โครงการติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560 – 2564 ระยะสิ้นสุดแผน : แนวทางปฏิบัติที่ดีในการติดตามผลและการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ (2565)
รายละเอียดโครงการ

- ที่มาความสำคัญ
การดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560 – 2564 และแผนแม่บทบูรณาการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2558 – 2564 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเล็งเห็นความสำคัญในการจัดทำแนวทางปฏิบัติที่ดี โดยมีพื้นที่นำร่องเพื่อสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองอย่างยั่งยืน และพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของชุมชน โดยส่งเสริมแผนงานที่เกื้อหนุนส่งเสริมชุมชนให้มีวิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางชีวภาพ เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประชาชนในทุกระดับ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยการศึกษาวิเคราะห์แนวทางการดำเนินงานในชุมชนนำร่องที่มีการคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์และระบบนิเวศที่เปราะบาง หรือถิ่นที่อยู่ของชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ใกล้สูญพันธุ์ และชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อไป ซึ่งโครงการติดตามประเมินผลแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. 2560 – 2564 ระยะสิ้นสุดแผน : แนวทางปฏิบัติที่ดีในการติดตามผลและการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพนี้เป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องและนำไปสู่ผลลัพธ์ การดำเนินงานที่ตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ด้านการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน ยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 ประเด็นที่ 18 การเติบโตอย่างยั่งยืน การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจ สีเขียว อนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในและนอกถิ่นกำเนิด แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2565) และแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม (พ.ศ. 2560 – 2565) นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับทศวรรษแห่งการฟื้นฟูระบบนิเวศ (United Nation Decade on Ecosystem Restoration 2021 – 2030) อีกด้วย - วัตถุประสงค์
1. เพื่อวิเคราะห์และเสนอแนะแนวทางการขับเคลื่อนและการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพในระยะต่อไป
2. เพื่อให้มีพื้นที่นำร่อง และเพื่อจัดทำแนวทางการปฏิบัติที่ดีในการติดตามผลและการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งประกอบด้วยประเด็นเพื่อขับเคลื่อนการสร้างจิตสำนึก การให้การศึกษา และการสร้างความตระหนัก ที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ใกล้สูญพันธุ์ ชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น และระบบนิเวศในเมือง
3. เพื่อสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ - ผลผลิตของโครงการ
แนวทางปฏิบัติที่ดีในการติดตามและการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ จังหวัดนนทบุรี - ที่ปรึกษา
มหาวิทยาลัยมหิดล - พื้นที่ศึกษา
สวนทุเรียนนนท์ และนกแก้วโม่ง วัดสวนใหญ่ จังหวัดนนทบุรี - ระยะเวลาดำเนินโครงการ
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565