ระบบนิเวศแนวปะการัง

ระบบนิเวศแนวปะการังเป็นทรัพยากรสิ่งมีชีวิตชายฝั่งที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพของท้องทะเล เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย และแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ระบบนิเวศแนวปะการังยังถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการท่องเที่ยว และการประมง ฯลฯ เป็นต้น ปะการังเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อยู่ใน Phylum Cnidaria และสามารถจัดจำแนกได้เป็น 2 ประเภท คือ ปะการังที่มีการสร้างหินปูนได้ช้า หรือไม่มีการสร้างหินปูนเลย (Ahermatypic coral) และปะการังที่สร้างหินปูนเป็นโครงสร้างแข็งภายนอก (Hermatypic coral) มักมีการแพร่กระจายในเขตร้อนและกึ่งร้อนในบริเวณที่น้ำทะเลไม่ลึกมาก

ลักษณะพื้นที่

แนวปะการังในประเทศไทยทั้งหมดเป็นประเภทที่ก่อตัวริมฝั่ง (Fringing reef) มักพบริมฝั่งของเกาะ ที่กระจายอยู่ตามนอกชายฝั่งแผ่นดินใหญ่ ส่วนบริเวณริมฝั่งแผ่นดินใหญ่จะมีแนวปะการังอยู่เล็กน้อยและมักเป็นแนวปะการังน้ำตื้น เพราะได้รับอิทธิพลสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของปะการัง โดยสามารถแบ่งแนวปะการังตามลักษณะสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันได้ 4 รูปแบบ คือ

  1. แนวปะการังริมฝั่ง เป็นแนวปะการังที่แท้จริงเพราะเป็นการสะสมตัวจนกลายเป็นแนวปะการัง พบได้ทั่วไปในแหล่งดำน้ำดูปะการังน้ำตื้นตามชายฝั่งและหมู่เกาะต่าง ๆ
  2. แนวปะการังบนพื้นทราย เป็นกลุ่มปะการังเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นทราย ยังมีการสะสมตัวกันไม่มากนัก ส่วนมากเป็นปะการังสมองและปะการังเขากวาง
  3. แนวปะการังบนโขดหิน พบอยู่ในแนวน้ำลึกในแหล่งดำน้ำทั่วไปในหมู่เกาะสิมิลัน เช่น เกาะเจ็ด (หินหัวกะโหลก) หรือ แฟนตาซีรีฟ เป็นต้น
  4. แหล่งกัลปังหาและปะการังอ่อน มีลักษณะเป็นกองหินใต้น้ำ ไม่เป็นแนวปะการังที่ชัดเจน มีศักยภาพในการเป็นที่หลบภัยและที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลเล็กน้อย แต่มีความสำคัญ ต่อการท่องเที่ยว เช่น กองหินริเซริว หรือ หินม่วงหินแดง เป็นต้น

ประเทศไทยพบแนวปะการังใน 17 จังหวัด ในฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล และฝั่งอ่าวไทย ซึ่งแบ่งเป็นอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด อ่าวไทยตอนกลาง ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี อ่าวไทยตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส ใน พ.ศ. 2561 แนวปะการังของประเทศไทย มีพื้นที่รวมทั้งสิ้น 149,025 ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.05 จาก พ.ศ. 2558 ที่มีพื้นที่ 148,955 ไร่ เนื่องจาก มีการสำรวจแนวปะการังเพิ่มเติมในจังหวัดปัตตานี และนราธิวาส เมื่อพิจารณาตามการแบ่งเขต พบว่า บริเวณอ่าวไทยตอนกลาง มีพื้นที่แนวปะการังมากที่สุด 46,785 ไร่ แต่มีสถานภาพแนวปะการังเสียหายถึงเสียหายมาก รองลงมา คือ บริเวณทะเลอันดามันตอนบน มีพื้นที่แนวปะการัง 42,886 ไร่ มีสถานภาพแนวปะการังเสียหายมาก และบริเวณทะเลอันดามันตอนล่าง 30,479 ไร่ มีสถานภาพแนวปะการังสมบูรณ์ปานกลางและเสียหายมาก ในขณะที่ บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก มีพื้นที่แนวปะการัง 28,147 ไร่ มีสถานภาพแนวปะการังสมบูรณ์ปานกลางถึงเสียหายมาก ส่วนบริเวณอ่าวไทยตอนล่างมีพื้นที่แนวปะการังน้อยที่สุด 728 ไร่ แต่มีสถานภาพแนวปะการังสมบูรณ์ปานกลางถึงสมบูรณ์มาก ซึ่งเมื่อสรุปในภาพรวมแล้วแนวปะการังในประเทศไทยส่วนใหญ่มีสถานภาพเสียหายมากจนถึงสมบูรณ์ค่อนข้างคงที่ มีแค่บางพื้นที่มีสถานภาพดีขึ้นเล็กน้อย ซึ่งควรต้องเร่งหาทางฟื้นฟูในพื้นที่ที่ยังคงเสียหายมากจนถึงเสียหายให้ดีขึ้นต่อไป

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต

สังคมพืช ได้แก่ กลุ่มสาหร่ายเช่น สาหร่ายสีเขียว สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน สาหร่ายสีแดง สาหาร่ายสีน้ำตาล และสาหร่ายหินปูน (calcareous algae)

สังคมสัตว์

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง

  • กลุ่มพอริเฟอราเช่น ฟองน้ำครก (Xestospongia testudinaria) ฟองน้ำเคลือบผิว (Haliclona spp.) ฟองน้ำลูกบอล (Tethya seychellensis) ฟองน้ำหูช้าง (Cliona patera) เป็นต้น
  • กลุ่มไนดาเรีย ได้แก่ ปะการัง ชนิดปะการังที่พบในประเทศไทยพบรวม 18 วงศ์ 71 สกุล 389 ชนิด ทั้งนี้จำนวน 273 ชนิด เป็นพวกที่มีตัวอย่างรวบรวมไว้ตามพิพิธภัณฑ์ที่สถาบันต่าง ๆ ส่วนอีก 116 ชนิด เป็นพวกที่คาดว่าน่าจะมีโอกาสพบในน่านน้ำไทย โดยปะการังที่พบส่วนใหญ่เป็นปะการังที่มีรูปทรงเป็นแบบก้อน พุ่ม และเคลือบผิว ได้แก่ ปะการังโขด (Porites lutea) ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังลายดอกไม้ (Pavona sp.) ปะการังสมองร่องยาว (Platygyra sp.) เป็นต้น นอกจากนี้ มีรายงานการพบปะการังเขากวางAcropora copiosa, A. nana และปะการังเขากวางแปรงล้างขวด (Acropora longicyathus) ที่เกาะกระ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งไม่มีรายงานการพบในบริเวณอื่นของอ่าวไทย ปะการังอ่อน เช่น ปะการังอ่อนต้นวุ้น (Dendronephthya sp., Chromonephthea sp.) ปะการังอ่อนกึ่งนิ้วมือ (Lobophytum sp.) ปะการังอ่อนทองหยิบ (Sarcophyton sp.) ปะการังหนังกิ่งสั้น (Cladiella sp.) ปะการังอ่อนต้นนุ่ม (Klyxum sp.) ปะการังอ่อนดอกไม้ (Xenia sp.) เป็นต้น กัลปังหา พบ 6 วงศ์ 13 สกุล น กัลปังหาดอกไม้ (Briareum sp.) กัลปังหาพิณ (Ctenocella sp.) กัลปังหา (Subergorgia sp., Rumphella sp., Melithaea sp., Hicksonella sp.) เป็นต้น แส้ทะเล เช่นJunceella sp. เป็นต้น ดอกไม้ทะเล เช่น ดอกไม้ทะเล (Heteractis sp.) ดอกไม้ทะเล (Epiactis spp.) เห็ดทะเล (Discosoma sp.) เป็นต้น
  • กลุ่มแอนเนลิดา เช่น หนอนท่อ (Sabellastarte sp.) เป็นต้น
  • กลุ่มครัสเตเชียน ได้แก่ กุ้ง พบไม่น้อยกว่า 68 ชนิด เช่น กุ้งดีดขัน (Alpheus spp.), กุ้งมดแดง (Rhynchocinetes durbanensis) กุ้งพยาบาลแถบขาว (Lysmata amboinensis) กุ้งปะการังลายเขียว (Coralliocaris graminea) กุ้งมังกร (Palinustus sp., Panulirus sp.) เป็นต้น กั้ง เช่น กั้งกระดาน (Scyllarides squammosus) กั้งตั๊กแตนสามแถบ (Miyakea nepa) เป็นต้น ปู พบไม่น้อยกว่า 108 ชนิด เช่น ปูเสฉวนปะการัง (Paguritta sp.) ปูใบ้ (Xanthidae) ปูแมงมุม (Majidae) ปูดอกไม้ทะเล (Porcellanidae) ปูปะการัง (Trapezia sp.) เป็นต้น
  • กลุ่มมอลลัสกา ได้แก่ หอยฝาเดียว เช่น หอยแมงป่อง (Lambis scorpius) หอยกัลปังหา, หอยปากแบน (Pinctada margaritifera) หอยมะระ (Thais sp.) หอยเบี้ยอาหรับ (Cypraea arabica) หอยสังข์บิดแดง (Cymatium rubeculum) เป็นต้น หอยสองฝา เช่น หอยมือเสือ (Tridacna maxima, T. crocea) หอยนางรมหนามหลากสี (Spondylus versicolor) เป็นต้น ทากทะเล เช่น ทากขาวดำปุ่มเหลือง (Phyllidia varicosa) ทากเปลือย (Phyllidiella pustulosa) ทากเปลือย (Chromodoris lineolata) ทากดำปุ่มม่วง (Phyllidiella nigra) ทากปุ่มดำขาว (Phyllidiella pustulosa) เป็นต้น หมึก เช่น หมึกกล้วย (Loligo sp.) หมึกสาย (Amphioctopus aegina) เป็นต้น
  • กลุ่มเอคไคโนเดิร์ม ได้แก่ เม่นทะเล เช่น เม่นเล็กหนามละเอียดเจาะปะการัง (Echinostrephus molaris) เม่นเขียวฐานหนามจุดขาว (Echinometra mathaei) เม่นดำหนามยาว (Diadema setosum) เม่นดำหนามสั้น (Echinotrix calamaris) เม่นวงแหวนขาว (Parasalenia gratiosa) เป็นต้น ดาวทะเล เช่น ดาวแขนยาวสีฟ้า (Linckia laevigata) ดาวทะเล (Linckia multifora) ดาวขนนกสีต่าง ๆ (Feather star) เป็นต้น ปลิงทะเล เช่น ปลิงดำมีทรายเกาะ (Holothuria atra) ปลิงกาฟิวล์ (Pearsonothuria graeffei) ปลิงเทา (Holothuria (Metriatyla) scabra) เป็นต้น

สัตว์มีกระดูกสันหลัง

  • กลุ่มเพรียงหัวหอม พบไม่น้อยว่า 15 ชนิด เช่น เพรียงหัวหอม (Didemnidae) เพรียงหัวหอม Rhopalaea crassa เป็นต้น
  • กลุ่มปลา พบไม่น้อยกว่า 65 ชนิด จาก 20 ครอบครัว โดยแบ่งได้ 3 กลุ่ม คือ (1) ปลากินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก พบไม่น้อยกว่า 39 ชนิด จาก 15 ครอบครัว เช่น ปลาผีเสื้อคอขาว (Chaetodon collare) ปลานกขุนทองลายหมากรุก (Halichoeres hortulanus) ปลาผีเสื้อแปดขีด (Chaetodon octofasciatus) ปลาอมไข่ลายทแยง (Archamia fucata) ปลาอมไข่เส้นเหลือง (Apogon cyanosoma) ปลากระดี่ทะเลครีบดำ (Pempheris vanicolensis) เป็นต้น (2) ปลากินพืช พบไม่น้อยกว่า 19 ชนิด จาก
    4 ครอบครัว เช่น ปลาสลิดหินเล็กหางเหลือง (Neopomacentrus sororius) ปลาสลิดหินฟ้าหางเหลือง (Pomacentrus similis) ปลาสลิดหินบั้งเขียวเหลือง (Abudefduf vaigiensis) ปลาสลิดหินเล็กท้ายเหลือง (Neopomacentrus cyanomos) ปลาสลิดหินเล็ก
    หางขลิบดำ (Neopomacentrus filamentosus) เป็นต้น (3) ปลากินแพลงก์ตอน พบไม่น้อยกว่า 10 ชนิด จาก 3 ครอบครัว เช่น ปลากล้วยหางเหลือง (Caesio cuning) ปลากล้วยแถบเขียว (Caesio caerulaurea) ปลากล้วยแถบเหลือง (Pterocaesio chrysozona) ปลากล้วยฟ้าหลังเหลือง (Caesio xanthonota) ปลากล้วยเล็ก (Pterocaesio pisang) เป็นต้น
  • กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน เช่น งูสมิงทะเล (Laticauda spp.) งูแสมรังหัวเข็ม (Hydrophis gracilis) เต่ากระ (Eretmochelys imbricata)

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

ชนิดพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ (Flagship species) ได้แก่ ปลานกแก้ว เป็นกลุ่มปลากินพืชที่หากินโดยการครูดกินตามพื้นผิว (Grazer) โดยเฉพาะสาหร่ายที่มักจะขึ้นคลุมแนวปะการังหลังปะการังตายลงเนื่องจากเหตุการณ์ปะการังฟอกขาวหรือภัยคุกคามอื่น ๆ ปลานกแก้วทำหน้าที่สำคัญในการป้องกันไม่ให้พื้นผิวบริเวณแนวปะการังเปลี่ยนสภาพและถูกขึ้นคลุมด้วยสาหร่าย ตัวอ่อนปะการังจึงสามารถลงเกาะและเติบโตขึ้นใหม่ได้ แนวปะการังที่มีปลานกแก้วชุกชุมจึงมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่า ดังนั้นการอนุรักษ์ปลานกแก้วจึงมีความสำคัญต่อแนวปะการังอย่างมาก ฉลาม และกระเบนต่าง ๆ เป็นปลาที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นสัตว์ในกลุ่มนักล่าชั้นบนสุดของห่วงโซ่อาหาร ซึ่งฉลามและกระเบน จะช่วยควบคุมปริมาณปลาบางชนิดที่อาจมีมากเกินไป การอนุรักษ์และไม่บริโภคฉลามและกระเบนจึงเป็นการช่วยรักษาสมดุลในระบบนิเวศแนวปะการัง

ชนิดพันธุ์ที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ได้แก่

  • ปลาที่เป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของแนวปะการัง (Indicator species) เช่น ปลาผีเสื้อ (Chaetodontidae) เป็นดัชนีชี้วัดด้านความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการัง เนื่องจากบางชนิดกินปะการังและสาหร่ายในแนวปะการังเป็นอาหาร
  • ปะการังเขากวาง เป็นปะการังที่มีการเจริญเติบโตเร็ว แต่มีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีความบอบบางและหักได้ง่าย จึงเป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี
  • ฉลามและกระเบนชนิดต่าง ๆ จัดเป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาผู้ล่าซึ่งอยู่ในระดับยอดของห่วงโซ่อาหาร ดังนั้นการพบฉลามและกระเบนในพื้นที่แสดงว่าบริเวณนั้นมีแหล่งอาหารเพียงพอและถูกรบกวนน้อย จึงเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศได้เป็นอย่างดี
  • เต่ากระ เป็นเต่าทะเลที่อาศัยอยู่ในแนวปะการัง เนื่องจากกินฟองน้ำและสัตว์น้ำเล็ก ๆ ในแนวปะการังเป็นอาหาร อีกทั้งของเสียจากเต่ายังช่วยเพิ่มอินทรีย์สารสู่ระบบนิเวศ การพบเต่ากระในแนวปะการังจึงเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และสะอาดของแนวปะการังได้เป็นอย่างดี
  • หอยมือเสือ เป็นหอยสองฝาที่ใหญ่ที่สุดในโลกมักอาศัยอยู่ในแนวปะการังที่มีน้ำใสสะอาดและมีแสงส่องถึง หอยมือเสือจึงเป็นดัชนีชี้วัดเรื่องของคุณภาพน้ำที่สำคัญ พื้นที่ที่มีหอยมือเสืออาศัยอยู่แสดงว่าน้ำบริเวณนั้นมีความสะอาดเพียงพอและยังเหมาะแก่การดำรงชีวิตของสัตว์ทะเลชนิดอื่นอีกด้วย
  • หอยเต้าปูน ชอบอาศัยอยู่ตามซอกโพรงหินในแนวปะการังหรือขุดรูอยู่ตามชายฝั่งทะเลหรือตามพื้นทะเลใกล้แนวปะการัง เนื่องจากหอยเต้าปูนเป็นสัตว์กินเนื้อ เช่น ปลา หรือหอย การพบหอยเต้าปูนในระบบนิเวศแสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งอาหารและระบบนิเวศนั้น ๆ ด้วย

ชนิดพันธุ์หายากหรือถูกคุกคาม (IUCN Red List) ได้แก่

  • ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ ปลาโรนิน (Rhina ancylostoma) (สถานภาพในประเทศไทย: EN) ปลาโรนันจุดขาว (Rhynchobatus australiae) (สถานภาพในประเทศไทย: EN) เป็นต้น
  • ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ ปลานโปเลียน (Cheilinus undulatus) เป็นต้น
  • ชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ หอยมือเสือ (Tridacna spp.) ปลานกแก้วหัวโหนก (Bolbometopon muricatum) (สถานภาพในประเทศไทย: DD) ปลาวัวจมูกยาว (Oxymonacanthus longirostris) (สถานภาพในประเทศไทย: EN) ม้าน้ำมงกุฏสั้น (Hippocampus kuda) ม้าน้ำสามจุด (Hippocampus trimaculatus) ม้าน้ำหนามสั้น (Hippocampus spinosissimus) ม้าน้ำหนามยาว (Hippocampus histrix) เป็นต้น
  • ชนิดพันธุ์ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ ฉลามครีบดำ (Carcharhinus melanopterus) (สถานภาพในประเทศไทย: VU) เป็นต้น
  • กุ้งพยาบาลหลังขาว กุ้งตัวตลก กุ้งหินอ่อนหัวโต ถูกคุกคามจากการจับไปขายในตลาดปลาทะเลสวยงาม หอยสังฆ์แตรถูกคุกคามจากการนำเปลือกมาขายในตลาดเปลือกหอยสวยงาม ส่วนปลากะรังหน้างอน ปลาย่ำสวาท และกุ้งมังกรถูกคุกคามจากการล่าเพื่อมาเป็นอาหาร

ชนิดพันธุ์ที่พบใหม่ ได้แก่

  • ทากเปลือย Phestilla viei (Mehrotra et al. 2020). เป็นทากเปลือยกินปะการัง Pavona explanulata และทากเปลือย Unidentia aliciae (Korshunova et al. 2019) พบบริเวณเกาะเต่า จ.สุราษฏร์ธานี
  • ปลาบู่กุ้ง Cryptocentrus altipinna (Hoese, 2019) พบบริเวณเกาะลิบง จ.ตรัง
  • ปลาแพะ Upeneus heterospinus (Uiblein et al. 2019) พบบริเวณอ่าวไทย
  • ปลาสร้อยนกเขาจุดใหญ่ Plectorhinchus macrospilus (Satapoomin And Randall, 2000) พบบริเวณหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา
  • ปลากะรังดาว Cephalopholis polyspila (Randall and Satapoomin, 2000) พบบริเวณบริเวณทะเลอันดามัน

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญในการนำมาใช้ประโยชน์ ได้แก่

  1. การใช้ประโยชน์ทางการประมง เพื่อใช้เป็นอาหาร พบปลาไม่น้อยกว่า 52 ชนิด เช่น ปลากล้วย (Caesionidae) ปลาสีกุน (Carangidae) ปลาหมูสี (Lethrinidae) ปลากะพง (Lutjanidae) ปลาทรายขาว (Nemipteridae) ปลานกแก้ว (Scaridae) ปลาเก๋า (Serranidae) และปลาสลิดทะเล (Siganidae)
  2. การใช้ประโยชน์เพื่อเลี้ยงเป็นสัตว์น้ำสวยงาม ทั้งกุ้ง หอย ดอกไม้ทะเล และปลาที่มีสีสันสดใสสวยงามหรือมีรูปร่างแปลกตา พบไม่ปลาน้อยกว่า 46 ชนิด เช่น ปลานกขุนทอง (Labridae) ปลาสินสมุทร (Pomacanthidae) และปลาสลิดหิน (Pomacentridae)
  3. การท่องเที่ยวในแนวปะการัง ความสวยงามของระบบนิเวศแนวปะการังใต้ท้องทะเลไทยดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาเป็นจำนวนมาก ช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายหมื่นล้านบาท

ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ

ปัญหาหลักที่ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศแนวปะการัง ได้แก่

  • การท่องเที่ยวในแนวปะการัง ผลเสียหายเกิดทั้งจากการท่องเที่ยวประเภทดำที่ผิวน้ำ (Skin diving) โดยมีการยืนหรือเดินเหยียบปะการังจนแตกหักเสียหาย และจากการท่องเที่ยวแบบดำน้ำลึก (Scuba diving) ซึ่งนักดำน้ำอาจไม่ระมัดระวัง จนตีนกบกระแทกปะการังแตกหักเสียหาย การทิ้งสมอเรือลงในแนวปะการังก็ทำให้ปะการังแตกหักเสียหาย การเดินเหยียบย่ำพลิกปะการังจากนักท่องเที่ยวและชาวประมงที่ยังหากินโดยการค้นหา จับสัตว์น้ำบางประเภทที่หลบซ่อนอยู่ตามแนวปะการังน้ำตื้นหรือแนวปะการังที่โผล่พ้นน้ำเมื่อน้ำลง สัตว์น้ำดังกล่าว เช่น หมึกยักษ์ ปลิงทะเล หอยสวยงาม ฯลฯ การรื้อ พลิกหินปะการังให้หงายขึ้นก่อให้เกิดความเสียหายกับปะการังโดยตรง และยังทำให้สิ่งมีชีวิต ขนาดเล็กที่ขึ้นเคลือบอยู่ใต้หัวปะการัง เช่น ฟองน้ำ เพรียงหัวหอม ไบรโอซัว ฯลฯ ซึ่งชอบขึ้นอยู่ในที่กำบังแดด ต้องตายไปเพราะได้ถูกแดดแผดเผา นอกจากนี้ยังมีนักท่องเที่ยวลักลอบเก็บซากปะการัง เพื่อนำไปใช้ประดับตู้ปลา ซากหินปะการังก็เช่นกัน มักถูกนำมาจัดตามตู้โชว์
  • การพัฒนาชายฝั่ง เช่น การก่อสร้างที่มีการเปิดหน้าดิน การขุดลอกพื้นที่ชายฝั่ง เช่น ทำถนน ก่อสร้างอาคาร ฯลฯ ทำให้ตะกอนถูกชะลงสู่ทะเลในช่วงฤดูฝน รวมถึงการขุดแร่ ในทะเลในอดีตทำให้เกิดการฟุ้งกระจายของตะกอนจากการขุดพื้นท้องทะเลและล้างแยกแร่ในเรือขุด ซึ่งมีการปล่อยน้ำล้างแร่ลงทะเลโดยตรง ตะกอนที่ฟุ้งกระจายในมวลน้ำ อาจแพร่กระจายไปปกคลุมบนแนวปะการังที่อยู่ใกล้เคียง และอาจทำให้สภาพความลาดชันของพื้นดินใต้ทะเลเปลี่ยนแปลงไป หากมีการขุดใกล้หาดอาจทำให้ชายหาดทรุดตัวลง ซึ่งจะทำให้มีปะการังตายมากขึ้นเมื่อมีอัตราการตกตะกอนสูง โดยตะกอนที่ทับถมบนปะการังมีผลโดยตรงต่อการหายใจส่งผลให้ปะการังตายในที่สุด ส่วนที่ถูกตะกอนทับถมด้านบนมักจะตาย แต่ถ้ามีกระแสน้ำหรือคลื่นพัดพาตะกอนออกไป เนื้อเยื่อปะการังส่วนที่อยู่ด้านข้างที่ยังมีชีวิตก็สามารถแตกหน่อแบ่งตัวขยายออกไปปกคลุมพื้นผิวที่เนื้อเยื่อตายไปแล้วทำให้เกิดการฟื้นตัวได้ นอกจากนี้การลักลอบรื้อปะการังที่อยู่ติดหาด โดยเฉพาะตามหาดที่อยู่หน้าสถานที่พักตากอากาศเพื่อให้เป็นพื้นทรายสำหรับนักท่องเที่ยวลงเล่นน้ำ หรือเพื่อให้เรือขนาดเล็กสามารถวิ่งเข้าเทียบชายหาดได้ในช่วงน้ำลง กิจกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในแนวปะการังเป็นอย่างมาก เพราะปะการังที่ถูกรื้อออกจากที่เดิมมักจะตายไปในที่สุด ในกรณีที่รื้อปะการังแล้วนำไปทับถมเพื่อสร้างเป็นแนวเขื่อนกันคลื่น ก็ยิ่งก่อให้เกิดผลกระทบมากขึ้น เพราะเป็นการกั้นการไหลเวียนของกระแสน้ำที่ไหลเลียบฝั่ง อาจทำให้ลักษณะชายฝั่งเปลี่ยนแปลงไป กล่าวคือเกิดการกัดเซาะของชายฝั่งด้านหนึ่ง และเกิดการทับถม ของตะกอนทรายในแนวปะการังหรือเกิดทรายทับถมหน้าหาดยื่นลงสู่ทะเลในอีกด้านหนึ่งของตัวเขื่อน เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพระบบนิเวศเดิมอย่างสิ้นเชิง
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเล เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้การเกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral bleaching) ปกติแล้วปะการังในน่านน้ำไทยสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในน้ำทะเลที่อุณหภูมิประมาณ 28-29 องศาเซลเซียส แต่ถ้าหากอุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้นถึง 30-31 องศาเซลเซียส ติดต่อกันนาน 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป จะทำให้ปะการังเกิดการฟอกขาว การที่ปะการังที่เราเคยเห็นว่ามีหลากสีกลับกลายเป็นสีขาวนั้น เป็นเพราะสาหร่ายเซลล์เดียว (เรียกโดยทั่วไปว่า Zooxanthellae) ที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อปะการังได้หลุดออกไป ทำให้เนื้อเยื่อปะการัง กลับกลายเป็นเนื้อเยื่อใสไม่มีสี สามารถมองทะลุผ่านไปถึงโครงหินปูนสีขาวที่รองรับเนื้อเยื่อได้ หากปะการังอยู่ในสภาพฟอกขาวติดต่อนานเกินหนึ่งเดือน ปะการังนั้นมักจะตายไป เพราะขาดสารอาหารที่ได้รับจากสาหร่ายที่อยู่ในตัวมัน โดยทั่วไปแล้วเมื่อเกิดการฟอกขาว ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) เป็นพวกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด กล่าวคือมีความไวต่อการเกิดการฟอกขาวมากที่สุด ส่วนปะการังที่ได้รับผลกระทบน้อยมาก ได้แก่ ปะการัง ดาวใหญ่ (Diploastrea heliopora) ปะการังสีน้ำเงิน (Heliopora coerulea) และปะการังลายดอกไม้ (Pavona decussata) จากการรวบรวมข้อมูลปะการังฟอกขาวในน่านน้ำไทยทั้งหมด 148 สถานี พบว่า ใน พ.ศ. 2562 แนวปะการังส่วนใหญ่อยู่ในระดับปะการังเริ่มฟอกขาว (สีซีด) ทั้งฝั่งทะเลอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โดยสถานีที่มีการสำรวจใหม่จำนวน
    16 สถานี ในฝั่งทะเลอันดามัน พบว่าการฟอกขาวส่วนใหญ่อยู่ในระดับสีซีด ส่วนฝั่งอ่าวไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับการฟอกขาวร้อยละ 5-25 ในขณะที่บางสถานีที่มีการสำรวจซ้ำมีแนวโน้มดีขึ้น เช่น บริเวณกองหินต่าง ๆ ในจังหวัดชุมพร (น้ำลึกตั้งแต่ 12-16เมตร) ส่วนใหญ่มีการฟอกขาวร้อยละ 10 มีเพียงหินแพ (น้ำลึก 20 เมตร) ที่ไม่พบการฟอกขาว ส่วนกองหินลอปีและเกาะโลซิน จังหวัดปัตตานี (น้ำลึก 10-25 เมตร) อยู่ในระดับสีซีด เป็นต้น จากการประเมินสถานการณ์ ใน พ.ศ. 2562 พบว่าการฟอกขาวไม่รุนแรง โดยพื้นที่ที่ยังต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินการฟื้นตัวหรือการตายของปะการัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ที่มีการพบการฟอกขาวตั้งแต่ระดับปานกลางถึงสูง บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออก เช่น เกาะแสมสาร (จังหวัดชลบุรี) หมู่เกาะมัน (จังหวัดระยอง) หาดเจ้าหลาว (จังหวัดจันทบุรี) หมู่เกาะรัง และเกาะกูด (จังหวัดตราด) เป็นต้น และในฝั่งทะเลอันดามัน เช่น หมู่เกาะกำ เกาะพะยาม (จังหวัดระนอง) หาดไนยาง (จังหวัดภูเก็ต) และเกาะปู (จังหวัดกระบี่) เป็นต้น ในบางพื้นที่ที่อยู่ในบริเวณน้ำตื้นใกล้ชายฝั่ง พบว่ามีการฟอกขาวเพิ่มขึ้น เช่น ชายฝั่งแสมสาร เป็นต้น นอกจากนี้การติดตามสถานการณ์อุณหภูมิน้ำทะเลโดยใช้ข้อมูลของ National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) รวมทั้งจากเครื่องบันทึกอุณหภูมิแบบต่อเนื่อง พบว่าอุณหภูมิน้ำทะเลตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และลดต่ำกว่าอุณหภูมิวิกฤติที่กระตุ้นการฟอกขาว (ประมาณ 30.50-31.00 องศาเซลเซียส) แล้ว ซึ่งจะทำให้ปะการังหยุดการฟอกขาวแล้วเริ่มมีการฟื้นตัว หลายสถานีพบว่ามีปะการังตายจากการฟอกขาวน้อย การลดลงของอุณหภูมิน้ำทะเลเป็นผลจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือการเข้าสู่ฤดูฝนจึงทำให้มีเมฆปกคลุมท้องฟ้า และฝนตกอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สถานการณ์ปะการังฟอกขาวต่อจากนี้ไปจึงไม่น่าเป็นห่วงมากนัก อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องต่อไปอีกระยะหนึ่ง
  • การปล่อยน้ำเสียลงทะเล เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ เช่น อ่าวป่าตอง ที่จังหวัดภูเก็ตมีชุมชนขนาดใหญ่และขยายตัวอย่างรวดเร็ว มีระบบบำบัดน้ำเสียรวมสำหรับชุมชน แต่ในปัจจุบันยังไม่สามารถรองรับน้ำเสียทั้งหมดได้ ปัญหาการลักลอบปล่อยน้ำเสียลงสู่ทะเล เช่น กรณีการลักลอบปล่อยน้ำเสียจากโรงแรมขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่ามีระเบียบข้อบังคับให้โรงแรมที่มีขนาดใหญ่ (จำนวนห้องเกินกว่า 80 ห้องขึ้นไป) ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงสู่ทะเล แต่ยังคงมีการลักลอบปล่อยน้ำเสียโดยไม่ผ่านการบำบัด
  • การทิ้งขยะลงทะเล ขยะที่เป็นปัญหาใหญ่ต่อแนวปะการัง คือ เศษอวน อวนที่ปกคลุมปะการังจะทำให้ปะการังตาย เพราะปะการังไม่สามารถรับแสงแดดได้ และสาหร่ายที่มีลักษณะเหมือนตะไคร่น้ำขึ้นปกคลุมอวนอีกทีหนึ่ง สาหร่ายเหล่านั้นจับตะกอนในมวลน้ำไว้ ทำให้ปะการังตายเร็วขึ้น แหล่งที่มาของเศษอวนเกิดขึ้นได้หลายทาง เช่น 1) อาจเกิดจากชาวประมงซ่อมแซมอวนและตัดเศษอวนที่ไม่ใช้ทิ้งลงทะเล 2) ชาวประมงวางอวนถ่วง ตามแนวปะการัง เมื่ออวนขาดและพันกับปะการัง ก็ไม่ได้เก็บขึ้นมา 3) อวนจากเรืออวนล้อมหรือเรืออวนลากขาด ถูกพัดพาไปตามกระแสน้ำ และตกค้างบนแนวปะการัง 4) การลากอวนใกล้ชายฝั่งตามเกาะต่าง ๆ อาจทำให้อวนติดพันตามกองหิน ทำให้อวนขาดและตกค้างอยู่ในแนวปะการัง
  • การระเบิดปลาในแนวปะการัง ตามกองหินใต้น้ำที่มีปะการังขึ้นมักพบปลารวมกันเป็นฝูงอยู่ที่ระดับกลางน้ำจนถึงผิวน้ำ ทำให้เกิดการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการระเบิดปลา ซึ่งเป็นการทำลายปะการังอย่างรุนแรง ปะการังแตกหักเสียหายยากต่อการฟื้นตัว การใช้ยาเบื่อปลาในแนวปะการัง เช่น ไซยาไนด์ ก็เพื่อจับสัตว์น้ำบางประเภท อย่างปลาสวยงามและกุ้งมังกรที่หลบซ่อนอยู่ตามซอกโพรงปะการัง ทำให้สัตว์น้ำอยู่ในสภาพมึนงงจนถูกต้อนเข้าสวิงได้ สารพิษยังคงสะสมอยู่ในตัวสัตว์น้ำ ทำให้อยู่มีสภาพอ่อนแอและมีชีวิตสั้นลง ปะการังเองก็จะได้รับผลกระทบจากสารเคมีด้วย แต่ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังว่าผลกระทบที่เกิดกับปะการังรุนแรงมากน้อยเพียงไร
  • การรั่วไหลของน้ำมันลงทะเล อุบัติเหตุที่ทำให้เกิดเรืออับปางก่อให้เกิดน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเล เป็นกรณีที่เกิดไม่บ่อยนัก ส่วนการชะล้างน้ำมันจากเรือประมง เรือท่องเที่ยว และเรือหางยาวลงสู่ทะเล เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายแห่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามอ่าวที่มีท่าเรือ เช่น บริเวณอ่าวต้นไทรที่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เป็นต้น แต่ยังไม่มีรายงานผลกระทบที่เกิดเป็นบริเวณกว้าง

การดำเนินงานที่ผ่านมา

  1. บริหารจัดการพื้นที่ควบคู่ไปกับการใช้กฎหมาย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่และติดตามสถานการณ์ตามแนวปะการังแบบบูรณาการทุกภาคส่วน โดยยึดหลักการบริหารจัดการที่เน้นการมีส่วนร่วมควบคู่ไปกับการใช้มาตรการทางกฎหมาย
  2. ติดตามสถานการณ์ปะการังฟอกขาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดทำระบบ เฝ้าระวังปะการังฟอกขาวเพื่อรองรับการประเมินสถานการณ์ปะการังฟอกขาวให้ทันต่อเหตุการณ์ สามารถประเมินความเสี่ยงของการเกิดปะการังฟอกขาว การติดตามและรายงานการเกิดปะการังฟอกขาว และให้ความรู้เกี่ยวกับปะการังฟอกขาวอย่างเป็นระบบ
  3. ออกมาตรการอนุรักษ์ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้วางมาตรการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรปะการัง และการค้นคว้า วิจัย เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น การดำเนินการติดตั้งทุ่นผูกเรือทำแนวเขตป้องกันทรัพยากรปะการัง เพื่อป้องกันการทิ้งสมอเรือลงบนแนวปะการัง และการรณรงค์ปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ให้ความรู้ความเข้าใจแก่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว และผู้ประกอบการ เพื่อให้การใช้ประโยชน์ของทรัพยากรควบคู่กับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนตลอดไป
  4. ฟื้นฟูปะการังด้วยการย้ายปลูก การปฏิบัติงานฟื้นฟูปะการังโดยวิธีการย้ายปลูก ภายใต้โครงการฟื้นฟูปะการังแบบบูรณาการทุกภาคส่วน โดยทำการปลูกเสริมกิ่งพันธุ์ปะการัง บนฐานปะการังตามธรรมชาติ พร้อมทั้งติดหมายเลขกำกับกิ่งพันธุ์ และถ่ายภาพ
  5. วางปะการังเทียม ได้จัดให้มีการวางปะการังเทียมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี และมีแนวโน้มการใช้ประโยชน์เพิ่มมากขึ้น โดยมีแนวทางการติดตามตรวจสอบพื้นที่ที่จัดวางปะการังเทียมไปแล้วเพิ่มมากขึ้น ในช่วง พ.ศ. 2556-2560 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ดำเนินการจัดวางปะการังเทียม รวมทั้งสิ้น 54,460o แท่ง พื้นที่รวม 123,000 ตารางเมตร โดยประโยชน์ของการจัดวางปะการังเทียม ได้แก่ การเพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศ ทำให้ผลผลิตของสัตว์น้ำมีเพิ่มมากขึ้น ประชาชนมีรายได้จากการทำประมงและการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การจัดวางปะการังเทียมที่ไม่เหมาะสม อาจนำมาซึ่งปัญหาและผลกระทบทั้งต่อระบบนิเวศ และทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ด้วย ดังนั้น การจัดวางปะการังเทียม จำเป็นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของการจัดวางในแต่ละพื้นที่ และเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ซึ่งการดำเนินงานในทุกโครงการตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติแนวปะการัง ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ดังเดิมต่อไปเป็นสำคัญ