ระบบนิเวศชายหาด
นิยาม ชายหาด คือ พื้นที่ระหว่างขอบฝั่งถึงแนวน้ำลงต่ำสุดเป็นแถบยาวไปตามชายฝั่งโดยมีวัสดุที่แตกต่างกันตกตะกอนทับถม เป็นบริเวณส่วนหนึ่งของทะเลที่ได้รับอิทธิพล จากน้ำขึ้นและน้ำลง โดยชายหาดเป็นส่วนหนึ่งของทะเลเมื่อน้ำขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดินเมื่อน้ำลง

ลักษณะพื้นที่

ลักษณะของชายหาดโดยทั่วไปขึ้นอยู่กับการเคลื่อนที่ของมวลน้ำ ซึ่งระบบนิเวศชายหาด แบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่

  1. ระบบนิเวศหาดทราย เป็นบริเวณที่พื้นที่ได้รับอิทธิพลจากคลื่นและลมมากบริเวณหนึ่ง
    หาดทรายจะมีขนาดของเม็ดทรายแตกต่างกันตามลักษณะทางภูมิศาสตร์และฤดูกาล
    เป็นพื้นที่ที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้น้อย ซึ่งมักมีความสามารถพิเศษในการฝังตัว ขุดรู เพื่อปรับตัวไปตามระบบนิเวศ
  2. ระบบนิเวศหาดหิน เป็นบริเวณชายหาดที่มีหินแบบต่าง ๆ ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง อาจพบตามชายฝั่งทะเลที่เชื่อมติดต่อกับภูเขา ซึ่งการที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะทำให้เกิดซอกหรืบ ทำให้มีสิ่งที่มีชีวิตอาศัยอยู่จำนวนมาก เป็นพื้นที่ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิต อิทธิพลของคลื่นลมและน้ำขึ้นน้ำลงเป็นหลัก ซึ่งพบว่าสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มักมีวิวัฒนาการเพื่อให้มีรูปร่างที่เหมาะสม และสามารถยึดเกาะกับพื้นหินได้แน่นโดยไม่ถูกคลื่นพัดพาไป
  3. ระบบนิเวศหาดเลน มักเป็นบริเวณชายหาดที่มีความลาดชันต่ำ คลื่นไม่รุนแรง ทำให้ตะกอนเลนที่มีขนาดเล็กและเบามีโอกาสตกตะกอนได้มากกว่าพื้นทะเลบริเวณอื่น เกิดการสะสมตัวของตะกอนละเอียดที่ถูกพัดพาแขวนลอยมากับน้ำจนกลายเป็นลานแบนราบ มักพบตามปากแม่น้ำที่ต่อเชื่อมกับทะเล ชะวากทะเล (Estuary) พบหาดเลนสองฝั่งปากแม่น้ำมีลักษณะคล้ายอ่าว แต่ตอนบนของปากแม่น้ำสอบเข้าคล้ายรูปกรวย เป็นแหล่งสะสมของตะกอนน้ำกร่อยจากแม่น้ำลำคลองผสมกับตะกอนน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำ นอกจากนี้ยังมีพืชป่าชายเลนขึ้น ซึ่งลักษณะรากของพันธุ์ไม้ชายเลนช่วยดักตะกอน สารอาหารและแร่ธาตุ จึงทำให้พื้นที่บริเวณนี้มีสิ่งมีชีวิตมาอาศัยจำนวนมาก
  4. ระบบนิเวศป่าชายหาด เป็นป่าไม่ผลัดใบพบขึ้นตามชายฝั่งทะเลที่เป็นดินทรายซึ่งน้ำทะเลท่วม
    ไม่ถึงหรือบริเวณหาดทรายเก่าที่ยกตัวสูงขึ้น หรือบริเวณที่หินชิดฝั่งทะเลดินค่อนข้างเค็ม พืชขึ้นเป็นแนวแคบ ๆ หรือกระจัดกระจายเป็นหย่อม ได้รับไอเค็ม (Salt Spray) จากทะเลพัดเข้าถึงตลอดเวลา พรรณพืชส่วนใหญ่เป็นพืชทนเค็ม (Halophytes) ลำต้นคดงอด้วยแรงลม (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, ๒๕๖๓)

ปี 2560 พบว่า ประเทศไทยมีแนวหาดทราย 1,630.70 กิโลเมตร หาดทรายปนเลน 146.10 กิโลเมตร หาดเลน 874.50 กิโลเมตร หาดหิน 326.20 กิโลเมตร ปากแม่น้ำ 144.80 กิโลเมตร และพื้นที่ถมทะเล 26.00 กิโลเมตร และจากการสำรวจพื้นที่ป่าชายหาด ในปี 2561 มีพื้นที่ที่ยังคงสภาพป่าชายหาด 23,687.78 ไร่ ซึ่งลดลงจาก พ.ศ. 2557 พบมีพื้นที่รวม 25,844.38 ไร่ ใน 13 จังหวัด

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต

สังคมพืช

กลุ่มพืชบก

สังคมพืชชายหาดบริเวณเขตอนุรักษ์ทะเลอันดามันอยู่ในเขตการกระจายพันธุ์พืชที่เรียกว่า “Kra Ecotone” จึงมีพันธุ์ไม้ที่ไม่เหมือนสังคมพืชชายหาดที่ใดในเขตร้อนของทวีปเอเชีย เพราะมีพันธุ์ไม้ที่กระจายพันธุ์ลงมาจากทางเหนือที่อยู่ในเขตการกระจายพันธุ์พืชทางพฤกษภูมิศาสตร์ในเขต Continental south-east Asian region เช่น พะยอม (Shorea roxburghii) สักน้ำ (Vatica harmandiana) และพันธุ์ไม้ที่กระจายพันธุ์ขึ้นมาจากทางใต้ที่อยู่ในเขตการกระจายพันธุ์พืชทางพฤกษภูมิศาสตร์ในเขต Malesian region เช่น เข็ดตะขาบ (Styphelia malayana) อีกทั้งยังพบพืชจำพวกที่มีเมล็ดเปลือย (Gymnosperms) ที่หายากและยังไม่เคยมีรายงานว่าพบในสังคมพืชชายหาดมาก่อน ได้แก่ พญาไม้ (Podocarpus neriifolius)

พันธุ์ไม้ชายหาดและป่าชายหาดที่พบส่วนใหญ่ เช่น ผักบุ้งทะเล (Ipomoea pes-caprae) หญ้าลอยลม (Spinifex littoreus) หญ้าไหวทาม (Ischaemum muticum) เตยทะเล (Pandanus odoratissimus) รักทะเล (Scaevola taccada) โกงกางหูช้าง (Guettarda speciosa) สำมะงา (Clerodendrum inerme) ช้าเลือด (Premna obtusifolia) เมา (Syzygium grande) เสม็ดชุน (Syzygium gratum) ยางนา (Dipterocarpus alatus) ยางวาด (Dipterocarpus chartaceus) พันจำ (Vatica harmandiana) เคี่ยม (Cotylelobium Ianceolatum) พบตัวอย่างไบรโอไฟต์ทั้งหมด 37 ชนิด จัดเป็นลิเวอร์เวิร์ต 26 ชนิดและมอส 11 ขนิด โดยลิเวอร์เวิร์ตวงศ์ที่พบมากที่สุด คือ วงศ์ Lejeuneaceae ๑๙ ชนิด ส่วนมอสวงศ์ที่พบมากที่สุดคือ วงศ์ Calymperaceae 5 ชนิด

กลุ่มสาหร่าย เช่น ไดอะตอม สาหร่ายกลุ่มสีเขียวแกมน้ำเงิน (Lyngbya sp.) สาหร่ายเห็ดหูหนู สาหร่ายใบมะกรูด สาหร่ายสีน้ำตาล สาหร่ายสีแดง สาหร่ายไส้ไก่ (Enteromorpha spp.) เป็นต้น

กลุ่มไลเคน เช่น Verrucaria spp. เป็นต้น

สังคมสัตว์

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง

  • กลุ่มฟองน้ำ เช่น ฟองน้ำเคลือบผิว (Haliclona spp.) เป็นต้น
  • กลุ่มไนดาเรีย เช่น ดอกไม้ทะเล (Epiactis spp.) เป็นต้น
  • กลุ่มแพลทีเฮลมินธิส เช่น หนอนตัวแบน (Pseudoceros sp.) เป็นต้น
  • กลุ่มนีเมอร์เทีย เช่น หนอนริบบิ้น (Nemertean worms) เป็นต้น
  • กลุ่มแอนเนลิดา ได้แก่ ไส้เดือนทะเล (Polychaete worms) เช่น ไส้เดือนทะเล Pectinaria ไส้เดือนทะเล Terebellid หนอน Chaetopterus, Glycerids, Onuphinids, Nereids, Arenicolid และ Spionids เช่น บุ้งทะเล (Chloeia sp.) ไส้เดือนทะเล (Glycera sp.) แม่เพรียง (Eunice spp.) เพรียงทราย (Perinereis spp.) ไส้เดือนทะเลปลอกเรียบ (Branchiomma spp.) หนอนท่อ เป็นต้น และเอไคยูรา เช่น หนอนช้อน (Echiuran worms) เป็นต้น
  • กลุ่มไซปันคูลา เช่น หนอนถั่ว (Sipunculan worms) เป็นต้น
  • กลุ่มครัสเตเชียน ได้แก่ แอมฟิพอด เช่น กุ้งเต้น (Floresorchestia sp.) เป็นต้น ไอโซพอด เช่น แมลงสาบทะเล (Ligia sp.) เป็นต้น เพรียงหิน เช่น Chthamalus sp., Euraphia sp., Tetraclita sp., Newmanella sp., Amphibalanus sp. และ Megabalanus tintinnabulum เป็นต้น ปู เช่น ปูเสฉวน (Clibanarius infraspinatus, Clibanarius longitarsus) ปูลม (Ocypode stimpsoni) ปูลมใหญ่ (Ocypode ceratophthalmus) ปูทหาร (Dotilla myctiroides) ปูตัวแบน (Petrolisthes sp.) ปูหนุมาน (Matuta victor) ปูแสมแกละ (Grapsus albolineatus) ปูใบ้ (Leptodius exaratus) ปูมะพร้าว (Birgus latro) ปูกระดุม (Leucosia longifrons) ปูหิน (Thalamita crenata) ปูหินขาลาย (Charybdis annulata) ปูก้ามหัก (Macrophthalmus laerimanus) เป็นต้น กุ้ง เช่น กุ้งดีดขัน (Alpheus sp.) เป็นต้น กั้ง เช่น กั้งตั๊กแตนเขียว (Oratosquilla solicitans) เป็นต้น และจักจั่นทะเล เช่น จักจั่นนางแอ่น (Albunea symmysta, Albunea steinitzi) จักจั่นทะเลธรรมดา (Emerita emeritus) จักจั่นควาย Hippa adactyla, Hippa celaeno และ Hippa truncatifrons เป็นต้น
  • กลุ่มหอยปากเป็ด เช่นหอยปากเป็ด (Brachiopods) เป็นต้น
  • กลุ่มมอลลัสกา ได้แก่ หอยฝาเดียว เช่นหอยหมวกเจ๊ก (Patella sp., Siphonaria sp.) หอยน้ำพริก (Littorina spp.) หอยเจดีย์ (Turritella duplicata) หอยทับทิม (Umbonium vestiarium) หอยวงพระจันทร์ (Polinices didyma) หอยกะทิ (Nerita sp.) หอยกระต่าย (Phalium sp.) หอยขี้นกปิรามิด (Nodilittorina pyramidalis) หอยไข่นกกระทา (Bulla ampulla) หอยกระดุม (Agaronia nebulosa) หอยมะระ (Thais sp.) หอยถั่วเขียว (Clithon oualaniensis) หอยมะระปุ่ม (Morula granulata) หอยพลูจีบ (Terebra areolata) หอยชักตีน (Strombus canarium) หอยปากกระจาด (Nassarius sp.) เป็นต้น หอยสองฝาเช่น หอยเสียบ (Donax spp.) หอยตลับ (Meretrix meretrix) หอยนางรมปากจีบ (Saccostrea cucullata) หอยแมลงภู่ (Perna viridis) หอยหลอด (Solen regularis) หอย (Tellina sp.) หอยแครง (Anadara granosa) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีลิ่นทะเล (Acanthopleura granulata) และทากทะเล
  • กลุ่มเอคไคโนเดิร์ม เช่นดาวทะเล (Archaster typicus) ดาวเปราะหนาม (Ophiocoma erinaceus) ปลิงทะเล (Holothuria leucospilota) เม่นทะเล (Diadema setosum) เหรียญทะเล (Echinodiscus tenuissimus) เป็นต้น
  • กลุ่มเฮมิคอร์ดาตา เช่น Enteropneusta worms เป็นต้น

สัตว์มีกระดูกสันหลัง

  • กลุ่มสัตว์ปีกได้แก่ นกชายเลน (Shore birds) เช่น นกชายเลนปากช้อน (Calidris pygmaea) นกกระแตผีชายหาด (Esacus magnirostris) นกกระแตผีใหญ่ (‎Esacus recurvirostris) นกหัวโตมลายู (Charadrius peronii) นกหัวโตทรายเล็ก (Charadrius mongolus) นกปากช้อนหน้าดำ (Platalea minor) นกชายเลนปากกว้าง (Limicola falcinellus) นกซ่อมทะเลปากยาว (Limnodromus scolopaceus) นกปากแอ่นหางลาย (Limosa lapponica) นกสติ๊นท์คอแดง (Calidris ruficollis) นกทะเลขาเขียวลายจุด (Tringa guttifer) นกอีก๋อยใหญ่ (Numenius arquata) เป็นต้น นกน้ำ (Water birds) เช่น นกตะกรุม (Leptoptilos javanicus) นกกาบบัว (Mycteria leucocephala) นกกระทุง (Pelecanus philippensis) นกกระสาแดง (Ardea purpurea) นกกระสานวล (Ardea cinerea) นกกาน้ำปากยาว (Phalacrocorax fuscicollis) นกยางเปีย (Egretta garzetta) นกยางทะเล (Egretta sacra) นกยางโทนใหญ่ (Ardea modesta) นกยางกรอกพันธุ์อินเดีย (Ardeola grayii) นกยางกรอกพันธุ์ชวา (Ardeola speciosa) นกตีนเทียน (Himantopus himantopus) นกเป็ดผีเล็ก (Tachybaptus ruficollis) เป็นต้น นกป่า (Forest birds) เช่น นกจับแมลงจุกดำ (Hypothymis azurea) นกจาบดินอกลาย (Pellorneum ruficeps) นกบั้งรอกใหญ่ (Phaenicophaeus tristis) เป็นต้น นกทะเล (Seabirds) เช่น นกนางนวลแกลบท้องดำ (Sterna acuticauda) นกนางนวลแกลบจีน (Thalasseus bernsteini) นกนางนวลแกลบสีกุหลาบ (Sterna dougallii) นางนวลแกลบเคราขาว (Chlidonias hybrida) นกนางนวลธรรมดา (Larus brunnicephalus) นกนางนวลปากเรียว (Chroicocephalus genei) นกนางนวลขอบปีกขาว (Chroicocephalus ridibundus) นางนวลแกลบท้ายทอยดำ (Sterna sumatrana) เป็นต้น
  • กลุ่มเลื้อยคลานได้แก่ จิ้งจกและตุ๊กแกเช่น จิ้งจกนิ้วยาวไทย (Cnemaspis siamensis) ตุ๊กแกป่าคอขวั้น (Cyrtodactylus oldham) เป็นต้น กิ้งก่า เช่น กิ้งก่าบินมลายู (Draco obscurus) เป็นต้น ตะกวด เช่น ตะกวด (Varanus bengalensis) เหี้ย (Varanus salvator) เห่าช้าง (Varanus rudicollis) จิ้งเหลนบ้าน (Eutropis multifasciata) เป็นต้น งู เช่น งูทางมะพร้าวลายขีด (Elaphe radiata) งูเขียวพระอินทร์ (Chrysopelea ornata) เป็นต้น เต่าทะเลในประเทศไทยพบเต่าทะเลทั้งหมด ๕ ชนิด จัดอยู่ใน ๒ วงศ์ ได้แก่ เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) เต่าตนุ (Chelonia mydas) เต่ากระ (Eretmochelys Imbricata) และเต่าหญ้า (Lepidochelys olivacea) โดยมีรายงานพบการขึ้นวางไข่บนชายหาดทั้งฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย
  • กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบไม่น้อยกว่า 15 ชนิด เช่น อีเก้ง (Muntiacus muntjak) พังพอนธรรมดา (Herpestes javanicus) เสือปลา (Prionailurus viverrinus) แมวดาว (Prionailurus bengalensis) แมวป่า (Felis chaus) เป็นต้น

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศชนิดพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ (Flagship species) ได้แก่

  1. เต่าทะเล ได้แก่ เต่ามะเฟือง เต่าตนุ เต่ากระ เต่าหญ้า และเต่าหัวค้อน เนื่องจากเป็นสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เต่าทะเลมีจำนวนประชากรลดลงอย่างมาก แหล่งที่อยู่อาศัยในธรรมชาติถูกรบกวน แหล่งอาหาร พื้นที่อยู่อาศัยและแหล่งวางไข่มีน้อยลง รวมทั้งมีอัตราการตายที่สูงขึ้นจากการกินขยะพลาสติกและการติดเครื่องมือประมง จึงต้องมีการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน
  2. นกหัวโตมลายู เป็นนกหัวโตชนิดเดียวที่อาศัยประจำถิ่นในประเทศไทย เนื่องจากนกหัวโตมลายูต้องการหาดทรายที่เงียบสงบปราศจากการรบกวนเป็นแหล่งทำรัง ซึ่งปัจจุบัน
    หาดทรายส่วนใหญ่ถูกคุกคามอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายหาด
  3. นกชายเลนปากช้อน เป็นนกอพยพที่มีสภาพภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งในระดับโลก (Critically Endangered) จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในหลายจุดบนเส้นทางการอพยพ การเสื่อมโทรมของหาดเลนและภาวะแห้งแล้งในแดนทุนดราในประเทศรัสเซีย ส่งผลให้นกสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ทำให้ประชากรของนกชายเลนปากช้อนลดลงอย่างรวดเร็ว จึงต้องให้ความสำคัญและช่วยกันอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน

ชนิดพันธุ์ที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศชายหาด ได้แก่

  1. จักจั่นทะเล โดยจักจั่นทะเลเป็นดัชนีบ่งชี้การปนเปื้อนของกรดโดโมอิกซึ่งเป็นสารพิษ ที่สร้างจากไดอะตอม Pseudo-nitzchia spp. ที่ส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์ การประมง สิ่งมีชีวิตบริเวณชายฝั่ง นอกจากนี้ยังเป็นดัชนีบ่งชี้ผลกระทบจากการเติมทรายให้ชายหาด (Beach nourishment) เนื่องจากการเติมทรายเป็นการรบกวนแหล่งที่อยู่อาศัย ทำให้น้ำทะเลขุ่น ขนาดเม็ดทรายและสารอาหารเปลี่ยนแปลง ซึ่งจักจั่นทะเลจะหลีกเลี่ยงบริเวณดังกล่าว
  2. กุ้งเต้น โดยกุ้งเต้นเป็นดัชนีในการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพของระบบนิเวศ เช่น ผลกระทบจากคราบน้ำมัน ความเป็นพิษของตะกอนที่ปนเปื้อน สารตกค้างจากสีกันเพรียง โลหะหนัก นอกจากนี้ยังใช้ในการทำ Bioassay เพื่อทดสอบความเป็นพิษ (Toxicant) หรือมลภาวะ (Pollutant) เพราะกุ้งเต้นเป็นกลุ่มสัตว์ที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศมากกว่าสัตว์กลุ่มอื่น ๆ
  3. ปูทหารและปูลม ด้วยกระบวนการขุดรูและกินอาหารของกลุ่มปูทหารและปูลมทําให้เกิดการย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิตที่อยู่บนตะกอน ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนของธาตุอาหารและการไหลของพลังงานในระบบนิเวศหาดทราย ช่วยเพิ่มปริมาณออกซิเจนในทราย ทําให้เกิดดินตะกอนที่มีคุณภาพเหมาะสําหรับเป็นที่อยู่อาศัยให้กับสัตว์ขนาดเล็ก และยังช่วยเพิ่มอัตราการย่อยสลายในดินตะกอนด้วย ดังนั้น ปูทหารและปูลม จึงสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของชายหาดได้
  4. หอยเสียบและหอยทับทิม หอยกลุ่มนี้สามารถปรับตัวได้ดีทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น
    กินแพลงก์ตอนและสารอินทรีย์ที่แขวนลอยในน้ำทะเลเป็นอาหาร โดยการกรองอาหารจากน้ำทะเลที่ผ่านเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งจากคุณลักษณะดังกล่าวหอยเสียบและหอยทับทิม จึงถูกนำมาใช้เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพถึงการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับระบบนิเวศชายฝั่งทะเล เช่น การเดินเหยียบย่ำชายหาด การปล่อยของเสียและสิ่งปฏิกูลจากนักท่องเที่ยว การตกค้างของปริมาณสารเคมีและโลหะหนักในแหล่งน้ำ
  5. ลิ่นทะเลและหอยหมวกเจ๊ก เป็นผู้บริโภคลำดับต้น ๆ ในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศชายหาด ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้กินซากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก ทั้งแพลงก์ตอนพืช แพลงก์ตอนสัตว์ สาหร่าย และไลเคน อีกทั้งมีการเคลื่อนที่น้อยทำให้เหมาะต่อการเป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ เช่น การตกค้างของปริมาณสารเคมีและโลหะหนัก
  6. ผักบุ้งทะเล เป็นพืชเบิกนำในระบบนิเวศป่าชายหาด เนื่องจากมีระบบรากที่สานกัน
    เป็นร่างแหช่วยยึดหน้าทรายเอาไว้ เมื่อรากเจริญเติบโตจนเป็นเถาก็จะช่วยยึดทราย
    ให้มั่นคงมากยิ่งขึ้น ผักบุ้งทะเลสามารถเลื้อยครอบคลุมพื้นที่ออกไปได้ไกล ซึ่งการมีผักบุ้งทะเลจะช่วยเป็นที่ยึดเหนี่ยวของเมล็ดหญ้าและไม้ใหญ่บางชนิด ดังนั้น ผักบุ้งทะเล จึงเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของป่าชายหาด รวมทั้งการบุกรุกพื้นที่ป่าชายหาดได้เป็นอย่างดี

ชนิดพันธุ์หายากหรือถูกคุกคาม (IUCN Red List) ได้แก่

  1. ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ เต่ากระ (Eretmochelys imbricata) นกชายเลนปากช้อน (Calidris pygmaea) นกกระแตผีใหญ่ (‎Esacus recurvirostris) นกนางนวลแกลบจีน (Thalasseus bernsteini) เป็นต้น
  2. ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ เต่าตนุ (Chelonia mydas) (สถานภาพในประเทศไทย: CR) นกปากช้อนหน้าดำ (Platalea minor) นกทะเลขาเขียวลายจุด (Tringa guttifer) นกอีก๋อยตะโพกสีน้ำตาล (Numenius madagascariensis) (สถานภาพในประเทศไทย: VU) นกน็อตใหญ่ (Calidris tenuirostris) (สถานภาพในประเทศไทย: VU) นกนางนวลแกลบท้องดำ (Sterna acuticauda) (สถานภาพในประเทศไทย: CR) ลิงกัง (Macaca nemestrina) (สถานภาพในประเทศไทย: VU) เป็นต้น
  3. ชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ เต่ามะเฟือง (Dermochelys coriacea) (สถานภาพในประเทศไทย: CR) เต่าหญ้า (Lepidochyles olivacea) (สถานภาพในประเทศไทย: CR) นกยางจีน (Egretta eulophotes) นกตะกรุม (Leptoptilos javanicus) (สถานภาพในประเทศไทย: CR) ปูมะพร้าว (Birgus latro) เสือปลา (Prionailurus viverrinus) (สถานภาพในประเทศไทย: EN)ลิงแสม (Macaca fascicularis) (สถานภาพในประเทศไทย: LC) เป็นต้น
  4. ชนิดพันธุ์ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ นกอีก๋อยใหญ่ (Numenius arquata) นกซ่อมทะเลอกแดง (Limnodromus semipalmatus)
    นกกระแตผีชายหาด (Esacus magnirostris) (สถานภาพในประเทศไทย: CR) นกหัวโตมลายู (Charadrius peronii) (สถานภาพในประเทศไทย: EN) นกกาบบัว (Mycteria leucocephala) เป็นต้น

ชนิดพันธุ์ที่พบใหม่ ได้แก่

  1. ไส้เดือนชายหาด Pontodrilus longissimus (Seesamut, 2018) พบบริเวณชายหาด
    ของประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย
  2. ไส้เดือนทะเล Heptaceras hyllebergi (Nateewathana, 1988) พบบริเวณหาดกะตะ จังหวัดภูเก็ต
  3. ปูทหารปากบารา Mictyris thailandensis (Davie et al. 2013 พบบริเวณหาดปากบารา จังหวัดสตูล
  4. ไส้เดือนทะเล Solomononereis phuketensis (Nateewathana, 1992) พบบริเวณหาดโคลนฝั่งตะวันตกของจังหวัดภูเก็ต

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญในการนำมาใช้ประโยชน์ ได้แก่

  1. การประมงเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ เช่น จักจั่นทะเล หอยลาย หอยเสียบ หอยตลับ หอยแครง หอยหลอด หอยชักตีน หอยกะทิ เป็นต้น
  2. การท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น กิจกรรมการดูนกชายเลน เป็นต้น
  3. เครื่องประดับตกแต่งสวยงาม เช่น หอยทับทิม หอยกระจก เป็นต้น
  4. การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยนำมาเป็นอาหารสัตว์น้ำ เช่น กุ้งเต้น เพรียงทราย เป็นต้น

ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ

ปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศชายหาด ได้แก่

  • การกัดเซาะชายหาดหรือก่อสร้างบริเวณชายหาด เช่น แนวกันคลื่น ท่าเทียบเรือ ฯลฯ หาดทรายเป็นบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย การก่อสร้างโครงสร้างที่ผิดหลักการ ทำให้เกิดการสูญเสียหาดทราย ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณตอนบนของหาดทรายมีลักษณะเป็นเนินสองชั้น เนินชั้นในจะเป็นพื้นที่ที่อยู่ตัวแล้วมีต้นไม้ขึ้นยึดพื้นทราย ส่วนเนินชั้นหน้านั้นจะมีพืชคลุม เช่น ผักบุ้งทะเล เนินชั้นหน้านี้จะไม่อยู่ตัว มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล ดังนั้นการก่อสร้างใดก็ตามจะต้องอยู่หลังเนินทรายชั้นในจะดีที่สุด แต่พบว่าการก่อสร้างที่เกิดขึ้นนั้น โดยเฉพาะที่พักตากอากาศมักเกิดขึ้นบริเวณเนินทรายด้านหน้าเพื่อให้ใกล้ทะเลมากสุด ทำให้เวลาที่คลื่นจัดจะกระทบกับสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นและสะท้อนกลับออกไป พร้อมกับหอบเอาทรายกระจายออกไปในทะเลและไม่สามารถพัดพากลับมาได้อีก บริเวณชายหาดที่มีการก่อสร้างเช่นนี้จะพังและมีความชันมากขึ้นทุกปี จนในที่สุดจะสูญเสียชายหาดไป การทำโครงสร้างที่ยื่นออกไปในทะเล เช่น ท่าเรือ การสร้างแนวกันคลื่นที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งการถมทะเลก็เช่นกัน หากไม่มีการคำนวณ และศึกษาอย่างละเอียดแล้วเป็นสาเหตุให้หาดทรายใกล้เคียงพังทลายลงไปได้ เพราะโครงสร้างหรือส่วนที่ถมทะเลออกไปนี้ อาจทำให้เกิดการเปลี่ยนทิศของกระแสน้ำ และทำให้กระแสน้ำชายฝั่งพุ่งเข้าเกยสู่หาดบางบริเวณทำให้พังทลายได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวในด้านอ่าวไทยตั้งแต่ภาคตะวันออก อ่าวไทยตอนบน และภายใต้ฝั่งอ่าวไทยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเขตอุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย มีพื้นที่ที่มีอัตราการกัดเซาะรุนแรงเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตร ใน 12 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส และพื้นที่ที่มีอัตราการกัดเซาะปานกลางเฉลี่ย 1-5 เมตรต่อปี มี 16 จังหวัด ได้แก่ ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎ์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ทั้งนี้ชายฝั่งทะเลบริเวณอ่าวไทยตอนบนตั้งแต่ปากแม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา จนถึงปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวและมีการกัดเซาะขั้นรุนแรงมากที่สุด ส่วนการกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านทะเลอันดามันเกิดขึ้นน้อยกว่าชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยโดยพื้นที่ที่มีการกัดเซาะรุนแรงในอัตราเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี ใน 5 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล และพื้นที่ที่มีอัตราการกัดเซาะปานกลางเฉลี่ย 1-5 เมตรต่อปีใน 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล โดยทั่วไปพบว่าการกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอันดามันเกิดขึ้นในพื้นที่หาดทรายมากกว่าที่ราบน้ำขึ้นถึงต่อเนื่องกับป่าชายเลน จากการวิเคราะห์สถานการณ์การกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย ใน พ.ศ. 2561 พบว่า ชายฝั่งทะเลมีพื้นที่ประสบปัญหาการกัดเซาะ ความยาวรวม 704.44 กิโลเมตร แบ่งออกเป็น พื้นที่กัดเซาะชายฝั่งที่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้ว ระยะทางรวม 558.71 กิโลเมตร และพื้นที่กัดเซาะที่ยังไม่ดำเนินการแก้ไข ระยะทางรวม 145.73 กิโลเมตร โดยแบ่งออกเป็น พื้นที่กัดเซาะรุนแรง 42.17 กิโลเมตร พื้นที่กัดเซาะปานกลาง 7.64 กิโลเมตร และพื้นที่กัดเซาะน้อย ระยะทาง 95.92 กิโลเมตร ปัจจัยหลักที่ก่อให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง คือ ลักษณะทางกายภาพของชายฝั่งที่ขาดความสมดุลของตะกอน ซึ่งเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การสร้างสิ่งปลูกสร้างกีดขวางเส้นทางการพัดพาของตะกอนตามธรรมชาติ ส่งผลให้เกิดการรบกวนระบบของธรรมชาติ และเกิดผลกระทบต่อเนื่องในพื้นที่ข้างเคียง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสภาพชายหาดอาจส่งผลให้เกิดการสูญพันธุ์ของสัตว์ทะเลหายาก ได้แก่ นกทะเล เต่าทะเล ไม่มีพื้นที่วางไข่ เนื่องจากการบุกรุกแหล่งวางไข่ หรือการเสียสภาพความเหมาะสมของแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล การบุกรุกที่อยู่อาศัย การเพิ่มจำนวนของสิ่งก่อสร้าง การขยายตัวของแหล่งท่องเที่ยว ก็เป็นสาเหตุที่ล้วนทำให้เต่าทะเลไม่สามารถกลับมายังแหล่งวางไข่ได้อีก ทำให้จำนวนประชากรของสัตว์เหล่านี้ลดลง
  • มลพิษทางน้ำ เช่น คราบน้ำมันและน้ำเสียจากชุมชน การเพิ่มขึ้นของสิ่งปลูกสร้าง ร้านอาหาร โรงแรม รวมถึงชุมชนที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น บางแห่งมีการปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเลบริเวณใกล้ชายหาด ทำให้น้ำบริเวณชายหาด เน่าเสีย เกิดมลพิษต่อสัตว์น้ำ คราบน้ำมันที่ถูกปล่อยลงแหล่งน้ำ หรือรั่วไหลจากเรือบริเวณใกล้ชายฝั่ง ส่งผลเสียอย่างมากต่อนกทะเล จะติดและเคลือบขนนกทำให้ไม่สามารถบินได้ และตายในที่สุด นอกจากนี้ปัญหาขยะมูลฝอย จากการทิ้งขยะ และการจัดการปัญหาขยะมูลฝอยที่ไม่ถูกวิธี จะทำให้ปริมาณขยะในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประชากรที่เพิ่มมากขึ้นจะเพิ่มปริมาณขยะมากขึ้นเช่นกัน ขยะเหล่านี้มักย่อยสลายยากหรือใช้เวลานานมาก จึงมีการสะสมและปนเปื้อนอยู่ในชายหาดเพิ่มขึ้น
  • จำนวนนักท่องเที่ยวเข้าใช้พื้นมากเกินไป ความสวยงามของหาดทรายและน้ำทะเลเป็นที่ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวและใช้พื้นที่มากขึ้น ในบางแห่งจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาใช้พื้นที่และใช้ทรัพยากรมากเกินไป เกิดขยะจำนวนมากตกค้างอยู่ในพื้นที่จากพฤติกรรมความมักง่ายของนักท่องเที่ยว มีการส่งเสียงดังจากการทำกิจกรรมบริเวณชายหาด รวมทั้งการใช้แสงไฟที่สว่างเกินไป ส่งผลกระทบกับสิ่งมีชิวิตในบริเวณดังกล่าว เช่น เต่าทะเลซึ่งมีความไวต่อแสงไฟและเสียงทำให้ไม่ขึ้นมาวางไข่ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ล้วนเกินความสามารถในการรองรับของธรรมชาติได้ จึงก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของพื้นที่ชายหาดตามมา
  • การเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล หาดทรายที่พบอยู่ทั่วไปนั้น บางแห่งมีความลาดชันน้อย บางแห่งมีความลาดชันสูง เพราะเป็นบริเวณที่มีคลื่นแรง หาดทรายจะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอในทุกฤดูเนื่องมาจากแรงคลื่น หาดทรายที่มีความลาดชันน้อยและหาดกว้างนั้น เมื่อฤดูที่มีคลื่นแรงจัดความลาดชันของหาดจะมากขึ้น ชายฝั่งจะแคบลง คลื่นที่ซัดชายฝั่งจะหอบเอาทรายกลับลงทะเล เมื่อลมสงบ และคลื่นลดลงทรายจะถูกพัดพากลับเข้ามาสู่ชายหาดตามเดิม การเปลี่ยนแปลงสภาพตามธรรมชาติของแนวชายฝั่งนี้ บางครั้งยังส่งผลต่อพื้นที่อาศัยของประชาชนที่เข้ามาอยู่ใกล้บริเวณชายฝั่งมากเกินไป การกัดเซาะชายฝั่งของคลื่นและลม ทำให้พื้นดินหายไป เกิดการสูญเสียพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนได้
  • การบุกรุกพื้นที่ป่าชายหาดและการรุกรานของพืชต่างถิ่น เนื่องจากป่าชายหาดไม่ค่อยได้รับความสนใจ อีกทั้งพื้นที่ป่าส่วนใหญ่ถูกปรับเปลี่ยนไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น เช่น ตั้งชุมชน ท่าเทียบเรือ สถานที่พักและสถานที่ท่องเที่ยว เช่น โรงแรม รีสอร์ท ทั้งยังมีความเข้าใจ ที่ไม่ถูกต้อง โดยนำเอาชนิดพืชอื่น ๆ เช่น สนทะเล (Casuarina equisetifolia) กระถินณรงค์ (Acacia auriculiformis) กระถินหางกระรอก (Prosopis juliflora) ปาล์มสวยงาม และพืชสวน ซึ่งไม่ได้เป็นพืชดั้งเดิมมาปลูกทดแทนเพื่อความสวยงาม รวมทั้งกรณีการลักลอบตัดไม้เทียนทะเล (Pemphis acidula) ที่อยู่ในธรรมชาติ เนื่องจากเป็นที่นิยมในการนำไปทำเป็นบอนไซ ทำให้สังคมพืชชายหาดบางส่วนถูกทำลาย ระบบนิเวศป่าชายหาดเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

การดำเนินงานที่ผ่านมา

  • การป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง มีการบูรณาการเพื่อกำหนดแนวทาง และมาตรการในการป้องกันและแก้ไข ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยทั้งทางด้านกายภาพ ชีวภาพ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยมุ่งเน้นความสอดคล้องกับธรรมชาติ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แนวทาง ได้แก่ การปรับสมดุลชายฝั่งโดยธรรมชาติ การป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง และการฟื้นฟูเสถียรภาพชายฝั่ง โดยแบ่งออกเป็น 3 มาตรการ ได้แก่ มาตรการสีขาว คือ การกำหนดพื้นที่ถอยร่น มาตรการสีเขียว คือ การปลูกป่า การฟื้นฟูชายหาด และการปักเสาดักตะกอนเพื่อปลูกป่าชายเลน และมาตรการสีเทา
    คือ การสร้างเขื่อนกันคลื่นนอกชายฝั่ง รอดักทราย เขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล และกำแพงป้องกันคลื่นริมชายหาด
  • การแบ่งระบบกลุ่มหาดของประเทศไทย เป็นการบริหารจัดการชายฝั่งโดยใช้อาศัยหลักการสมดุลของตะกอนที่เคลื่อนที่ในบริเวณชายฝั่งและลักษณะทางธรณีสัณฐานของชายฝั่ง เพื่อใช้ในการจำแนกพื้นที่ชายฝั่งทะเลออกเป็นส่วน ๆ ที่จะต้องมีความสมดุลของตะกอนในพื้นที่ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการอย่างบูรณาการ และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อพื้นที่ข้างเคียง รวมถึงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะในพื้นที่ระบบกลุ่มหาดต่าง ๆ แบบบูรณาการ โดยในเบื้องต้นได้ทำการแบ่งระบบกลุ่มหาดทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศไทยออกได้ทั้งสิ้น 64 กลุ่มหาด เพื่อใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการบริหารจัดการชายฝั่งแบบบูรณาการและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
  • การจัดการขยะบริเวณชายหาด โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้จัดทำโครงการเพื่อลดและกำจัดขยะชายหาด เช่น โครงการชายหาดปลอดบุหรี่ โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งออกมาตรการลดปริมาณขยะในทะเลและชายหาดร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ประชาสัมพันธ์และจัดระเบียบห้ามสูบบุหรี่และขอความร่วมมือในการลด ละ เลิก ใช้ภาชนะโฟม ถุงพลาสติกในบริเวณชายหาดนำร่อง 24 แห่ง ใน 15 จังหวัด ได้แก่ หาดบานชื่น จ.ตราด หาดเจ้าหลาว/แหลมเสด็จ จ.จันทบุรี หาดแสงจันทร์ จ.ระยอง หาดทรายแก้ว หาดดงตาล หาดถ้ำพัง หาดบางแสน จ.ชลบุรี หาดชะอำ จ.เพชรบุรี หาดหัวหิน หาดเขาตะเกียบ จ.ประจวบคีรีขันธ์ หาดทรายรี จ.ชุมพร อ่าวโฉลกบ้านเก่า จ.สุราษฎร์ธานี หาดปลายทราย จ.นครศรีธรรมราช หาดชลาทัศน์ จ.สงขลา หาดวาสุกรี จ.ปัตตานี หาดเขาหลัก หาดเกาะไข่นอก หาดเกาะไข่ใน จ.พังงา หาดป่าตอง จ.ภูเก็ต หาดพระแอะ หาดแหลมคอกวาง หาดคลองดาว จ.กระบี่ และหาดสำราญ จ.ตรัง โครงการร่วมพิทักษ์-รักษ์หาดในบริเวณอุทยานแห่งชาติ โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และการจัดกิจกรรมวันเก็บขยะชายหาดสากล เป็นต้น
  • การจัดการน้ำเสีย มีการบังคับใช้กฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่เข้าข่ายต้องถูกควบคุมการระบายน้ำทิ้งตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ได้แก่ ผู้ประกอบการ โรงงาน ท่าเรือ องค์ปกครองส่วนท้องถิ่น บ้านเรือน ชุมชน ร้านอาหาร ต้องมีการจัดการน้ำทิ้งหรือระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม มีการทำโครงการ “ประชารัฐร่วมใจ แก้ไขปัญหาน้ำเสีย ชายหาดท่องเที่ยว” โดยกรมควบคุมมลพิษจัดอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายและแนวทางการควบคุมและแก้ไขปัญหาน้ำทิ้งไม่ผ่านมาตรฐาน การลงพื้นที่เพื่อดำเนินการตรวจสอบน้ำทิ้งจากแหล่งกำเนิดมลพิษตามที่กฎหมายกำหนดกรณีที่ผลน้ำทิ้งที่ไม่ผ่านมาตรฐาน การจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่เพื่อให้คำแนะนำและแนวทางแก้ไขตามหลักวิชาการแก่แหล่งกำเนิดมลพิษ รวมทั้งมีการควบคุมน้ำผิวดิน น้ำฝน ท่อระบายน้ำฝน และน้ำท่วม
  • การจัดระเบียบชายหาด ใน พ.ศ. 2558 รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ออกนโยบายจัดระเบียบสังคมในพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ เพื่อคืนความเป็นระเบียบเรียบร้อยและประโยชน์ใช้สอยที่เหมาะสมแก่ประชาชน ซึ่งรวมถึงการจัดระเบียบชายหาดเพื่อคืนพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวในหลายจังหวัด เช่น ภูเก็ต พังงา ประจวบคีรีขันธ์ และชลบุรี เป็นต้น โดยห้ามผู้ประกอบการใช้พื้นที่สาธารณะหาผลประโยชน์ ทั้งการนำร่มไปกาง วางเตียงผ้าใบ รวมทั้งการบุกรุกสร้างอาคารตามแนวชายหาด ฯลฯ