ระบบนิเวศแห้งแล้งกึ่งชื้น

ภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ให้คำนิยาม “พื้นที่แห้งแล้งกึ่งชื้น” โดยอ้างอิงนิยามจาก the United Nations Convention to Combat Desertification (UNCCD) หมายถึง พื้นที่ที่มีอัตราส่วนระหว่างหยาดน้ำฟ้า (Precipitation) ต่อปีกับศักย์การคายระเหยน้ำ (Potential evapotranspiration) อยู่ในช่วง 0.05-0.65 (หรือจัดเป็นภูมิประเทศที่แห้งแล้ง กึ่งแห้งแล้ง และกึ่งชื้น) ในส่วนของอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพยังหมายรวมถึงพื้นที่แห้งแล้ง ทุ่งหญ้า ทุ่งหญ้าสะวันนา และภูมิประเทศแบบเมดิเตอร์เรเนียนด้วย

สำหรับในประเทศไทย ได้ให้ความหมายของพื้นที่แห้งแล้งกึ่งชื้น หมายถึง ระบบนิเวศที่พรรณพืชคลุมดินแสดงออกถึงการขาดแคลนน้ำ เนื่องจากความแห้งแล้งเป็นระยะยาวในช่วงปี หรือเนื่องจากสภาพทางกายภาพของพื้นที่ เช่น ดินเค็มจัด เป็นต้น

ลักษณะพื้นที่

ระบบนิเวศพื้นที่แห้งแล้งและกึ่งชื้นในประเทศไทย เป็นระบบนิเวศที่มีลักษณะของความแห้งแล้งสูง คือมีปริมาณน้ำฝนรายปีต่ำกว่า 1,000 มิลลิเมตร ดินมีความแห้งแล้งสูงในฤดูแล้ง ขณะที่ในฤดูหนาว ความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศค่อนข้างสูง อุณหภูมิต่ำและหนาวเย็นตลอดเวลา มักพบในพื้นที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลพอสมควร ได้แก่

  • สังคมพืชลานหิน และป่าเต็งรังแคระ อุทยานแห่งชาติผาแต้ม
  • สังคมพืชลานหิน และป่าเต็งรังแคระ อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ
  • ทุ่งหญ้า อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง
  • ป่าเต็งรังแคระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย บริเวณรอยต่อกับอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
  • ป่าเต็งรังแคระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
  • ป่าทุ่ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง
  • พื้นที่ดินเค็มบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้