แผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564

ประเทศไทยได้เริ่มจัดทำนโยบายและมาตรการระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นกรอบและทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวมของประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ทั้งนี้ การจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีนโยบายระดับชาติในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ครอบคลุมในทุกประเด็น ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรา 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่กำหนดให้ภาคีจัดทำนโยบายและกลยุทธ์ระดับชาติ เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

 

 

  • แผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564

เป็นแผนหลักด้านความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย ที่เป็นกรอบการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดทำแผนแม่บทฯ ได้นำแผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2554-2563 และเป้าหมายไอจิ มาเป็นกรอบทิศทางในการดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้อง คุ้มครอง และเพิ่มพูนผลประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ ควบคู่กับการสร้างความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจในบทบาทและความสำคัญของความหลากหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยเป็นการบูรณาการการจัดการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558

รายละเอียดเพิ่มเติม แผนฉบับเต็ม

รายละเอียดเพิ่มเติม แผ่นพับ

 

  • แผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560-2564 เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564 ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2564 จัดทำขึ้นโดยมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายไอจิด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้ง สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560-2564 สาระของแผนปฏิบัติการฯ มุ่งเน้นการเสริมสร้างความตระหนักและให้การศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ฟื้นฟู การลดภัยคุกคาม การจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น การพัฒนาองค์ความรู้และฐานข้อมูล โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอตั้งงบประมาณ เพื่อดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2564 รายละเอียดเพิ่มเติม
    • การติดตามประเมินผลในระดับแผนปฎิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560 – 2564 ระยะครึ่งแผน : เป็นการติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560-2564 ในระยะครึ่งแผน เพื่อทราบความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค และติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนแผนแม่บทฯ ในการบรรลุเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ อันจะเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนแผนไปสู่การปฏิบัติในปีต่อไป รวมทั้งเป็นแนวทางในการติดตามประเมินผลในระยะสิ้นสุดแผนปฏิบัติการฯ และเป็นองค์ความรู้ในการสื่อสาร สร้างความตระหนักของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ การมีส่วนร่วมในการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนด นำไปสู่ผลลัพธ์ในภาพรวมในการแก้ไขปัญหาการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ รายละเอียดเพิ่มเติม
  • แผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2559 จัดทำขึ้นเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558 – 2564 ในระยะเร่งด่วน โดยถ่ายทอดยุทธศาสตร์และมาตรการตามแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติ กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการแต่ละเรื่องให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยมีประเด็นสำคัญในการดำเนินงาน ได้แก่ การสร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ และการลดภัยคุกคามต่างๆ รวมถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปกป้องคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ และการจัดการองค์ความรู้และฐานข้อมูล โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่กำหนดไว้ รายละเอียดเพิ่มเติม
    • การติดตามประเมินผลในระดับแผนปฎิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558- 2559 : เป็นการติดตามประเมินผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2559 เพื่อรองรับการขับเคลื่อนแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564 โดยติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และวิเคราะห์ความก้าวหน้าของการขับเคลื่อนแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดทิศทางการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ รายละเอียดเพิ่มเติม

 

คณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ (กอช.) ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ได้มีมติเห็นชอบในหลักการการขยายระยะเวลาสิ้นสุดแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564 และแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560-2564 ออกไปจนถึงปี พ.ศ. 2565 และให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการประกาศใช้และนำแผนฯ เข้าระบบ eMENSCR ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อลดช่องว่างและผลกระทบจากการที่ยังไม่มีข้อมติที่เห็นชอบร่วมกันระหว่างสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพในประเด็นกรอบงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพของโลกภายหลังปี ค.ศ. 2020 ที่จะต้องใช้กำหนดทิศทางเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ และแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศในระยะต่อไป ประกอบกับการขยายระยะเวลาฯ จะทำให้กำหนดห้วงเวลาของแผนปฏิบัติการฯ ในระยะต่อไป สอดคล้องกับห้วงเวลาของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดเป็นห้วงละ 5 ปี ได้แก่ ปี 2566-2570 , 2571-2575 และ 2676-2580

 

แผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564

(มติ กอช. เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 เห็นชอบในหลักการขยายเวลาสิ้นสุดแผนออกไปจนถึงปี 2565)