ภายในประเทศ

นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
  • นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน
    • ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2551-2555) นโยบาย มาตรการฯ ฉบับนี้ ได้นำเป้าหมายความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2010 ของการประชุมสุดยอดโลกว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนมากำหนดเป็นเป้าหมายหลัก และได้กำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และแนวทางการดำเนินงานด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ตอบสนองแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเจตนารมณ์ให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการลดอัตราการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมีนัยสำคัญ ภายในปี ค.ศ. 2010 หรือ พ.ศ. 2553 โดยเน้นการเสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพให้เป็นฐานที่มั่นคงสำหรับการดำรงชีวิตของคนไทย ควบคู่กับการวิจัยคุณค่าความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งสร้างกลไกในการเข้าถึงและมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม นโยบาย มาตรการฯ ฉบับนี้ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2551 รายละเอียดเพิ่มเติม
    • ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2546-2550) นโยบาย มาตรการฯ ฉบับที่ 2 ได้ให้ความสำคัญกับการวิจัยเพื่อสนองตอบความจำเป็นและความต้องการของประเทศ ที่เอื้อต่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ตลอดจนให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากรจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงหน่วยงานในท้องถิ่นและสถาบันการศึกษา รวมถึง ให้ความรู้ความตระหนักแก่ประชาชน นอกจากนี้ ยังได้ผนวกแผนปฏิบัติการที่ตอบสนองต่ออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์ประกอบเชิงระบบนิเวศของความหลากหลายทางชีวภาพไว้ในนโยบาย มาตรการฯ ด้วย ทั้งนี้ นโยบาย มาตรการฯได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2545 รายละเอียดเพิ่มเติม
    • ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2541-2545) นโยบาย มาตรการ และแผนการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน เป็นแผนระดับชาติด้านความหลากหลายทางชีวภาพฉบับแรกของประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อเตรียมความพร้อมในการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากยังไม่มีนโยบายและแผนปฏิบัติการที่เน้นการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะ นโยบายและมาตรการฯ เป็นแนวทางพื้นฐานและเป็นคู่มือให้หน่วยงานและประชาชนได้ร่วมกันอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ครอบคลุมในทุกประเด็น และสอดคล้องกับตามภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเน้นการให้ความรู้ความตระหนักแก่สาธารณชนเป็นประเด็นหลัก นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างสมรรถนะแก่นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย และสถาบันการศึกษา เนื่องจากสาธารณชนยังขาดความรู้ และความตระหนักถึงคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นอุปสรรคของการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งนี้ นโยบาย มาตรการฯ ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2540 รายละเอียดเพิ่มเติม
  • แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560-2564

ให้ความสำคัญกับการกำหนดทิศทางการพัฒนาที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านประเทศไทย จากประเทศรายได้ปานกลางสู่ประเทศที่มีรายได้สูง มีความมั่นคง และยั่งยืน สังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยกำหนดวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยนำเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals: SDGs) มาเป็นกรอบในการกำหนดเป้าหมายที่จะบรรลุใน 5 ปี โดยมียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้กำหนดเป้าหมาย คือ รักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติ โดยเพิ่มพื้นที่ป่าไม้เพื่อการอนุรักษ์ป่าเศรษฐกิจและป่าชายเลน ลดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และกำหนดแนวทางการพัฒนาโดยรักษาฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ สร้างสมดุลของการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ใช้ประโยชน์จากทุนธรรมชาติโดยคำนึงถึงขีดจำกัดและศักยภาพในการฟื้นตัว รักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร สร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนและเป็นธรรม รวมทั้งผลักดันแนวทางการประเมินมูลค่าของระบบนิเวศ และการสร้างรายได้จากการอนุรักษ์เพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น โดยได้กำหนดตัวชี้วัดด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คือ จำนวนชนิดพันธุ์และประชากรของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในภาวะถูกคุกคามหรือใกล้สูญพันธุ์ รายละเอียดเพิ่มเติม

  • ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580)

เป็นแผนแม่บทหลักของการพัฒนาประเทศ ที่กำหนดกรอบและแนวทางการพัฒนาให้หน่วยงานของรัฐทุกภาคส่วนปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศระยะยาวที่มุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนา ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านความมั่นคง ได้ให้ความสำคัญกับการรักษาความสงบภายในประเทศ และยังให้ความสำคัญกับการรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มของภาคการผลิต และสร้างความมั่นคงของประเทศ ทั้งด้านอาหารและสุขภาพ และยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างความเจริญเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีเป้าหมายสำคัญที่เกี่ยวกับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ คือ การรักษาความมั่นคงและผลประโยชน์ทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล สร้างมูลค่าทางการเกษตรด้วยเกษตรชีวภาพและอุตสาหกรรมชีวภาพ และการเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในและนอกถิ่นกำเนิด รายละเอียดเพิ่มเติม

– แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 เป็นการถ่ายทอดเป้าหมายและประเด็นยุทธศาสตร์ของยุทธศาสตร์ชาติลงสู่แผนระดับต่างๆ ซึ่งได้คำนึงถึงประเด็นร่วมและการประสานเชื่อมโยงเป้าหมายของแต่ละแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติให้มีความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีแผนย่อยที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ 9 แผน ได้แก่ 1) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ 2) การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล 3) การจัดการมลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสารเคมีในภาคเกษตรทั้งระบบให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล 4) การยกระดับกระบวนทัศน์เพื่อกำหนดอนาคตประเทศ 5) การพัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตรกรรม และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่มีการบริหารจัดการตามแผนผังภูมินิเวศอย่างยั่งยืน 6) การพัฒนาการจัดการน้ำเชิงลุ่มน้ำทั้งระบบเพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านน้ำของประเทศ 7) การอนุรักษ์และฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วประเทศ 8) การพัฒนาระบบนิเวศการท่องเที่ยว และ 9) การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อม รายละเอียดเพิ่มเติม

  • แผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2561-2565

มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดความสมดุลในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยประเด็นปฏิรูป 6 เรื่องหลัก ได้แก่ 1) ทรัพยากรทางบก (ป่าไม้และสัตว์ป่า ดิน แร่) 2) ทรัพยากรน้ำ 3) ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 4) ความหลากหลายทางชีวภาพ 5) สิ่งแวดล้อม และ 6) ระบบบริหารจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง ความหลากหลายทางชีวภาพ ได้ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เครื่องมือทางกฎหมาย พัฒนาระบบวิจัยตั้งแต่การวิจัยขั้นพื้นฐานและอนุกรมวิธาน นวัตกรรม มีศูนย์ข้อมูลกลาง ส่งเสริมให้หน่วยงานและชุมชนสามารถเข้าถึงการใช้แหล่งข้อมูลและความหลากหลายทางชีวภาพ และนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดสร้างองค์ความรู้ การบริหารจัดการ บูรณาการฐานข้อมูลทรัพยากรท้องถิ่น รวมถึงการสนับสนุนให้มีการสร้างและพัฒนาบุคลากรด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อรองรับความร่วมมือในระดับภูมิภาค และการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรชีวภาพเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ ภายใต้ Thailand 4.0 เพื่อเพิ่มสมรรถนะในการแข่งขันของประเทศ รายละเอียดเพิ่มเติม

  • ยุทธศาสตร์กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560-2579

จัดทำขึ้นโดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในยุทธศาสตร์ที่ 5 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ในยุทธศาสตร์ที่ 4 การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยยุทธศาสตร์ ทส.ประกอบด้วย 6 ประเด็นยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) อนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟู ส่งเสริม และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน 2) บริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งน้ำผิวดินและน้ำใต้ดินแบบมีส่วนร่วมเป็นธรรมและเพียงพอ 3) ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม 4) ขับเคลื่อนการผลิตและบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในการพัฒนา และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ 5) ลดก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ และ 6) พัฒนากลไกระบบบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพและการจัดการองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาลและทันต่อการเปลี่ยนแปลง รายละเอียดเพิ่มเติม

  • นโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560-2579

จัดทำขึ้นตามมาตรา 13(1) แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นกรอบทิศทางในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศในระยะ 20 ปีข้างหน้า ให้รองรับประเด็นที่เป็นแนวโน้มและประเด็นเกิดใหม่ของโลกและภูมิภาค โดยมีการผนวกนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมั่นคง เพื่อความสมดุลเป็นธรรมและยั่งยืน ให้มีทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ และคงความสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นฐานในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน ประกอบด้วย 4 นโยบายหลัก โดยนโยบายที่สอดคล้องกับความหลากหลายทางชีวภาพ คือ นโยบายที่ 1 จัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติอย่างมั่นคงเพื่อความสมดุลเป็นธรรมและยั่งยืน เป้าประสงค์คือ มีทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ และคงความสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นฐานในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และพลังงาน ซึ่งมุ่งเน้นให้เกิดความสมดุลในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน โดยสงวนและอนุรักษ์พื้นที่ที่ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงไว้เพื่อให้มีระบบนิเวศที่สมดุลต่อไป รวมถึง จัดให้มีระบบการเข้าถึงแบ่งปันและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเป็นธรรม โดยจำกัดการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่เกินอัตราการฟื้นฟูของทรัพยากรเพื่อความยั่งยืน รายละเอียดเพิ่มเติม

แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2560-2564 เป็นแผนการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระดับประเทศ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า โดยได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และหลักการการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาเป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการเพื่อจัดการและแก้ไขปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถดำเนินงานเชิงรุกได้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงให้ความสำคัญต่อบทบาทและสิทธิของชุมชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยยุทธศาสตร์ที่มีความเกี่ยวข้องกับการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพโดยตรง คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุลและเป็นธรรม ซึ่งให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ คำนึงถึงขีดจำกัดและศักยภาพในการฟื้นตัวของระบบนิเวศธรรมชาติ เพื่อรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความสมดุลและเป็นธรรม โดยมีเป้าหมายของยุทธศาสตร์คือ ให้ฐานทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพได้รับการส่งเสริมทั้งการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์อย่างสมดุล เป็นธรรม และเกิดความมั่นคง และมีกลยุทธ์สำคัญ คือ กลยุทธ์ที่ ๑ การจัดการทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และกลยุทธ์ที่ ๒ การมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดความยั่งยืน โดยกำหนดตัวชี้วัด คือ อัตราการสูญเสียชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม ชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น และแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติลดลง รายละเอียดเพิ่มเติม

  • แผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564

จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบนโยบายในการพัฒนาสมุนไพร เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นแนวทางการกำหนดภารกิจแผนงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นเอกภาพ เพื่อให้ประเทศไทยมีความมั่นคงทางด้านสุขภาพ ทั้งในเชิงมิติส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพร่างกาย เกิดความยั่งยืนของเศรษฐกิจในระดับครอบครัว ชุมชน อุตสาหกรรม ไปจนถึงระดับประเทศ แผนแม่บทแห่งชาติฯ ได้กำหนดมาตรการ และแผนงานต่างๆ ที่ครอบคลุมการพัฒนาสมุนไพรไทย ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อให้ใน 5 ปี ข้างหน้า ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรคุณภาพและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสมุนไพรไทยในตลาดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ อันจะนำมาสู่ความมั่งคงทางสุขภาพและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยต่อไป รายละเอียดเพิ่มเติม

  • แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558-2593 จัดทำขึ้นเพื่อเป็นกรอบแนวทางรองรับและปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาพรวมของประเทศ โดยกำหนดการดำเนินงานหลักในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย ได้แก่ การปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการปรับตัวและสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นสังคมคาร์บอนต่ำ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ การเพิ่มแหล่งกักเก็บคาร์บอน เช่น การปลูกป่า และการสร้างขีดความสามารถด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ การพัฒนาข้อมูล การศึกษาวิจัย และเทคโนโลยี การพัฒนากลไกสนับสนุนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความตระหนักรู้และเสริมศักยภาพด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รายละเอียดเพิ่มเติม