เกี่ยวกับ IPBES
เวทีระหว่างรัฐบาลว่าด้วยนโยบาย – วิทยาศาสตร์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ (Intergovernmental Science-Policy Platform on Biodiversity and Ecosystem Services: IPBES)
ความเป็นมา
IPBES ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ ค.ศ. 2012 เป็นองค์กรอิสระระหว่างรัฐบาลโดยก่อแนวคิดมาจากอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD) ที่เห็นว่ามีความรู้ทางวิชาการด้านความหลากหลายทางชีวภาพยังไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการกำหนดนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพเท่าที่ควร IPBES มุ่งดำเนินการจัดการความรู้ทางวิชาการเพื่อสนับสนุน
การตัดสินใจด้านความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งไม่ได้มุ่งตอบสนองอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลาย
ทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังมุ่งที่จะตอบสนองต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศอื่น ๆ ด้วย ปัจจุบัน IPBES มีสมาชิก 145 ประเทศ (ข้อมูล ณ มีนาคม 2567)
เป้าประสงค์
1. สนับสนุนข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และหลักฐานเชิงประจักษ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อให้เพียงพอต่อการประกอบการกำหนดนโยบาย
2. มุ่งเน้นการนำเสนอความรู้ทางวิชาการเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
3. เป็นเวทีเพื่อสร้างความเข้มแข็งระหว่างงานวิชาการและงานนโยบายด้านความหลากหลายทางชีวภาพและบริการจากระบบนิเวศ
การดำเนินงานของ IPBES แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ดังนี้
1. การประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ คือการนำข้อมูลจากเอกสารทางวิชาการที่ถูกตีพิมพ์จากแหล่งที่ เชื่อถือได้มาสังเคราะห์และประเมินผล โดยผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านกระบวนคัดเลือกโดยคณะกรรมการของ IPBES ได้แก่ สภาบริหาร (Bureau) และคณะผู้เชี่ยวชาญสหสาขาและมีการรับรองอย่างเป็นระบบและโปร่งใส โดยยึดตามแนวทางของ Intergovernmental Panel on Climate Changes หรือ IPCC การประเมินประกอบด้วย การประเมินเฉพาะเรื่อง (Thematic Assessment) การประเมินระเบียบวิธีการ (Methodology Assessment) และการประเมินระดับภูมิภาคและระดับโลก (Regional and Global Assessment)
2. การสนับสนุนด้านนโยบาย ได้แก่ จัดทำเครื่องมือและวิธีการในการจำแนกนโยบายที่เกี่ยวข้องและอำนวยความสะดวกแก่ประเทศสมาชิกในการพัฒนานโยบายในอนาคต
3. การเสริมสร้างสมรรถนะและองค์ความรู้ ได้แก่ จำแนกประเด็นจำเป็นที่ต้องการเสริมสร้างสมรรถนะ รวมถึง
องค์ความรู้และข้อมูลแก่ประเทศสมาชิก และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
4.การสื่อสารและการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ คือเผยแพร่งานของ IPBES ให้สามารถเข้าถึงได้ในวงกว้าง
ขั้นตอนการประเมินของ IPBES
IPBES และอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ
การดำเนินงานของ IPBES ช่วยสนับสนุนอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) เกี่ยวกับข้อมูลวิชาการในการส่งเสริมการดำเนินงาน การวิเคราะห์และประเมินความก้าวหน้า ตลอดจนการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร โดยการประเมินต่างๆ ภายใต้การดำเนินงานของ IPBES จะผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ วิชาการและเทคโนโลยีเพื่อให้ข้อเสนอแนะก่อนนำเสนอในการประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ เพื่อพิจารณาต่อไป