Just another WordPress site

การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 1 (CBD COP 15)

การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 ช่วงที่ 1 (CBD COP 15) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกียรติร่วมกล่าวถ้อยแถลงในพิธีเปิดการประชุมระดับสูง (High Level Segment) ในระหว่างการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 15 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดำเนินงานและความร่วมมือในเชิงนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 เวลา 14.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมระดับสูง (High Level Segment) ในระหว่างการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 15 ผ่านระบบการประชุมทางไกล เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดำเนินงานและความร่วมมือในเชิงนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายประเสริฐ ศิรินภาพร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้แทนกองจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมการประชุมด้วย

โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวถึงความจำเป็นเร่งด่วน ในการฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การดำเนินงานเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในเชิงนโยบายของประเทศไทย เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์ ฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี นโยบาย แผนงานและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการดำเนินนโยบาย BCG model และเป้าหมายในการฟื้นฟูระบบนิเวศที่สำคัญ อีกทั้งให้ความสำคัญกับการจัดเตรียมกรอบงาน ความหลากหลายทางชีวภาพของโลกหลังปี ค.ศ. 2020 โดยเฉพาะการกำหนดเป้าหมายและวิธีการดำเนินงานที่จะต้องคำนึงถึงบริบทความพร้อมของแต่ละประเทศ และความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ รวมถึงการสร้างความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อดำเนินการร่วมกัน ทั้งในด้านการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเสริมสร้างสมรรถนะ ทั้งนี้ ผลลัพธ์ของการประชุมได้สะท้อนผ่านปฏิญญาคุนหมิง (Kunming Declaration) ซึ่งแสดงถึงมุมมองเชิงนโยบายและความมุ่งมั่นของประเทศภาคีอนุสัญญาฯ และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และวิสัยทัศน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2050 (living in Harmony with Nature)

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept

Privacy & Cookies Policy