว์มีกระดูกสันหลัง พบข้อมูลสัตว์ศัตรูพืชในบัญชี 11 ชนิด เช่น หนูพุกเล็ก Bandicota savilei Thomas หนูท้องขาว Rattus rattus (Linnaeus) นกพิราบ Columba livia Gmelin เป็นต้น

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง พบข้อมูล กลุ่มหอย ได้แก่ หอยเชอรี่ Pomacea canaliculata (Lamarck) หอยทากซัคซิเนีย Succinea minuta (Bielz) กลุ่มปู ได้แก่ ปูนา (Esanthelphusa dugasti (Rathbun), Sayamia bangkokensis (Naiyanetr), Sayamia germaini (Rathbun), Sayamia sexpunctatum (Lanchester)) กลุ่มไส้เดือนฝอย มีข้อมูลไส้เดือนฝอยศัตรูพืชในบัญชี 27 ชนิด เช่น ไส้เดือนฝอยรากข้าว Hirschmanniella oryzae ไส้เดือนฝอยรากปม (Meloidogyne hapla, Meloidogyne javanica)เป็นต้นและกลุ่มไร พบข้อมูลไรศัตรูพืชในบัญชี 35 ชนิด เช่น ไรเหลืองส้ม Eotetranychus cendanai Rimando ไรขาวพริก Polyphagotarsonemus latus (Banks) ไรแพสชั่นฟรุท Brevipalpus phoenicis (Geijskes) เป็นต้น

แมลงศัตรูพืช

พบข้อมูลแมลงศัตรูพืชในบัญชี 314 ชนิด และจากข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร โดยกลุ่มกีฏและสัตววิทยา สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช ได้มีการศึกษาวิจัยด้านแมลงศัตรูพืชทางการเกษตรไว้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้มีการเผยแพร่ข้อมูลในรูปแบบของหนังสือ บทความวิจัยต่าง ๆ เช่น หนังสือแมลงศัตรูไม้ผล ได้แก่ แมลงศัตรูทุเรียน มังคุด ลำไยและลิ้นจี่ มะม่วง ส้มเขียวหวาน ส้มโอ องุ่น ชมพู่และฝรั่ง และเงาะ ตัวอย่างในแต่ละพืช เช่น มะพร้าวน้ำหอม พบ 3 อันดับ 8 วงศ์ 8 ชนิด ได้แก่ อันดับ Coleoptera 3 วงศ์ 3 ชนิด Lepidoptera 3 วงศ์ 3 ชนิด และอันดับ Hemiptera 2 วงศ์ 2 ชนิด มะละกอ พบ 2 อันดับ 3 วงศ์ 4 ชนิด ได้แก่ อันดับ Thysanoptera 1 วงศ์ 2 ชนิด และอันดับ Hemiptera 2 วงศ์ 2 ชนิด ปาล์มน้ำมัน พบ 2 อันดับ 6 วงศ์ 8 ชนิด ได้แก่ อันดับ Coleoptera 3 วงศ์ 4 ชนิด และอันดับ Lepidoptera 3 วงศ์ 4 ชนิด ในหัวพันธุ์ไม้ดอก พบ 1 อันดับ 1 วงศ์ 1 ชนิด กล้วย พบแมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ แมลงหวี่ขาวใยเกลียว มวนปีกแก้ว หนอนกระทู้ผัก หนอนม้วนใบกล้วย เพลี้ยแป้งน้อยหน่า เพลี้ยหอยเกล็ดมะพร้าว เพลี้ยแป้งลาย มะยงชิด พบแมลงศัตรูที่สำคัญ ได้แก่ แมลงวันทอง เพลี้ยหอยเกราะอ่อนสีน้ำตาล เพลี้ยไฟพริก เพลี้ยไฟดอกไม้ฮาวาย และเพลี้ยไฟดอกไม้ เมลอน พบแมลงศัตรูสำคัญ ได้แก่ แมลงหวี่ขาวยาสูบ หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนกระทู้ผัก ผีเสื้อหนอนฟัก ด้วงเต่าแตงแดง ด้วงเต่าแตงดำ เพลี้ยอ่อนฝ้าย แมลงวันแตง เพลี้ยไฟถั่วเหลือง เพลี้ยไฟถั่วลิสง เพลี้ยไฟดอกไม้ เพลี้ยไฟดอกถั่ว เพลี้ยไฟขอบปล้องหยัก เพลี้ยไฟพริก เพลี้ยไฟฝ้าย และเพลี้ยไฟมะละกอ มะนาว พบแมลงศัตรูสำคัญ ได้แก่ เพลี้ยไก่แจ้ส้ม แมลงหวี่ดำ หนอนม้วนใบส้ม ผีเสื้อหนอนแก้วส้ม ผีเสื้อหางติ่งธรรมดา แมลงค่อมทอง ผีเสื้อหนอนชอนใบส้ม เพลี้ยอ่อนฝ้าย และเพลี้ยไฟฝ้าย

  • จุลินทรีย์ก่อโรคพืช

กลุ่มแบคทีเรีย พบข้อมูลแบคทีเรียศัตรูพืชในบัญชี 16 ชนิด เช่น โรคขอบใบแห้งข้าว Xanthomonas oryzae โรคแคงเกอร์ Xanthomonas citri เป็นต้น กลุ่มไฟโตพลาสมา พบข้อมูลไฟโตพลาสมาศัตรูพืชในบัญชี ๗ ชนิด เช่น โรคเหลืองเตี้ยข้าว Candidatus Phytoplasma oryzae โรคแตกพุ่มฝอยงาCandidatus Phytoplasma asteris เป็นต้น กลุ่มไวรัส พบข้อมูลไวรัสศัตรูพืชในบัญชี 56 ชนิด เช่น ไวรัสใบหงิกมะเขือเทศนิวเดลี Tomato leaf curl New Delhi virus ไวรัสใบด่างแถบขาวอ้อย Brome mosaic virus เป็นต้น กลุ่มไวรอยด์ พบข้อมูลไวรอยด์ศัตรูพืชในบัญชี 3 ชนิด ได้แก่ ไวรัสเส้นใบเหลืองสาบม่วง Ageratum yellow vein virus ไวรอยด์จุดด่างเหลืององุ่น Grapevine yellow speckle viroid 1 ไวรอยด์พริก Pepper chat fruit viroid และกลุ่มรา พบข้อมูลไวรัสศัตรูพืชในบัญชี 161 ชนิด เช่น โรคฝักเน่า Aspergillus flavus Link โรคราเขม่าดำ Ustilago maydis โรคโคนเน่าข้าวโพด โรคกาบใบแห้งข้าว Rhizoctonia solani เป็นต้น

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญในการนำมาใช้ประโยชน์

  1. พืชปลูกที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ แบ่งได้เป็น 6 กลุ่ม ตามประเภทการใช้ประโยชน์พืช ดังนี้พืชอาหาร ตัวอย่างเช่น ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อย
  2. พืชน้ำมัน ตัวอย่างเช่น ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง และมะพร้าว
  3. พืชผัก ตัวอย่างเช่น กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ มันฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวโพด กระชาย กระเจี๊ยบเขียว กวางตุ้ง กวางตุ้งดอก กวางตุ้งไต้หวัน กะหล่ำ ขมิ้น ข่า ขิง คะน้า ขึ้นฉ่าย ชะอม กุยช่าย ขี้เหล็ก ต้นหอม ตะไคร้ แค ถั่วฝักยาว ถั่วพู ถั่วลันเตา ถั่วแขก น้ำเต้า บวบ บอระเพ็ด ผักกระเฉด ผักกาด ผักชี ผักบุ้ง ผักปลัง ผักสลิด ผักหวานบ้าน ผักหวานป่า ผักแว่น ผักโขม พริก ฟักข้าว ฟัก มะกอกป่า มะขามป้อม มะขาวเปรี้ยว มะระ มะรุม มะเขือ ตำลึง ฟักทอง
  4. ฟักแม้ว สะเดา มะกรูด ว่านหางจระเข้ สมอ สตอ สะระแหน่ บัวสาย หน่อไม้ฝรั่ง หน่อไม้ไผ่ทุกชนิด หัวไชเท้า เห็ด แตงกวา แตงร้าน แตงไทย กะเพรา กุยช่าย ชะพลู บัวบก ยี่หร่า เตย แมงลัก โหระพา กรีนโอ๊ค คอส ซูกินี บร็อคโคลี่ บัตเตอร์เฮด บีทรูท ปวยเล้ง มันฝรั่ง หอมแขก อะโวคาโด แครอท ถั่วลิสง ถั่วแระ มัน เผือกหอม แห้ว เป็นต้น
  5. ไม้ผล ตัวอย่างเช่น สับปะรด ลำไย เงาะ ทุเรียน มังคุด ลิ้นจี่ ส้ม ลองกอง มะนาว กระท้อน กล้วย ขนุน น้อยหน่า พลับ มะขามหวาน อินทผาลัม) มะขามเทศ มะปราง มะพร้าวน้ำหอม มะม่วง มะยงชิด มะละกอ มะไฟ ละมุด ลางสาด สตรอว์เบอร์รี่ ส้มโอ สละ เมลอน แคนตาลูป ชมพู่ ฝรั่ง มะกอก มะเฟือง ส้มเช้ง องุ่น แก้วมังกร แตงโม เป็นต้น
  6. ไม้ยืนต้น ตัวอย่างเช่น กาแฟ ยางพารา พริกไทย เป็นต้น
  7. ไม้ดอก/ไม้ประดับ ตัวอย่างเช่น กล้วยไม้ กุหลาบ คัตเตอร์ คาร์เนชั่น จำปี ซ่อนกลิ่น กระเจียว มะลิ อัมมรทัส เข้าพรรษา ดาวเรือง บัททอน บัว บานไม่รู้โรย มัม รัก ลิลลี่ สตาร์ติส สร้อยทอง สวอนแพนท์ หน้าวัว เซ็กซี่พิงค์ เตย เบญจมาศ เบิร์ด เยียบีร่า แกลดิโอลัส กวนอิมเขียว ซานาดู ตองตานี ทางหมาก พลูจีบ พลูเขียว ใบยาง หมากผู้หมากเมีย เฟิร์นนาคราช โปร่งฟ้า ไลเซนทัส เป็นต้น

พืชชนิดพันธุ์ใหม่

ชนิดพันธุ์ใหม่ในระบบนิเวศการผลิตพืชส่วนใหญ่มาจากการปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้มีปริมาณและคุณภาพของผลผลิตที่ดีและสูงกว่าพันธุ์ที่มีอยู่แล้ว หรือต้านทานโรคและแมลง เป็นต้น โดยมีนักวิจัยการปรับปรุงพันธุ์จากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ อาทิ กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร ข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร พ.ศ. 2563 ในระบบฐานข้อมูลพันธุ์พืชรับรอง พันธุ์พืชแนะนำ และสิ่งประดิษฐ์ โดยมีการรับรองพันธุ์พืชต่าง ๆ ในระหว่าง พ.ศ.2562 จนถึงปัจจุบัน จำนวน 39 พันธุ์ ซึ่งเป็นพืชในกลุ่มข้าว พืชไร่ พืชผัก พืชสวน ไม้ผล และไม้ดอก ตัวอย่างเช่น ข้าวเจ้าพันธุ์หอมใบเตย 62 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลูกผสมนครสวรรค์ 4 อ้อยคั้นน้ำศรีสำโรง 1 มะม่วงหิมพานต์พันธุ์ศรีสะเกษ 3 พริกขี้หนูเลยพันธุ์ศรีสะเกษ 4 มะละกอฮอลแลนด์พันธุ์ศรีสะเกษ มะเขือเทศสีดาพันธุ์ศรีสะเกษ 2 กล้วยเล็บมือนางชุมพร 1 สับปะรดเพชรบุรี 2 ดาหลายะลา 1 ปทุมมาเชียงราย 1 เป็นต้น

ภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศการผลิตพืช

ภัยคุกคามที่ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศการผลิตพืช มีหลายสาเหตุที่เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยส่งผลกระทบต่อการสูญเสียจำนวนประชากรและการสูญเสียชนิดพันธุ์และสายพันธุ์ของทั้งพืชและสัตว์ จุลินทรีย์ และระบบนิเวศ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น สามารถสรุปได้ ดังนี้

  • การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเกษตรกรรมเพื่อการปลูกพืชเชิงเดี่ยว การเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์พืชปลูกที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐหรือเอกชน สำหรับการทำเกษตรกรรมส่งผลกระทบต่อการสูญเสียสายพันธุ์พื้นเมืองเกษตรกรรมดั้งเดิมอย่างรุนแรง อาทิ พันธุ์ข้าวพื้นเมือง ไม้ผลพื้นเมือง พืชผักพื้นเมือง เนื่องจากสายพันธุ์ที่ส่งเสริมมักมีรายได้สูงเป็นสิ่งจูงใจเกษตรกร จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมไปมาก
  • การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไม่เหมาะสม อาทิ การปลูกข้าว หรือพืชที่ไม่ทนน้ำท่วมในที่ลุ่มน้ำท่วม หรือปลูกข้าว หรือพืชที่ต้องการน้ำมากในที่ที่มีปริมาณน้ำฝนต่อปีน้อย ทำให้ส่งผลกระทบผลผลิตของพืชปลูก นอกจากนี้ อาจจะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศ เนื่องจากพืชปลูกเติบโตไม่ครบวงจรชีวิตแล้วตายก่อน พวกแมลงและนกอาจขาดแหล่งอาหารได้
  • การเผาที่โล่ง นับเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ไฟที่เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการเผากำจัดวัชพืชในพื้นที่ก่อนการทำเกษตรกรรมในรอบถัดไป ซึ่งไฟดังกล่าวอาจลุกลามเข้าสู่พื้นที่ป่าธรรมชาติบริเวณใกล้เคียง ส่งผลให้ความหลากชนิดของพรรณพืชในพื้นที่ลดน้อยลงไปด้วย
  • การใช้สารเคมีในการผลิตพืช เกษตรกรมักทำการฉีดสารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชากรของแมลงที่อยู่อาศัยอยู่บริเวณสังคมพืชที่ติดต่อกับพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน โดยเฉพาะกลุ่มแมลงผสมเกสรและแมลงในดิน นอกจากนี้ การใช้สารเคมีฉีดพ่นฆ่าแมลงเพื่อกำจัดหนอนทำลายดอกพืช ในขณะที่ดอกกำลังบาน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้แมลงผสมเกสรถูกกำจัดหรือลดจำนวนลงอย่างมาก การทำลายดอกพืชรองและพืชรอบ ๆ แปลง เป็นผลทำให้แมลงผสมเกสรไม่มีแหล่งอาหารสำรองในฤดูกาลที่ขาดแคลนและไม่มีแหล่งที่อยู่เมื่อพืชอาศัยถูกทำลายลง
  • การนำเข้าชนิดพันธุ์ต่างถิ่นเพื่อการค้าจนเกิดเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน มีหลายสาเหตุของการนำเข้าขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้นำเข้า หรืออาจจะลักลอบนำเข้า หรือติดมากับเสื้อผ้า เครื่องแต่งกายก็ได้ ซึ่งเมื่อพืชกลุ่มนี้มีการหลุดรอดลงสู่ธรรมชาติ ทำให้เกิดการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว หลายชนิดส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร หลายชนิดส่งผลกระทบต่อองค์ประกอบและโครงสร้างหน้าที่ของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เช่น ไมยราบยักษ์ เป็นต้น
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งสิ้น ทั้งจากปัญหาฝนทิ้งช่วง ภัยแล้ง น้ำท่วม หรือปริมาณฝนน้อยที่ทำให้ไม่มีน้ำเพียงพอต่อการปลูกข้าวในช่วงฤดูแล้ง โดยเฉพาะนาปรัง ในขณะที่ระบบนิเวศพืชไร่ สามารถทนแล้งได้ดีกว่าจะมีแนวโน้มขยายพื้นที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคตหรือการปลูกไม้ยืนต้นบนพื้นที่นาดอน

การดำเนินงานที่ผ่านมา

การดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับระบบนิเวศการผลิตพืช มีทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและเกี่ยวข้องโดยอ้อม ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษาวิจัย และการควบคุมผลกระทบ ซึ่งในช่วงที่ผ่านสามารถสรุปได้ ดังนี้

ด้านการศึกษาวิจัย

  • กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว จากอดีต ถึง พ.ศ. 2558 ได้ดำเนินงานปรับปรุงพันธุ์ข้าวมาอย่างต่อเนื่องจนได้ข้าวพันธุ์รับรอง พันธุ์แนะนำ และพันธุ์ทั่วไป ให้เกษตรกรปลูกในระบบนิเวศต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งพันธุ์ข้าวนาสวน ข้าวไร่ ข้าวขึ้นน้ำ ข้าวน้ำลึก ข้าวญี่ปุ่น และธัญพืชเมืองหนาว จำนวน 138 พันธุ์ โดยมีพันธุ์ข้าวที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ กข 6 ขาวดอกมะลิ 105 ดังนี้
    • พันธุ์ข้าวนาสวนไวต่อช่วงแสง 51 พันธุ์
    • พันธุ์ข้าวนาสวนไม่ไวต่อช่วงแสง 45 พันธุ์
    • พันธุ์ข้าวขึ้นน้ำไวต่อช่วงแสง 6 พันธุ์
    • พันธุ์ข้าวน้ำลึกไวต่อช่วงแสง 6 พันธุ์
    • พันธุ์ข้าวน้ำลึกไม่ไวต่อช่วงแสง 1 พันธุ์
    • พันธุ์ข้าวไร่ไวต่อช่วงแสง 9 พันธุ์
    • พันธุ์ข้าวไร่ไม่ไวต่อช่วงแสง 1 พันธุ์
    • พันธุ์ข้าวแดงไวต่อช่วงแสง 2 พันธุ์
    • พันธุ์ข้าวแดงไม่ไวต่อช่วงแสง 1 พันธุ์
    • พันธุ์ข้าวญี่ปุ่น 2 พันธุ์
    • พันธุ์ข้าวสาลี 4 พันธุ์
    • พันธุ์ข้าวบาร์เลย์ 2 พันธุ์
    • พันธุ์ข้าวลูกผสม 3 พันธุ์
  • กรมวิชาการเกษตร รวบรวมอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ในธนาคารเชื้อพันธุ์พืช พิพิธภัณฑ์พืชสิรินธร (Bangkok Herbarium) มีจำนวนมากกว่า 100,000 ตัวอย่าง พิพิธภัณฑ์แมลง มีตัวอย่างแมลงมากกว่า 8,000 ชนิด (520,000 ตัวอย่าง) Insect type specimen มากกว่า 100 ตัวอย่าง
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุน รศ.ประเสริฐ ฉัตรวชิระวงษ์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ดำเนินโครงการประเมินเชื้อพันธุกรรมอ้อย และการปรับปรุงพันธุ์อ้อย โดยรวบรวมเชื้อพันธุกรรมอ้อยทั้งในและต่างประเทศ อ้อยพันธุ์การค้า อ้อยพื้นเมือง อ้อยป่าและพืชสกุลใกล้เคียง ได้ทั้งสิ้น 2,559 โคลน เป็นพันธุ์อ้อยจากต่างประเทศ ๔๓๑ โคลน พันธุ์อ้อยในประเทศ 1,973 โคลน พันธุ์อ้อยป่าและพืชสกุลใกล้เคียง 155 โคลน
  • สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สนับสนุน ดร.ศุภจิต สระเพชร และดร.สุขุมาล หวานแก้ว มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ ได้สร้างแผนที่พันธุกรรมของมันสำปะหลังที่มีความละเอียดสูงและครอบคลุมจีโนมมันสำปะหลังมากถึง 200 สายพันธุ์ หรือร้อยละ 89 ซึ่งจัดได้ว่าเป็นแผนที่พันธุกรรมมันสำปะหลังที่มีความละเอียดสูงสุดจากที่ได้มีการรายงานไว้
  • กรมพัฒนาที่ดิน ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ที่มีการเผยแพร่และส่งเสริมทั้งหมด 9 ผลิตภัณฑ์ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มจุลินทรีย์ปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มธาตุอาหารและฮอร์โมนพืช กลุ่มจุลินทรีย์ควบคุมศัตรูพืช และกลุ่มจุลินทรีย์รักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ยังพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรกรมพัฒนาที่ดิน โดยใช้สารเร่ง พด. และปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง สูตรไนโตรเจน ฟอสฟอรัส อีกด้วย นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อป้องกันหมอกและควันไฟในพื้นที่เกษตรภาคเหนือ พ.ศ. 2563 ครอบคลุม 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน แม่ฮ่องสอน เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา และตาก

ด้านการควบคุมผลกระทบ

  • การประกาศลดและเลิกใช้สารกำจัดศัตรูพืช (พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมให้เกิดการลดและเลิกใช้สารกำจัดศัตรูพืช ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ดำเนินการออกใบอนุญาต หรือการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร มีหน้าที่ตามที่กำหนดในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2549 ที่เกี่ยวข้อง คือ ควบคุมการผลิตและการจำหน่ายวัตถุมีพิษตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย มีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ พัฒนามาตรการ กฎระเบียบ วิธีการปฏิบัติควบคุมและกำกับเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตทะเบียนวัตถุอันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ส่วนกลุ่มสารวัตรเกษตร มีหน้าที่ ควบคุม และกำกับเกี่ยวกับการผลิต การรวบรวม การจำหน่าย และการใช้รับจ้างซึ่งวัตถุอันตราย ปุ๋ยเคมี และเมล็ดพันธุ์ ตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย ปุ๋ย และพันธุ์พืช นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีภาคประชาสังคมและเครือข่ายต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการผลักดัน ได้แก่ เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง 686 องค์กร เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) สมาคมอารักขาพืชไทย สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร เป็นต้น
  • กรมควบคุมมลพิษ มีการติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนสารอันตรายในสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณากำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม มาตรการหรือแนวทางบริหารจัดการสารเคมี อาทิ กลุ่มโลหะหนัก กลุ่มสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์และสารเคมีอื่น ๆ พ.ศ. 2562 ติดตามตรวจสอบการปนเปื้อนสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์ในสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ภาคเหนือ (จังหวัดน่าน) และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดหนองบัวลำภู)
  • กรมวิชาการเกษตร โดยกองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช ได้แก่ มาตรฐาน GAP ผลการตรวจรับรอง GAP สะสม ระหว่าง พ.ศ. 2547 – 31 กรกฎาคม 2563 มีจำนวนเกษตรกร ที่จดทะเบียนทั้งหมด 223,699 แปลง (1,512,647.44 ไร่) ได้รับการรับรอง Q
  • กรมควบคุมมลพิษ มีการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การกำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีทางการเกษตร ดังนี้ มาตรฐานคุณภาพน้ำผิวดิน มาตรฐานคุณภาพน้ำใต้ดิน มาตรฐานคุณภาพดิน และมาตรฐานคุณภาพน้ำทะเล
  • กรมชลประทาน ได้ดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก ใน พ.ศ. 2560-2562 จากโครงการทุกขนาดทุกประเภท จำนวน 588.59 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 81.29 ของแผน (724.05 ล้านลูกบาศก์เมตร) และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน จำนวน 708,980 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 84.18 ของแผน (842,181 ไร่) ให้เกิดความมั่นคงของน้ำ เพื่อการอุปโภค บริโภค การเกษตรกรรม และการรักษาระบบนิเวศ