การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 1 (CBD COP 15)

การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 1 (CBD COP 15) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติร่วมกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุมระดับสูง (High Level Segment) ในระหว่างการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 15 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดำเนินงานและความร่วมมือในเชิงนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 เวลา 14.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับสูง (High Level Segment) ในระหว่างการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 15 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดำเนินงานและความร่วมมือในเชิงนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประเสริฐ ศิรินภาพร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมด้วย

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การดำเนินงานเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในเชิงนโยบายของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี นโยบาย แผนงานและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการดำเนินนโยบาย BCG model และเป้าหมายในการฟื้นฟูระบบนิเวศที่สำคัญ อีกทั้งให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมกรอบงาน ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายและวิธีการดำเนินงานที่จะต้องคำนึงถึงบริบทความพร้อมของแต่ละประเทศ และความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ รวมถึงการสร้างความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อดำเนินการร่วมกัน ทั้งในด้านการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเสริมสร้างสมรรถนะ ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการประชุมได้สะท้อนผ่านปฏิญญาคุนหมิง (Kunming Declaration) ซึ่งแสดงถึงมุมมองเชิงนโยบายและความมุ่งมั่นของประเทศภาคีอนุสัญญาฯ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และวิสัยทัศน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2050 (living in Harmony with Nature)