ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต

สังคมพืชที่เป็นตัวบ่งชี้ระบบนิเวศนี้ คือ ป่าเต็งรังแคระที่มีสนสองใบขึ้นเด่นอยู่ในสังคมด้วย ไม้ในชั้นเรือนยอดของระบบนิเวศแห้งแล้งและกึ่งชื้นมีความสูงไม่เกิน 10 เมตร บนพื้นป่าปกคลุมด้วยหญ้ามาก และจะแห้งตายในฤดูแล้ง ทำให้ระบบนิเวศนี้มีความสัมพันธ์กับไฟป่า เนื่องจากสังคมพืชเหล่านี้อยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างราบในที่ราบสูง และบนลาดเขาที่มีความชันไม่มาก ทำให้มีสังคมพืชที่แตกต่างไปจากสังคมพืชอื่น สังคมพืชบริเวณลานหินมักจะพบ พืชล้มลุกและพืชจับแมลง เช่น ดุสิตา สร้อยสุวรรณา ทิพย์เกสร หยาดน้ำค้าง จอกบ่วาย หม้อข้าวหม้อแกงลิง พืชกินซากของสกุลสรัสจันทร และพืชอื่นของสกุลหญ้ารากหอม สกุลมณีเทวา สกุลกระถินนา และดาวประดับ ระบบนิเวศนี้เป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญ และยังเป็นถิ่นอาศัยที่สำคัญของสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์กีบ จากการสำรวจนกในอุทยานแห่งชาติผาแต้ม พบนกทั้งสิ้น 31 วงศ์ 107 ชนิด ขณะที่พบนกในอุทยานแห่งชาติมุกดาหาร (ภูผาเทิบ) 22 วงศ์ 60 ชนิด ตัวอย่างชนิดพันธุ์เด่นที่พบ เช่น ไก่ป่า นกหัวขวานด่างแคระ นกโพระดกธรรมดา นกตีทอง นกกะรางหัวขวาน นกตะขาบทุ่ง นกจาบคาเล็ก นกหกเล็กปากแดง นกเขาใหญ่ นกเขาชวา นกกระแตแต้แว้ด