นักพฤกษศาสตร์ไทยค้นพบพืชสกุลขมิ้นชนิดใหม่ของโลก ” ขมิ้นสยาม ” ขมิ้นสยาม จัดอยู่ในวงศ์ขิง(Zingiberaceae); เผ่าขิง (Zingibereae); สกุลขมิ้น (𝘊𝘶𝘳𝘤𝘶𝘮𝘢); และในสกุลย่อย 𝘌𝘤𝘰𝘮𝘢𝘵𝘢𝘦 ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารพฤกษศาสตร์ระดับนานาชาติ Biodiversitas ปีที่ 22 ฉบับที่ 9 หน้าที่ 5239–5246 ขมิ้นสยามถูกค้นพบในพื้นที่ป่าในเขตจังหวัดฉะเชิงเทรา ภาคตะวันออกของไทย พืชชนิดใหม่สกุลขมิ้นนี้ถูกพบในระหว่างที่ทำการศึกษาความหลากหลายของพืชวงศ์ขิงในประเทศไทย ร่วมกันศึกษาอนุกรมวิธานโดย รศ.ดร.ปิยะพร แสนสุข นักวิจัยจากภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, นายธวัชพงศ์ บุญมา นักวิจัยจากสวนวิจัยพฤกษศาสตร์บริโอ้, นิสิตระดับปริญญาเอก สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ รศ.ดร.สุรพล แสนสุข นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ขมิ้นสยาม เป็นพืชล้มลุกที่มีเหง้าใต้ดิน มีลักษณะเด่นคือ ร่องกลางใบมีสีแดง ดอกมีสีเหลืองนวล โดยจะมีช่อดอกอยู่ระหว่างกาบใบ ก้านช่อดอกสั้น บางครั้งช่อดอกทำให้กาบใบที่เรียงสลับแยกออกจากกันหรือแทงช่อดอกออกมาด้านข้างกาบใบที่ฐานของลำต้นไม่สูงจากพื้นดินมากนัก ในธรรมชาติจะมีช่อดอกราวเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน อาจจะช้าหรือเร็วกว่าระยะเวลาดังกล่าวเล็กน้อยขึ้นอยู่กับฝนแรกในแต่ละปี ขมิ้นสยามมีลักษณะทางสัณฐานวิทยาคล้ายกับ”บุษราคัม” หรือ “กระเจียวรังสิมา” (𝘊𝘶𝘳𝘤𝘶𝘮𝘢 𝘳𝘢𝘯𝘨𝘴𝘪𝘮𝘢𝘦 Boonma & Saensouk) ที่คณะผู้วิจัยเพิ่งรายงานเป็นพืชชนิดใหม่ของโลกเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา ซึ่งพบกระจายพันธุ์ในบริเวณใกล้เคียงกัน แม้ว่าจะมีดอกที่มีโทนสีเหลืองคล้ายกัน แต่มีลักษณะเด่นที่สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ คือ ขมิ้นสยาม จะมีร่องกลางใบที่เป็นสีแดง และมีช่อดอกที่สั้นกว่าและขนาดเล็กกว่า ในขณะที่กระเจียวรังสิมาจะมีใบที่เขียวตลอดใบ และมีช่อดอกที่มีขนาดใหญ่กว่า รวมไปถึงลักษณะของเกสรเพศผู้มีอับเรณูที่มีเดือยที่ฐานชี้ลง ในขณะที่ขมิ้นสยามชี้ออกด้านข้าง
ปัจจุบัน ขมิ้นสยาม ยังคงพบกระจายพันธุ์แค่ในพื้นที่ป่าเขตจังหวัดฉะเชิงเทราและยังไม่เคยมีรายงานการค้นพบในพื้นที่อื่น ๆ หรือประเทศอื่นมาก่อน ทำให้มีสถานะเป็นพืชถิ่นเดียว (Endemic species) และหายากของไทย ทางคณะผู้วิจัยจึงได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้กับพืชชนิดใหม่นี้ว่า 𝘾𝙪𝙧𝙘𝙪𝙢𝙖 𝙨𝙞𝙖𝙢𝙚𝙣𝙨𝙞𝙨 Saensouk & Boonma โดยตั้งชื่อไทยสามัญว่า “ขมิ้นสยาม” นอกจากนี้ยังเป็นที่รู้จักในชื่อ “สุวรรณพนม” ซึ่งมีที่มาจากดอกสีเหลืองและถูกเก็บตัวอย่างที่แรกจากเขตอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และชื่อ “มหาอุดมเหลืองนวล” เนื่องจากช่อดอกคล้ายกับขมิ้นอีกชนิดที่เรียกว่ามหาอุดมและพ่วงด้วยการเรียกตามสีของดอกสีเหลืองนวลของพืชชนิดนี้ สามารถอ่านเอกสารฉบับเต็มได้ที่ https://smujo.id/biodiv/article/view/9607/5315
ที่มาของเนื้อหา : https://www.facebook.com/1523107561151019/posts/4256478134480601/