ระบบนิเวศป่าชายเลน

ป่าชายเลนเป็นป่าประเภทไม้ผลัดใบ พบบริเวณปากแม่น้ำหรือบริเวณที่มีน้ำจืดไหลมาบรรจบกับน้ำทะเล เป็นบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลงความเค็มอยู่ตลอดเวลา ลักษณะโครงสร้างและสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของป่าชายเลนจะมีความแตกต่างออกไปจากป่าชนิดอื่น ๆ โดยเฉพาะดิน เนื่องจากมีสภาพเป็นดินเลน ในที่ราบกว้างใหญ่ ดินมีความอุดมสมบูรณ์สูงจากธาตุอาหารที่ไหลมาจากแหล่งต่าง ๆ และจากซากพืชซากสัตว์ในบริเวณป่าชายเลนเอง ทําให้บริเวณป่ามีความชุกชุมของพืชและสัตว์นานาชนิด

ลักษณะพื้นที่

ป่าชายเลนของประเทศไทย พบขึ้นกระจายทั่วไปบริเวณฝั่งทะเลภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ ระบบนิเวศป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่อยู่ในแนวเชื่อมต่อ (Ecotone) ระหว่างผืนแผ่นดินกับพื้นที่น้ำทะเล ในเขตร้อน (Tropical region) และกึ่งร้อน (Subtropical region) ของโลก ป่าชายเลนช่วยป้องกันและลดความรุนแรงของคลื่นลมจากทะเล เพื่อไม่ให้บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากพายุ ในขณะเดียวกัน ยังเปรียบเสมือนตัวกรอง ที่ช่วยกรองสิ่งปฏิกูล ขยะ รวมทั้งช่วยดูดซับสารมลพิษที่ไหลปะปนกับน้ำไม่ให้ลง สู่ทะเล โดยป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลระหว่างบริเวณที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด และลดลงต่ำสุด กลุ่มสังคมพืชที่พบในพื้นที่จึงได้รับอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง และมีลักษณะทางสรีระวิทยาและการปรับตัวทางโครงสร้างที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมนี้ได้ พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่ เป็นไม้สกุลโกงกาง (Rhizophoraceae) นอกจากนี้ ป่าชายเลนยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งวางไข่ แหล่งอาหาร และแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน อีกหลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์น้ำเศรษฐกิจ และยังเป็นต้นกำเนิดของห่วงโซ่อาหารของท้องทะเล โดยพบว่า ซากพืชซากสัตว์ที่ย่อยสลายภายในระบบนิเวศแห่งนี้ กลายเป็นอินทรีย์สารที่มีความสัมพันธ์กับระบบนิเวศอื่น เช่น ปะการังและแหล่งหญ้าทะเล

ป่าชายเลนขึ้นกระจายอยู่ใน 24 จังหวัด ตามชายฝั่งทะเล โดยภาคกลางพบติดกับชายฝั่งทะเลของจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ ภาคตะวันออก แพร่กระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเลของจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และฉะเชิงเทรา ภาคใต้ส่วนมากจะเกิดเป็นแนวยาวติดต่อกันทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตกหรือด้านทะเลอันดามันในเขตจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล ส่วนชายฝั่งด้านตะวันออกหรือด้านอ่าวไทย จะพบตามปากน้ำและลำน้ำใหญ่ ๆ ในจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ปัตตานี และนราธิวาส

ใน ปี ๒๕๖๑ พบว่า มีพื้นที่ป่าชายเลนรวมทั้งหมด 2.86 ล้านไร่ โดยมีพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพรวม 1,538,185 ไร่ และสามารถดำเนินการยึดคืนพื้นที่ป่าชายเลนได้จำนวน 8,811 ไร่ โดยดำเนินการปลูกป่า ชายเลนในพื้นที่ที่ได้ยึดคืนและพื้นที่อื่น ๆ ได้จำนวน 5,111 ไร่ ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นและมีสถานภาพดีขึ้น นอกจากนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะพื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพซึ่งเป็นป่าชายเลนเขตอนุรักษ์พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและมีสถานภาพดีขึ้นเช่นกัน

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต

สังคมพืช

พืชชายเลนในประเทศไทยพบพันธุ์ไม้ป่าชายเลนทั้งหมด 95 ชนิด เป็นไม้ป่าชายเลนที่แท้จริง (True mangrove) จำนวน 41 ชนิด ขึ้นเฉพาะบริเวณที่เป็นน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย ส่วนอีก 54 ชนิด เป็นไม้ป่าชายเลนที่ปรับตัวเข้ากับสภาพความเค็มได้ (Mangrove associated species) เพื่อให้ขึ้นอยู่ได้ในที่ซึ่งมีน้ำทะเลท่วมถึง และมีพันธุ์ไม้หายาก 16 ชนิด ได้แก่ ใบพาย (Aegialitis rotundifolia) พังกาหัวสุมดอกช่อ (ถั่วจัน) (Bruguiera hainesii) โพรงนกใบแหลม (Rapanea porteriana) รังกะแท้ (Kandelia candel) รามใหญ่ (Ardisia elliptica) โพทะเลดอกตั้ง (Thespesia populnea) โพทะเลดอกย้อย (Thespesia populneoides) หมันทะเล (Cordia subcordata) สมอทะเล (Sapium indicum) ตีนเป็ดตาแดง (Cerbera manghas) มะนาวผี (Atalantia monophylla) มะนาวเหลี่ยม (Merope angula) พังกาหัวสุมดอกขาว (Bruguiera sexangula) หลุมพอทะเล (Intsia bijuga) แดงน้ำ (Amoora cucullata) และหยีน้ำ (Derris indica) โดยพื้นที่ป่าชายเลน ๖ จังหวัด ที่มีพันธุ์ไม้หายากหรือใกล้สูญพันธุ์ ได้แก่ จังหวัดตราด จันทบุรี เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี กระบี่ และตรัง ซึ่งพันธุ์ไม้ป่าชายเลนหายากเหล่านี้เป็นพันธุ์ไม้ที่มักพบขึ้นเฉพาะถิ่น เนื่องจากมีความต้องการปัจจัยแวดล้อมที่เป็นข้อจำกัดบางประการในพื้นที่ บางชนิดมีถิ่นที่อยู่เป็นบริเวณแคบ ๆ บางชนิดเจริญเติบโตเพียงในบริเวณหนึ่งและไม่สามารถทำการย้ายไปปลูกที่อื่นได้ นอกจากนี้ยังมีพันธุ์ไม้แสมขนที่เพิ่งสำรวจพบที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์
โดยยังไม่มีรายงานการศึกษาลักษณะการสืบต่อพันธุ์และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของกล้าไม้มาก่อน

พันธุ์ไม้ที่พบในระบบนิเวศป่าชายเลน แบ่งได้เป็นวงศ์และสกุลได้แก่ สกุลโกงกาง เช่น โกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculate) โกงกางใบใหญ่ (Rhizophora mucronata) สกุลไม้พังกา เช่น พังกาหัวสุมดอกช่อ (ถั่วจัน) (Bruguiera hainesii) พังกาหัวสุมดอกขาว (Bruguiera sexangula) พังกาหัวสุมดอกแดง (Bruguiera gymnorrhiza) ถั่วขาว (Bruguiera cylindrical) สกุลไม้โปรง เช่น โปรงขาว (Ceriops decandra) โปรงแดง (Ceriops tagal) สกุลไม้แสม เช่น แสมขาว (Avicennia alba) แสมดำ (Avicennia officinalis) แสมทะเล (Avicennia marina) สกุลไม้ลำพู คือ ลำพู (Sonneratia caseolaris) ลำแพนทะเล (Sonneratia alba) ลำแพน (Sonneratia ovata) ลำแพนหิน (Sonneratia griffithii) สกุลไม้ตะบูน เช่น ตะบูนขาว (Xylocarpus granatum) ตะบูนดำ (Xylocarpus moluccensis) สกุลไม้ฝาด เช่น ฝาดดอกขาว (Lumnitzera racemosa) ฝาดดอกแดง (Lumnitzera littorea) สกุลเหงือกปลาหมอ เช่น เหงือกปลาหมอเครือ (Acanthus volubilis) เหงือกปลาหมอดอกขาว (Acanthus ebracteatus) สกุลไม้ตีนเป็ด เช่น ตีนเป็ดตาเหลือง (Cerbera odollam) นอกจากนี้ ยังพบหงอนไก่ทะเล (Heritiera littoralis) สำมะงา (Clerodendrum inerme) ตาตุ่มทะเล (Excoecaria agallocha) เล็บมือนาง (Aegiceras corniculatum) แคทะเล (Dolichandrone spathacea) มะคะ (Cynometra ramiflora) เทียนทะเล (Pemphis acidula) จาก (Nypa fruticans) กระเพาะปลา (Finlaysonia obovata) ขลู่ (Pluchea indica) โคลงเคลงขน (Melastoma saigonense) จิกทะเล (Barringtonia asiatica) และพบกล้วยไม้ เช่น กล้วยไม้สกุลรองเท้านารี เป็นต้น

จุลินทรีย์

ราที่พบในป่าชายเลนเรียกว่า Manglicolous fungi เป็นราที่ทนเค็ม ในประเทศไทยมีรายงานการพบมากกว่า 160 ชนิด ราบางกลุ่มมีความเฉพาะกับพืชอาศัย เช่น Halocyphina villosa พบได้บนเปลือกต้นแสม Coronopapilla mangrovei พบอาศัยอยู่กับต้นตะบูน ราบางชนิดทำให้เกิดความเสียหาย เช่น ไม้ตะบูนขาวที่เกิดโพรงในลำต้นมักมีสาเหตุมาจากเห็ดหิ้งชนิด Phellinus sp. เห็ดที่พบในป่าชายเลน เช่น เห็ดดันหมี (Daldinia concentrica) เห็ดรังผึ้ง (Hexagonia sp.) เห็ดนิ้ว (Xylaria sp.) หูหนูลายเสือ (Auricularia mesenterica) เห็ดขอนแดงรูเล็ก (Pycnoporus sanguineus) เห็ดขนมปังขน (Inonotus hispidus) เห็ดหลินจือหูช้าง (Ganoderma applanatum) เห็ดหลินจือกาละแมดำ (Ganoderma dahlia) เห็ดพัดใบลาน/เห็ดขอนเหลืองทองขารู (Favolus grammocephalus) เห็ดกรวยทองตากู/เห็ดขอนกรวย (Microporus xanthopus) เห็ดกรวยขาว (Trametes elegans) เห็ดหิ้งเหลืองขนใต้เรียบ/เห็ดหูไม้เหลือง (Stereum ostrea) เห็ดตีนตุ๊กแก (Schizophyllum commune) เป็นต้น

สังคมสัตว์

สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง

  • กลุ่มแอนเนลิดาเช่นไส้เดือนทะเล (Nephtys sp., Diopatra sp.)เพรียงทราย (Perinereis quatrefagesi) เป็นต้น
  • กลุ่มไซปันคูลา เช่น หนอนถั่ว (Sipunculus sp.) เป็นต้น
  • กลุ่มครัสเตเชียน ได้แก่กุ้ง พบประมาณ 15 ชนิด เช่น กุ้งดีดขัน (Alpheus sp.)
    กุ้งก้ามกราม (Macrobrachium rosenbergii) กุ้งปล้อง (Parapenaeopsis sp.) เป็นต้น แม่หอบ (Thalassina anomala) ปู พบประมาณ 7 สกุล 54 ชนิด โดยมีชนิดที่พบมาก เช่น ปูแสม (Sesarma mederi) ปูแสมก้ามส้ม (Parasesarma plicatum) ปูแสมก้ามยาว (Metaplax elegan) ปูแสมก้ามม่วง (Episesarma versicolor) เป็นต้น กั้ง เช่น กั้งตั๊กแตนสามแถบ (Miyakea nepa) กั้งตั๊กแตนสันแดง (Oratosquilla woodmasoni) กั้งตั๊กแตนเขียว (Oratosquilla solicitans) เป็นต้น แมงดาทะเล เช่น แมงดาจาน (Tachypleus gigas) เป็นต้น เพรียงหิน เช่น Amphibalanus amphitrite เป็นต้น แมลง พบไม่น้อยกว่า 357 ชนิด แบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) กลุ่มแมลงที่กินพืชเป็นอาหาร (Herbivore) เช่น ด้วงหนวดยาวขีดเขียว (Xystrocera sp.) ด้วงกินใบ (Aulacophora sp.) เป็นต้น (2) กลุ่มแมลงกินสัตว์เป็นอาหาร (Carnivor) เช่น แตนหางธง (Evania sp.) ต่อรูดำแถบแดง (Scolia ruficeps)เป็นต้น (3) กลุ่มแมลงที่ช่วยผสมเกสร (Pollinator)เช่น ผีเสื้อลายเสือลาย (Barsine sp.) ผีเสื้อฟ้าดอกหญ้า (Zizina otis) เป็นต้น (4) กลุ่มแมลงช่วยย่อยสลาย (Decomposer)เช่น ด้วงกระดูกสัตว์ (Cleridae sp.) ด้วงมูลสัตว์คอหยัก (Rhyssemus sp.) แมลงหางดีด (Paronellidae sp.) เป็นต้น
  • กลุ่มมอลลัสกาได้แก่ หอยฝาเดียว พบไม่น้อยกว่า 55 ชนิด โดยชนิดพันธุ์ที่พบมาก เช่น หอยถั่วแดง (Assiminea brevicula) หอยหูปากเหลือง (Cassidula mustelina) หอยหูแมว (Cassidula aurisfelis) หอยขี้นก (Cerithium coralium) เป็นต้น หอยสองฝาพบไม่น้อยกว่า 23 ชนิด ที่พบมาก เช่น หอยนางรมปากจีบ (Saccostrea commercialis) หอยแครง (Tegillarca granosa) หอยแครงขน (Barbatia sp.) หอยแมลงภู่ (Perna viridis) หอยกะพง (Musculus senhousia) หอยกัน (Polymesoda erosa) เป็นต้น ทากเปลือยเช่นPlatyvindex sp., Elysia bangtawaensis, Onchidium sp. เป็นต้น

สัตว์มีกระดูกสันหลัง

  • กลุ่มปลา พบปลาชนิดต่าง ๆ ไม่ต่ำกว่า 33 วงศ์ 72 ชนิด เช่น ปลาตีนจุดฟ้า (Boleophthalmus boddarti) วงศ์ปลากระบอก (Mugilidae) วงศ์ปลาหลังเขียว (Clupeidae) วงศ์ปลากะตักและปลาแมว (Engraulidae) วงศ์ปลาแป้น (Leiognathidae) ปลาเก๋า (Epinephelus sp.) วงศ์ปลากะพง (Latidae) เป็นต้น
  • กลุ่มสัตว์ปีก พบทั้งนกอพยพ และนกประจำถิ่นมากกว่า 100 ชนิด ได้แก่ นกชายเลน เช่น นกชายเลนปากโค้ง (Calidris ferruginea) นกชายเลนปากกว้าง (Limicola falcinellus) นกชายเลนปากแอ่น (Xenus cinereus) นกพลิกหิน (Arenaria interpres) เป็นต้น นกน้ำ เช่น เป็ดพม่า (Tadorna ferruginea) เป็ดเปียหน้าเขียว (Anas falcata) นกหนูแดง (Porzana fusca) นกช้อนหอยขาว (Threskiornis melanocephalus) นกอ้ายงั่ว (Anhinga melanogaster) นกแขวก(Nycticorax nycticorax) นกยางไฟธรรมดา (Ixobrychus cinnamomeus) นกฟินฟุต (Heliopais personatus) เป็นต้น นกป่า เช่น เหยี่ยวขาว (Elanus caeruleus) นกออก (Haliaeetus leucogaster) เหยี่ยวแดง (Haliastur indus) นกกินเปี้ยว (Todiramphus chloris) นกอีแพรดแถบอกดำ (Rhipidura javanica) นกแว่นตาขาวสีทอง (Zosterops palpebrosus) เป็นต้น นกทะเล เช่น นกนางนวลหลังดำพันธุ์รัสเซีย (Larus heuglini) นกนางนวลแกลบ ปากหนา (Gelochelidon nilotica) นกนางนวลแกลบแคสเปียน (Hydroprogne caspia)
    เป็นต้น

นกบางชนิดพบได้เฉพาะพื้นที่ป่าชายเลนเท่านั้น เช่น นกกระจ้อยป่าโกงกาง (Gerygone sulphurea) นกโกงกางหัวโต (Pachycephala cinerea) นกกินปลีคอสีทองแดง (Leptocoma calcostetha) นกแต้วแล้วป่าโกงกาง (Pitta megarhyncha) และนกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล (Pelargopsis amauroptera) เป็นต้น

  • กลุ่มสัตว์เลื้อยคลาน พบจำนวนไม่น้อยกว่า 25 ชนิด เช่น งูพังกา (Trimeresurus purpureomaculatus) งูปากกว้างน้ำเค็ม (Cerberus rynchops) งูผ้าขี้ริ้ว (Acrochodus granulatus) งูปลาหัวเทา (Fordonia leucobalia) งูอ้ายงั่ว (Hydrophis curtus)
    งูเสมียนรังหัวสั้น (Thalassophis anomalus) งูทากลาย (Astrotia stokesii) กิ้งก่า เต่า ตัวเหี้ย (Varanus salvator) และจระเข้น้ำเค็ม (Crocodylus porosus) เป็นต้น
  • กลุ่มสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เช่น กบน้ำเค็ม (Fejervarya cancrivora) เป็นต้น
  • กลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบว่ามีไม่น้อยกว่า 39 ชนิด เช่น กลุ่มค้างคาว ลิงกัง (Macaca nemestrina) ลิงแสม (Macaca fascicularis) กระรอกปลายหางดำ (Callosciurus caniceps) นากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata) นากเล็กเล็บสั้น (Aonyx cinereus) อีเห็นข้างลาย (Paradoxurus hermaphroditus) ลิ่นชวา (Manis javanica) เสือปลา (Prionailurus viverrinus) และแมวป่า (Felis chaus) เป็นต้น

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

ชนิดพันธุ์ที่เป็นเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ (Flagship species) ได้แก่

  • เสือปลา เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำพวกเสือขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่มีการใช้ประโยชน์อย่างสูงจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเพื่อการส่งออกและการขยายตัวของชุมชน ทำให้เสือปลาขาดแคลนถิ่นที่อยู่อาศัยและลดจำนวนลงจนใกล้สูญพันธุ์ อีกทั้งเสือปลาเป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 จึงต้องมีการอนุรักษ์อย่างเร่งด่วน
  • นากใหญ่ขนเรียบ เป็นสัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง บัญชีหมายเลข 2 สัตว์ป่าที่ยังไม่ถึงกับใกล้จะสูญพันธุ์ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 แต่มีจำนวนประชากรลดลงอย่างมาก ซึ่งเสี่ยงต่อความสมดุลของระบบนิเวศ จึงต้องให้ความสำคัญและเพิ่มการอนุรักษ์
  • ปูแสม ช่วยรักษาสมดุลระบบนิเวศ จากพฤติกรรมการกินใบไม้สด ซากพืชซากสัตว์ที่ตาย และดินทรายเพื่อช่วยบดย่อยอาหาร ช่วยหมุนเวียนแร่ธาตุในป่าชายเลน แต่จากการถูกจับไปบริโภคจำนวนมาก ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพแหล่งที่อยู่อาศัยโดยมนุษย์ ทำให้ปัจจุบันปริมาณปูแสมในธรรมชาติเริ่มลดน้อยลง จึงต้องให้ความสำคัญและร่วมกันอนุรักษ์

ชนิดพันธุ์ที่เป็นตัวชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ได้แก่

  • หิ่งห้อยป่าชายเลน ซึ่งในประเทศไทยพบ 2 ชนิด ได้แก่ Pteroptyx valida และ Pteroptyx malaccae โดยหิ่งห้อยจะอาศัยเฉพาะในที่ที่มีแหล่งน้ำสะอาด มีหอยซึ่งเป็นอาหารที่สมบูรณ์และไม่มีเสียงอึกทึกรบกวน จึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่า
    ชายเลนได้เป็นอย่างดี
  • ปูทะเล ปูก้ามดาบ และปูแสม ปูเป็นกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศ และยังเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน เพราะหากที่ใดมีความสมดุลทั้งดิน น้ำ และพรรณไม้ก็จะพบปูจำนวนมาก รวมทั้งจากพฤติกรรมการกินอาหารและการอยู่อาศัยของปู มีส่วนช่วยในการหมุนเวียนสารอาหารในดินและการหมุนเวียนออกซิเจนระหว่างดินกับอากาศ ดังนั้น ปูทะเล ปูก้ามดาบ และปูแสม จึงเป็นตัวบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนได้เป็นอย่างดี
  • หอยถั่วแดง (Assiminea brevicula) เป็นหอยที่กินสาหร่ายบนผิวดิน สารอินทรีย์ในดินรวมทั้งเศษซากใบไม้ที่ร่วงหล่นในป่าชายเลนเป็นอาหาร ช่วยในกระบวนการหมุนเวียนธาตุอาหาร และสารอินทรีย์ในบริเวณป่าชายเลน ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งอาหารที่สําคัญ ของสัตว์ทะเลหน้าดินขนาดใหญ่อื่น ๆ หอยถั่วแดงสามารถใช้เป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลนได้ เนื่องจากความชุกชุมจะเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณสารอินทรีย์ที่เพิ่มขึ้นตามอายุของป่าชายเลน (ณัฐกิตทิ์, ๒๕๖๑)
  • นากเล็กเล็บสั้น เป็นสัตว์ผู้ล่าที่อยู่ตำแหน่งสูงสุดในระบบนิเวศ การพบนากแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำ อีกทั้งยังเป็นตัวชี้วัดบ่งบอกถึงคุณภาพและความสะอาดของแหล่งน้ำได้อย่างดี

ชนิดพันธุ์หายากหรือถูกคุกคาม (IUCN Red List) ได้แก่

  • ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically endangered) ชนิดพันธุ์พืช ได้แก่ ลำแพนหิน (Sonneratia griffithii) พังกาหัวสุมดอกช่อ (ถั่วจัน) (Bruguiera hainesi) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ ลิ่นชวา (Manis javanica) (สถานภาพในประเทศไทย: EN) เป็นต้น
  • ชนิดพันธุ์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered) ชนิดพันธุ์พืช ได้แก่ หงอนไก่ใบเล็ก (Heritiera fomes) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ ลิงกัง (Macaca nemestrina) (สถานภาพในประเทศไทย: VU) นกฟินฟุต (Heliopais personatus) (สถานภาพในประเทศไทย: CR) เป็นต้น
  • ชนิดพันธุ์ที่มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable) ชนิดพันธุ์พืช ได้แก่ แสมขน (Avicennia lanata) หลุมพอทะเล (Intsia bijug) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ นากใหญ่ขนเรียบ (Lutrogale perspicillata) นากเล็กเล็บสั้น (Aonyx cinerea) ลิงแสม (Macaca fascicularis) (สถานภาพในประเทศไทย: LC) เสือปลา (Prionailurus viverrinus) (สถานภาพในประเทศไทย: EN) เป็นต้น
  • ชนิดพันธุ์ใกล้ถูกคุกคาม (Near Threatened) ชนิดพันธุ์พืช ได้แก่ เป้งทะเล (Phoenix paludosa) ลำแพน (Sonneratia ovata) น้ำนอง (Brownlowia tersa) ใบพาย (Aegialitis rotundifolia) โปรงขาว (Ceriops decandra) ชนิดพันธุ์สัตว์ ได้แก่ นกแต้วแล้วป่าโกงกาง (Pitta megarhyncha) นกกะเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล (Pelargopsis amauroptera) เป็นต้น

ชนิดพันธุ์ที่พบใหม่ ได้แก่

  • กุ้งเต้น Allorchestoides rosea (Wongkamhaeng et al. ๒๐๑๘). วงศ์ Talitridae จัดอยู่ในอันดับ Senticaudata พบอาศัยอยู่ในกาบต้นจากในป่าชายเลนที่อำเภอบางกระเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ
  • ปลาจุ่มพรวดวลัยลักษณ์ Periophthalmus walailakae (Darumas and Tantichodok, 2002) พบบริเวณป่าชายเลนจังหวัดระนองและจังหวัดพังงา
  • ทากเปลือยน้ำกร่อย Aiteng ater (Swennen and Buatip, 2009) พบบริเวณร่องน้ำในป่าชายเลนที่อ่าวปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญในการนำมาใช้ประโยชน์ ได้แก่

  1. การใช้ประโยชน์ทางการประมงเพื่อเป็นอาหาร ได้แก่ หอยนางรม เพรียงเรือ ปูทะเล
    หอยพอก หอยกัน กุ้งชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
  2. การใช้ประโยชน์จากไม้ชายเลน เช่น การนำไม้โกงกางมาแปรรูปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ใช้ในงานก่อสร้าง และนำมาใช้ทำฟืนและถ่านเกรดคุณภาพดี เป็นต้น
  3. พันธุ์ไม้ชายเลนหลายชนิดมีสรรพคุณเป็นพืชสมุนไพร สามารถใช้รักษาโรคต่าง ๆ ได้ เช่น ตะบูนขาวสามารถนำเปลือกมาต้ม ใช้รักษาอาการท้องเสีย โปรงขาวสามารถนำเปลือก
  4. มาตำให้ละเอียด ใช้พอกแผลห้ามเลือดและรักษาแผลสดได้ เป็นต้น
  5. การท่องเที่ยวในป่าชายเลน ปัจจุบันมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศมากขึ้น ซึ่งป่าชายเลน ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเป็นสถานที่พักผ่อนและเป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้นักท่องเที่ยวได้เห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้นด้วย

ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ

  1. การเปลี่ยนแปลงผังเมืองและการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมทั้งการขยายตัวของแหล่งชุมชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนพื้นที่ป่าชายเลนไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น ร้านอาหาร โรงแรม ที่พักอาศัย เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้พื้นป่าชายเลนเกิดความเสื่อมโทรมและลดจำนวนลง
  2. การสร้างท่าเทียบเรือ ถนนและสายส่งไฟฟ้า โดยโครงการก่อสร้างต่าง ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องใช้พื้นที่ป่าชายเลน ทำให้พื้นที่ป่าชายเลนถูกทำลายหรือถูกตัดแยกออกจากกัน และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางการไหลของกระแสน้ำและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในป่าชายเลน ไม่สามารถเคลื่อนที่ไปมาได้อย่างทั่วถึง อีกทั้งในระหว่างการดำเนินการก่อสร้างก็สามารถส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลนได้ทั้งสิ้น
  3. การทำเกษตรกรรมและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ปัจจุบันพื้นที่ป่าชายเลนยังคงถูกบุกรุกแผ้วถาง เพื่อใช้ในการทำเกษตรกรรมปลูกพืช เช่น ข้าว มะพร้าว ปาลม์น้ำมัน และการทำบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยมีการขุดคันดินเป็นบ่อขนาดใหญ่ เป็นต้น
  4. การขุดลอกและขยายร่องน้ำ ทำให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าชายเลน อีกทั้งการใช้เรือขุดจะพ่นดินเลนหรือทรายที่ขุดลอกจากบริเวณท้องน้ำลงไปในพื้นที่ป่า จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของป่าชายเลนในบริเวณนั้น ๆ ได้

การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศป่าชายเลนหลายประการ เช่น อุณหภูมิน้ำสูงขึ้น ปริมาณธาตุอาหารลดลง ความเค็มเพิ่มขึ้น น้ำขุ่นข้น มีปริมาณสารพิษในน้ำ เกิดการพังทลายของดิน มีการเปลี่ยนแปลงชนิด ปริมาณ และลักษณะโครงสร้างของพืชและสัตว์น้ำที่สำคัญ
คือมีผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศในป่าชายเลนและระบบนิเวศอื่นในบริเวณชายฝั่งและใกล้เคียงป่าชายเลน ซึ่งจะส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจและประชาชนและของประเทศโดยรวมและยากที่จะฟื้นฟูให้กลับเป็นป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์เหมือนเดิมได้

การดำเนินงานที่ผ่านมา

ปัญหาพื้นที่ป่าชายเลนที่ลดลงอย่างรวดเร็วในระหว่าง พ.ศ. 2504-2529 ซึ่งลดลงเกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมดของประเทศ จากการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ทั้งโดยการบุกรุกเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ และลักลอบตัดไม้ เพื่อแก้ไขปัญหาการลดลงของพื้นที่และความเสื่อมโทรมของป่าชายเลนและรักษาไว้ซึ่ง   ระบบนิเวศของป่าชายเลน จึงมีการบริหารจัดการตามหลักวิชาการป่าไม้ ดูแลรักษาและติดตามตรวจสอบการบุกรุกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนำนโยบายของรัฐด้านต่าง ๆ มาเป็นแนวทางในการตัดสินใจและปฏิบัติงานให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนในการร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน และพัฒนาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าชายเลนอย่างถูกต้อง ยั่งยืน และเป็นธรรม โดยใช้หลักกฎหมายและระเบียบวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ในปัจจุบันได้มีการจัดการพื้นที่ป่าชายเลนที่สำคัญ โดยเน้นไปที่การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าชายเลน และการปลูกป่าเพื่อทดแทนป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม คณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2530 เพื่อจำแนกเขตและกำหนดมาตรการการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนไว้ ดังนี้

  • เขตอนุรักษ์ หมายถึง พื้นที่ป่าชายเลนที่หวงห้ามไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ นอกจากจะปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ ได้แก่ พื้นที่แหล่งรักษาพันธุ์พืชและสัตว์น้ำที่มีค่าทางเศรษฐกิจ พื้นที่แหล่งเพาะพันธุ์และสัตว์น้ำ พื้นที่ที่ง่ายต่อการถูกทำลายและการพังทลายของดิน พื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี สถานที่ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่น เขตอุทยานแห่งชาติ เขตวนอุทยาน เขตแหล่งท่องเที่ยว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่า พื้นที่ป่าที่สมควรสงวนไว้เพื่อเป็นแนวป้องกันลม พื้นที่ป่าที่มีความเหมาะสมต่อการสงวนไว้เพื่อเป็นสถานที่ศึกษา วิจัย และรักษาสภาพแวดล้อมและ    ระบบนิเวศ พื้นที่ที่อยู่ห่างไม่น้อยกว่า 20 เมตร จากริมฝั่งแม่น้ำลำคลองธรรมชาติและไม่น้อยกว่า 75 เมตรจากชายฝั่งทะเล
  • เขตเศรษฐกิจจำเพาะ แบ่งได้เป็น

– เขตเศรษฐกิจ ก. หมายถึง พื้นที่ป่าชายเลนที่ยอมให้มีการใช้ประโยชน์เฉพาะในกิจการด้านป่าไม้ ได้แก่ พื้นที่ป่าสัมปทาน พื้นที่ป่าชายเลนนอกสัมปทานที่เหมาะสมแก่การอนุรักษ์ไว้เป็นป่าชุมชน พื้นที่สวนป่าเพื่อผลผลิตด้านป่าไม้ของรัฐบาลและเอกชน

– เขตเศรษฐกิจ ข. หมายถึง พื้นที่ป่าชายเลนที่ยอมให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินและการพัฒนาด้านอื่น ๆ ได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลดีและผลเสียทางด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ได้แก่ พื้นที่เกษตรกรรมเพื่อการกสิกรรม การเลี้ยงสัตว์ การประมง การทำนาเกลือ พื้นที่อุตสาหกรรม การทำเหมืองแร่ การสร้างโรงงานอุตสาหกรรม พื้นที่ที่เป็นแหล่งชุมชน แหล่งการค้า ท่าเทียบเรือ และอื่น ๆ จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นเขตป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรีถึง 4,368.06 ตารางกิโลเมตร นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มีนโยบายในการหยุดยั้งการบุกรุกการทำลายป่าทั่วประเทศและทวงคืนพื้นที่ครอบครองโดยผิดกฎหมายเพื่อพลิกฟื้นผืนป่าชายเลนคืนสู่สภาพที่สมบูรณ์ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2557 และที่ 66/2557 ลงวันที่ 17 มิถุนายน 2557 มอบหมายให้กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปราบปรามและจับกุมผู้บุกรุก ยึดถือ ครอบครอง พื้นที่ป่าไม้ที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งให้ดำเนินการกับผู้สมคบและสนับสนุน