อาเซียนกับความหลากหลายทางชีวภาพ

ความเป็นมา

การดำเนินงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหนึ่งในความร่วมมือภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community)
เพื่อแสดงถึงความตระหนักของกลุ่มประเทศอาเซียนในการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษาความสะอาดและการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมสีเขียวโดยเฉพาะ
ประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีความแตกต่างและซับซ้อนแห่งหนึ่งของโลก ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียน
จึงกำหนดประเด็น การอนุรักษ์และการจัดการความหลากหลายทางชีวภาพและทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ดาวน์โหลด เอกสารอาเซียน 2025: มุ่งหน้าไปด้วยกัน

การดำเนินงานที่สำคัญภายใต้ความร่วมมือด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของอาเซียน

1. คณะทำงานอาเซียนด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Working Group on Nature Conservation and Biodiversity: AWGNCB) เป็นเวทีหารือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อประสานความร่วมมือและผลักดันกิจกรรมคุ้มครอง อนุรักษ์ จัดการ และแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพตามธรรมชาติในภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมบทบาทของภูมิภาคอาเซียนด้านการอนุรักษ์และการจัดการธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพในเวทีความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง

2. ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (ASEAN Centre for Biodiversity: ACB): ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นชอบจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 เพื่อให้สนับสนุนงานด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างยั่งยืน โดย ACB มีหน้าที่สนับสนุน สร้างเครือข่าย อบรม วิจัย และจัดการฐานข้อมูลด้านการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคอาเซียน การบริหาร ACB จะดำเนินการโดยประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ในรูปแบบกรรมการ (Governing Board of The ASEAN Centre for Biodiversity: GB ACB)

ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.aseanbiodiversity.org/

3. อุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Heritage Parks: AHP): ดำเนินการตามปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยพื้นที่อุทยานมรดกที่สงวนไว้ (Declaration on Heritage Parks and Reserves) พ.ศ. 2527 เพื่อประกาศพื้นที่คุ้มครอง 11 แห่งเป็นอุทยานมรดกอาเซียน โดยปฏิญญาดังกล่าวได้รับการรื้อฟื้นขึ้นอีกครั้งในปี พ.ศ. 2546 ใช้ชื่อว่า ปฏิญญาอุทยานมรดกอาเซียน (ASEAN Declaration on Heritage Parks) โดยมีศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพเป็นฝ่ายเลขานุการของโครงการอุทยานมรดกอาเซียน (AHP Programme)

4. รายงานสถานการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพอาเซียน (ASEAN Biodiversity Outlook: ABO): เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ศูนย์อาเซียนว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสถานภาพความหลากหลายทางชีวภาพของภูมิภาคอาเซียนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาด้านนโยบายของประเทศสมาชิกอาเซียน และเผยแพร่ในเวทีความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินงานแล้ว 2 ฉบับ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดทำรายงานฉบับที่ 3

5. เครือข่ายความร่วมมือ:

5.1 ความร่วมมืออาเซียน-สหภาพยุโรป
5.2 ความร่วมมืออาเซียน-สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
5.3 ความร่วมมืออาเซียน-อินเดีย
5.4 ความร่วมมืออาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี

6. ปฏิญญา/แถลงการณ์ร่วม (Declarations/Joint Statements): ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของประเทศสมาชิกอาเซียนร่วมกับประชาคมโลกในการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ