พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ
พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ
การเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในฐานะ “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” เนื่องในปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2010”
สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยประสานงานกลางอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพได้เสนอการน้อมเกล้าถวายพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฐานะ “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” เพื่อฉลองเนื่องในปีสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ ค.ศ. 2010 เนื่องด้วยพระองค์ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมจากการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับสนองพระราชดำริ อาทิ การอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลการสร้างปะการังเทียม เพื่อเป็นแหล่งอาศัยและเพิ่มประชากรสัตว์น้ำ และความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล รวมทั้งการฟื้นคืนความหลากหลายทางชีวภาพด้านป่าไม้ของประเทศให้กลับมีความอุดมสมบูรณ์เป็นฐานทรัพยากรให้แก่ประชาชนได้ใช้ในการดำรงชีวิต ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2553 ทั้งนี้ สผ. ได้ประสานแจ้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา และองค์กรต่างๆ รับทราบมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว และขอความร่วมมือจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติเพื่อแสดงกตเวทิคุณของรัฐบาลและปวงชนชาวไทยในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ และเป็นการแสดงจุดยืนที่จะเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีความมั่นคงในการเป็นศูนย์รวมจิตใจและความสามัคคีของคนในชาติสืบไป
กิจกรรมเทิดพระเกียรติพระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ
1. จัดแสดงนิทรรศการเทิดพระเกียรติ
1.1 นิทรรศการ “มองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยผ่านโครงการ และกิจกรรมตามพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” ในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 10 ในระหว่างวันที่ 18 –29 ตุลาคม 2553 ณ เมืองนาโงยา ประเทศญี่ปุ่นโดยนำเสนอพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผ่านโครงการและกิจกรรมตามพระราชดำริ ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย ที่ทรงอุทิศพระองค์ด้วยพระวิริยะอุตสาหะเป็นเวลายาวนาน ก่อนกำเนิดอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
1.2 นิทรรศการ “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” ระหว่างวันที่ 6-8พฤษภาคม 2554 ณ จามจุรีสแควร์โดยนำเสนอพระราชกรณียกิจ และโครงการพระราชดำริต่างๆ ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ และสร้างความตระหนักและแรงจูงใจแก่สาธารณชนให้ร่วมอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน
1.3 นิทรรศการ “ใต้ร่มพระบารมี คุ้มครองสรรพชีวิต” ในการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ “ป่าเล็กในเมืองใหญ่ เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงระหว่างวันที่ 15-19สิงหาคม 2555 ณ. สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จตุจักร กรุงเทพฯ โดยได้นำเสนอโครงการและกิจกรรมตามพระราชดำริ ในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการอนุรักษ์ป่า ดิน น้ำ และทรัพยากรที่ก่อให้เกิดคุณูปการต่อประเทศชาติมาอย่างต่อเนื่อง
1.4 นิทรรศการ “พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” ในการประชุมระดับภูมิภาคอาเซียนด้านความหลากหลายทางชีวภาพ ครั้งที่ 2(The Second ASEAN Conference on Biodiversity 2016 – ACB 2016) ระหว่างวันที่ 15-17กุมภาพันธ์ 2559 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯโดยนำเสนอพระราชกรณียกิจ ผ่านโครงการตามพระราชดำริในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีการดำเนินงานอย่างยาวนานและต่อเนื่อง ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
2. จัดทำหนังสือ“พระมารดาแห่งการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ” ฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2555เพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ที่ครอบคลุมทั้งพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ทรัพยากรทางทะเล เช่น โครงการคืนกล้วยไม้ป่าสู่ธรรมชาติโครงการอนุรักษ์พรรณไม้หายากและใกล้สูญพันธุ์ โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลโครงการคืนช้างสู่ธรรมชาติ โครงการเพาะพันธุ์หอยมุกจานโครงการสร้างปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาศัยและเพิ่มประชากรสัตว์น้ำ โครงการทั้งหมดล้วนเพื่อการฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์เป็นฐานทรัพยากร ให้แก่พสกนิกรได้ใช้ในการดำรงชีวิตต่อไปให้เป็นที่ประจักษ์และเป็นแบบอย่างแก่ชาติไทยและนานาประเทศสืบไป โดยเผยแพร่ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทั่วไปที่สนใจ