อนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง

ความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม (Multilateral Environmental Agreements: MEAs) เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐตั้งแต่สามรัฐขึ้นไปที่ช่วยแก้ไข
ปัญหาสิ่งแวดล้อม อาทิ การเกิดมลภาวะของแม่น้ำและทะเลที่ส่งผลกระทบต่อประเทศหรือภูมิภาคอื่น การเกิดมลพิษทางอากาศที่กระจายจากประเทศหนึ่งหรือหลายประเทศไปยังประเทศหรือภูมิภาคอื่น ซึ่งจำเป็นต้องมีการดำเนินการพหุภาคีเพื่อให้เกิดผลทั้งในระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก ทั้งนี้ แต่ละ MEA มีประเด็นที่พิจารณาและกฏเกณฑ์ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมระหว่างรัฐ โดยหนึ่งใน MEA ที่มีขึ้นมาอย่างยาวนานได้แก่ อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1971 และจากนั้นเป็นต้นมา ก็มีอนุสัญญาและความตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นมากมาย

ที่มา:  UN Environment

อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD)เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมจัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1992 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน

อนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำหรืออนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention on Wetlands) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1971 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์และยับยั้งการลดลงของพื้นที่ชุ่มน้ำในโลก โดยสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาด

อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมรดกโลกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติ หรือ อนุสัญญาคุ้มครอง มรดกโลก” (TheWorldHeritageConvention) เป็นความตกลงระหว่างรัฐภาคี (States Parties) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1972 โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการคุ้มครอง และอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและทางรรมชาติให้ดำรงคุณค่าความโดดเด่นเป็นมรดกของมวลมนุษยชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตตลอดไป

อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรืออนุสัญญาไซเตส (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) เป็นข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศของประเทศสมาชิกที่ร่วมลงนามในอนุสัญญา จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1973 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชป่าในโลก เพื่อประโยชน์แห่งมวลมนุษย์ชาติโดยเน้นทรัพยากรสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือมีการคุกคาม ทำให้มีปริมาณร่อยหรอจนอาจเป็นเหตุให้สูญพันธุ์ วิธีการอนุรักษ์ของ CITES ก็คือ การสร้างเครือข่ายทั่วโลกในการควบคุมการค้าระหว่างประเทศ ( International Trade ) ทั้งสัตว์ป่า พืชป่าและผลิตภัณฑ์ แต่ไม่ควบคุมการค้าภายในประเทศ สำหรับชนิดพันธุ์อื่นๆ (Native Species)

อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่อพยพย้ายถิ่น (Convention on the Conservation of Migratory Species of Wild Animals: CMS) มีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ. 1983 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการอนุรักษ์ทั้งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าบนบกในทะเลและนกที่อพยพย้ายถิ่น

อนุสัญญาว่าด้วยการอารักขาพืชระหว่างประเทศ (InternationalPlantProtection Convention: IPPC) มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาทรัพยากรพืชทั่วโลก ทั้งพืชปลูกและพืชป่า โดยการป้องกันการนำเข้าและการแพร่กระจายของศัตรูพืชและส่งเสริมมาตรการที่เหมาะสมสำหรับการควบคุม อนุสัญญามีการกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศ ว่าด้วยมาตรการสุขอนามัยพืช (International Standards Phytosanitary Measures : ISPMS) และเพื่อช่วยประเทศต่างๆ ในการดำเนินการตาม ISPM และพันธกรณีอื่นๆ ภายใต้ IPPC โดยมีองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ทำหน้าที่เป็นสำนักเลขาธิการอนุสัญญา

สนธิสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยทรัพยากรพันธุกรรมพืชเพื่ออาหารและการเกษตร (International Treaty on Plant Genetic Resources for Food and Agricultural: ITPGR)จัดทําขึ้นในปี พ.ศ. 2526 โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ สงวน ประเมินค่า และดํารงไว้ซึ่งทรัพยากรพืชที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม โดยเฉพาะด้านการเกษตรเพื่อการปรับปรุงพันธุ์พืช และการศึกษาทางวิทยาศาสตร์

คณะกรรมการล่าวาฬระหว่างประเทศ (International Whaling Commission: IWC) มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์วาฬอย่างเหมาะสม และจัดระเบียบการพัฒนาของอุตสาหกรรมการล่าวาฬ

ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.cbd.int/brc/

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันการแก้ไขปัญหาการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพและการเสื่อมโทรมของระบบนิเวศนอกจากการประสานความร่วมมือระว่างอนุสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพแล้วจำเป็นต้องประสานความร่วมมือกับอนุสัญญาอื่น ๆ อาทิ กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change) อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (United Nations Convention to Combat desertification: UNCCD) ตลอดจนการสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ เช่น UNDP UNEP และ FAO เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของ MEA ได้