เขตห้ามล่าสัตว์ป่าอ่างเก็บน้ำห้วยตลาด
ที่ตั้งและขอบเขต
อ่างเก็บน้ำห้วยตลาด ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเสม็ด ต.สะแกชำ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางตะวันตกเฉียงใต้ 11 กิโลเมตร เป็นที่ลุ่มเกิดจากการยุบตัวของแผ่นดิน รับน้ำจากพื้นที่ข้างเคียง ไหลลงแม่น้ำมูล
สถานภาพทางกายภาพ
ในฤดูฝนมีน้ำลึกที่สุดประมาณ 5-7 เมตร ในฤดูแล้งน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลงถึงร้อยละ 75 เหลือบริเวณที่ลึกที่สุดเพียง 1 เมตร มีหมู่บ้านล้อมรอบ บริเวณที่ลุ่มที่ไม่มีน้ำขังมีการทำนา พื้นที่โคยรวมมีสภาพค่อนข้างราบเรียบ
สถานภาพทางชีวภาพ
เคยมีการสำรวจพบนก 30 ชนิด ปัจจุบันเป็นที่พักอาศัยทำรังของนกน้ำจำนวนมาก พบนกอย่างน้อย 11 ชนิด เป็นนกน้ำ นกชายเลน 3 ชนิด นกประจำถิ่นประมาณ 1 ชนิด นกอพยพแต่มิใช่เพื่อการผสมพันธุ์ประมาณ 10 ชนิด ชนิดที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered) ได้แก่ นกกระสาแดง (Ardea purpurea) พบประมาณ 100 ตัว ชนิดที่พบเป็นจำนวนมาก ได้แก่ นกยางโทนน้อย (Egretta intermedia) พบประมาณ 2,500 ตัว นกเด้าดินอกแดง (Anthus cervinus) พบประมาณ 700 ตัว นกนางแอ่นทรายสร้อยคอดำ (Riparia riparia) พบประมาณ 464 ตัว นกเด้าดินทุ่ง (Anthus novaeseelandiae) ประมาณ 200 ตัว นอกจากนี้ยังพบเหยี่ยวทุ่ง (Circus spilonotus) เหยี่ยวด่างดำขาว (C. melanoleucos) นกหัวโตหลังจุดสีทอง (Pluvialis fulva) นกจาบปีกอ่อนอกเหลือง (Emberiza aureola) เป็นต้น
พบปลาอย่างน้อย 18 ชนิด เป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) 5 ชนิด ได้แก่ ปลาซิวหางแดง (Rasbora borapetensis) ปลายี่สกเทศ (Labeo rohita) ปลาตะเพียนขาว (Puntius gouiouotus) เป็นต้น ปลาในวงศ์ปลาหมอ (Anabantidae) 2 ชนิด ได้แก่ ปลากระดี่หม้อ (Trichogaster trichopterus) ปลาสลิด (T. pectoralis) ปลาเศรษฐกิจ ได้แก่ ปลาสลาด (Notopterus notopterus)
ปลากระสูบจุด (Hampala dispar) ปลาแขยงข้างลาย (Mystus mysticetus) ปลาบิ๊กอุย (ลูกผสมระหว่าง Clarias macrocephalus และ Clarias gareipinnus) ปลาหมอช้างเหยียบ (Pristolepis fasciatus) ปลาช่อน (Channa striatus)
พบพันธุ์ไม้น้ำทั้งหมด 43 ชนิด โดยพบบัวหลวงมากที่สุด รองลงมา คือ ผักตบชวา กกสามเหลี่ยมหรือผือ และจอกหูหนู พันธุ์พืชใต้น้ำพบมากที่สุด คือ สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายเส้นด้าย และดีปลีน้ำ บริเวณคันดินรอบอ่างเก็บน้ำพบ ไม้ยืนต้นทั้งหมด 14 ชนิด มีไม้เด่น คือ กระถินณรงค์ และมะขามเทศ และขี้เหล็กไทย