ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี
ศูนย์ศึกษาธรรมชาติกองทัพบก (บางปู) เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี จัดตั้งปี พ.ศ. 2548 ตั้งอยู่ภายในบริเวณกองอำนวยการสถานพักผ่อน กรมพลาธิการทหารบก ด้วยความร่วมมือของกองทัพบก และWWF ประเทศไทย สนับสนุนโดย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด มีวัตถุประสงค์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 72 พรรษา แห่งองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ พระบรมราชินีนาถ เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลน ในพื้นที่ป่าชายเลนดั้งเดิม และปลูกเสริมเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าใหม่ในพื้นที่อ่าวไทยตอนใน และเพื่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่เยาวชนและผู้ที่สนใจทั่วไป
ที่ตั้งและขอบเขต
สถานตากอากาศบางปู พื้นที่ 639 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่ป่าชายเลน นากุ้งเก่า ร้านอาหาร บ้านพัก และพื้นที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ 338 ไร่ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ ประกอบด้วยระบบนิเวศสำคัญ 3 แบบ
- ที่ลุ่มน้ำเค็ม พื้นที่ 24 ไร่ (7%) เป็นลักษณะของบ่อน้ำ ที่มีการปรับปรุงให้เป็นพื้นที่โล่ง เพื่อเป็นแหล่งรองรับนกในฤดูกาลอพยพ และมีการระบายน้ำ ตามการขึ้น-ลงของน้ำทะเล
- หาดโคลน พื้นที่ 64 ไร่ (19%) เป็นพื้นที่โล่งกว้าง จะมีนกอพยพมาหากินในฤดูกาลอพยพ เป็นดินโคลนปากแม่น้ำเจ้าพระยา แหล่งอาศัยของสัตว์หน้าดินจำนวนมาก
- ป่าชายเลน 250 ไร่ (74 %) ประกอบด้วย ป่าชายเลนบริเวณชายฝั่ง 10 % และบริเวณด้านหลังชายฝั่ง 64 %
สถานภาพทางกายภาพ
ความหลากหลายของพืช
จากการบันทึกไว้มีทั้งหมด 66 ชนิด โดยพืชที่พบมากที่สุด คือ แสมทะเล แสมยาว และโกงกาง
ความหลากหลายของสัตว์
นกมากกว่า 300 ชนิดพันธ์ (ในฤดูกาลอพยพ) ปลา 21 ชนิด สัตว์เลื้อยคลาน 18 ชนิด สัตว์ขาปล้อง 381 ชนิด
การบริหารจัดการศูนย์ศึกษาธรรมชาติฯ
- การปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นแหล่งพักอาศัยของนกอพยพ : การพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำเค็มเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เหมาะสมแก่การอยู่อาศัยและหากินของนกน้ำ การดำเนินการในแต่ละปี นำต้นไม้ที่เกิดในบึงออก เพื่อให้เป็นบึงที่มีน้ำเป็นบริเวณกว้าง และทำระบบการไหลเวียนน้ำให้ไหลได้ตลอดเวลา
- การสำรวจและนับนกช่วงฤดูอพยพ : การสำรวจและนับนกประจำปี (Asian Waterbird Census : Big Day) ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนการสำรวจชนิดนกและประชากรของกลุ่มนกในพื้นที่ของสถานตากอากาศบางปู เพื่อเป็นฐานข้อมูลร่วมกันทั้งของประเทศและของโลก (E -Bird) ประชากรนกที่พบมากที่สุด คือ นกนางนวลธรรมดา มีจำนวนสูงสุดในปี 2561 และเป็นนกที่พบได้มากที่สุดในบางปู รองลงมา คือ นกปกแอ่นหางดำ และนกหัวโตหลังจุดสีทอง (มีจำนวนสูงสุดเมื่อปี 2559) เป็นข้อมูลที่ทางศูนย์แชร์ลงใน ebird และนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์
- การตรวจหาเชื้อโรคของนกนางนวล : ร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังและติดตามโรคจากสัตว์ป่า สัตว์ต่างถิ่น และสัตว์อพยพ คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และสถานตากอากาศบางปู ตรวจหาเชื้อโรคของนกนางนวล โดยใช้วิธีการสุ่มตรวจ บริเวณสะพานสุขตา เป็นระยะเวลา 2 วัน ผลการสุ่มตรวจของปี พ.ศ. 2565 ไม่พบเชื้อโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์
- การช่วยเหลือนกบาดเจ็บ : ช่วงฤดูนกพยพจะมีนกนางนวลธรรมดา และนกอื่นๆที่ได้รับบาดเจ็บและถูกนำส่งมาที่ศูนย์จะเป็นจุดพักนกที่ได้รับบาดเจ็บ ประเมินอาการเบื้องต้นและส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการรักษาต่อไป