แผนด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ
ประเทศไทยได้เริ่มจัดทำนโยบายและมาตรการระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อเป็นกรอบและทิศทางการดำเนินงานเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพในภาพรวมของประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 ทั้งนี้ การจัดทำนโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีนโยบายระดับชาติในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพที่ครอบคลุมในทุกประเด็น ตลอดจนสอดคล้องกับมาตรา 6 ของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ที่กำหนดให้ภาคีจัดทำนโยบายและกลยุทธ์ระดับชาติ เพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

- แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ พ.ศ. 2566-2570
แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ พ.ศ. 2566-2570 เป็นแผนหลักของประเทศด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่มีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำขึ้นเพื่อดำเนินงานตามพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในมาตรา 6 ที่กำหนดให้ภาคีดำเนินการจัดทำกลยุทธ์หรือแผนระดับชาติ เพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน โดยนำกรอบงานคุนหมิง-มอนทรีออลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพของโลก (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework) ที่ได้รับความเห็นชอบจากสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 มาถ่ายทอดเป็นแผนและเป้าหมายในระดับประเทศ เพื่อร่วมมือกับประชาคมโลกในการหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ และ 12 เป้าหมาย โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 มุ่งเน้นการเสริมสร้างความพยายามในการอนุรักษ์ โดยการเพิ่มการปกป้องที่อยู่อาศัยและชนิดพันธุ์ที่สำคัญผ่านการปรับปรุงแนวทางการจัดการ การขยายพื้นที่คุ้มครอง และการพัฒนามาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ยุทธศาสตร์ที่ 2 คือการส่งเสริมการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นไปอย่างยุติธรรมและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่น รวมถึงการจัดการที่ยั่งยืนของพื้นที่เกษตร ป่าไม้ ท่องเที่ยว และประมง เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสมดุลและไม่ทำลายธรรมชาติ ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือการผนวกความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพเข้าในนโยบายระดับชาติและภาคส่วน กระบวนการวางแผน และโครงการพัฒนา โดยมีการบูรณาการความหลากหลายทางชีวภาพเข้ากับนโยบายและแผนงานในทุกภาคส่วนของการพัฒนา
แผนปฏิบัติการด้านความหลากหลายทางชีวภาพระดับชาติ พ.ศ. 2566-2570 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 พร้อมทั้งเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำส่งแผนปฏิบัติการฯ และเป้าหมายระดับชาติฯ ดังกล่าว ให้สำนักเลขาธิการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ รายละเอียดเพิ่มเติม แผนฉบับเต็ม
แนวทางการขับเคลื่อนแผน
แผนปฏิบัติการฯ ได้กำหนดแนวทางขับเคลื่อนการดำเนินงานของแผนปฏิบัติการฯ โดยการจัดทำระบบติดตามและประเมินผลเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะช่วยให้สามารถติดตามความก้าวหน้า ระบุภัยคุกคามที่เกิดขึ้น และการประเมินผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายระดับชาติ การเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อให้อำนาจชุมชนท้องถิ่นผ่านการมีส่วนร่วมและกลไกการแบ่งปันผลประโยชน์ รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ตลอดจนการจัดหาทรัพยากรทางการเงินอย่างยั่งยืนจากแหล่งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
- แผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564
เป็นกรอบการดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดทำแผนแม่บทฯ ได้นำแผนกลยุทธ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2554-2563 และเป้าหมายไอจิ มาเป็นกรอบทิศทางในการดำเนินงาน เพื่อแก้ไขมูลเหตุรากฐานของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมุ่งเน้นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้อง คุ้มครอง และเพิ่มพูนผลประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ ควบคู่กับการสร้างความตระหนัก ความรู้ ความเข้าใจในบทบาทและความสำคัญของความหลากหลากหลายทางชีวภาพที่มีต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ และ 11 มาตรการ รวมทั้งการกำหนดกลไกกระบวนการขับเคลื่อนและติดตามประเมินผล ซึ่งเป็นการบูรณาการการจัดการร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558
รายละเอียดเพิ่มเติม แผนฉบับเต็ม
รายละเอียดเพิ่มเติม แผ่นพับ
- แผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560-2564
เป็นการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2564 ในช่วงปี พ.ศ. 2560-2564 จัดทำขึ้นโดยมีความเชื่อมโยงและสอดคล้องกับพันธกรณีของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป้าหมายไอจิด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560-2564 เพื่อมุ่งสู่ประเทศไทยที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน บนพื้นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ โดยถ่ายทอด ยุทธศาสตร์และมาตรการตามแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการกำหนดเป้าหมาย และตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการ แต่ละเรื่องให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์หลัก 4 ด้าน แผนปฏิบัติการ 10 เรื่อง และ 29 มาตรการ ซึ่งมีสาระสำคัญในการมุ่งเน้นการเสริมสร้างความตระหนักและให้การศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ปกป้องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรพันธุกรรม การลดภัยคุกคาม การจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่น การพัฒนาองค์ความรู้และฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพ และการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอตั้งงบประมาณ เพื่อดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการฯ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561–2564
- แผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558-2559
จัดทำขึ้นเพื่อรองรับและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558 – 2564 ในระยะเร่งด่วน โดยถ่ายทอดยุทธศาสตร์และมาตรการตามแผนแม่บทฯ ไปสู่การปฏิบัติ กำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนปฏิบัติการแต่ละเรื่องให้สอดคล้องกับเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพโดยมีประเด็นสำคัญในการดำเนินงาน ได้แก่ การสร้างความตระหนัก ความรู้ความเข้าใจในความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปกป้องคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ และการลดภัยคุกคามต่างๆ รวมถึง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปกป้องคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรม การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ และการจัดการองค์ความรู้และฐานข้อมูล โดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่กำหนดไว้ รายละเอียดเพิ่มเติม
- นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
-
- ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2551-2555) นโยบาย มาตรการฯ ฉบับนี้ ได้นำเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2010 ของการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนมากำหนดเป็นเป้าหมายหลัก และได้กำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และแนวทางการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ตอบสนองแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเจตนารมณ์ให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมีนัยสำคัญ ภายในปี ค.ศ. 2010 หรือ พ.ศ. 2553 โดยเน้นการเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นฐานที่มั่นคงสำหรับการดำรงชีวิตของคนไทย ควบคู่กับการวิจัยคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างกลไกในการเข้าถึงและมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม นโยบาย มาตรการฯ ฉบับนี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 รายละเอียดเพิ่มเติม
-
- ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2546-2550) นโยบาย มาตรการฯ ฉบับที่ 2 ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อสนองตอบความจำเป็นและความต้องการของประเทศ ที่เอื้อต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานในท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา รวมถึง ให้ความรู้ความตระหนักแก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังได้ผนวกแผนปฏิบัติการที่ตอบสนองต่ออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบเชิงระบบนิเวศของความหลากหลายทางชีวภาพไว้ในนโยบาย มาตรการฯ ด้วย ทั้งนี้ นโยบาย มาตรการฯได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2545 รายละเอียดเพิ่มเติม
-
- ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2541-2545) นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เป็นแผนระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพฉบับแรกของประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากยังไม่มีนโยบายและแผนปฏิบัติการที่เน้นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะ นโยบายและมาตรการฯ เป็นแนวทางพื้นฐานและเป็นคู่มือให้หน่วยงานและประชาชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ครอบคลุมในทุกประเด็น และสอดคล้องกับตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นการให้ความรู้ความตระหนักแก่สาธารณชนเป็นประเด็นหลัก นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสมรรถนะแก่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และสถาบันการศึกษา เนื่องจากสาธารณชนยังขาดความรู้ และความตระหนักถึงคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นอุปสรรคของการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ นโยบาย มาตรการฯ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 รายละเอียดเพิ่มเติม
-