ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ

พื้นที่แห้งแล้งและกึ่งชื้นเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของสัตว์กีบ จึงทำให้มีโอกาสพบสัตว์กีบขนาดใหญ่ เช่น ช้างป่า (Elephas maximus) กระทิง (Bos gaurus) วัวแดง (Bos javanicus) ได้ โดยช้างป่าจัดเป็นสัตว์ที่เป็นทั้ง Umbrella species และ Flagship species เนื่องจากพฤติกรรมการหาอาหารของช้างที่เดินทางหากินในระยะไกลจึงช่วยพาเมล็ดพืชที่ช้างกินเข้าไปให้ไปเกิดในที่ที่ห่างจากต้นแม่ โดยเฉพาะเมล็ดพืชที่มีขนาดใหญ่ เส้นทางที่ช้างเดินผ่านจะเป็นทางด่านสัตว์ให้สัตว์ชนิดอื่นเดินหากินได้ ขณะเดียวกันกิ่งไม้ที่ช้างโน้มลงมาระหว่างหากินก็จะเป็นอาหารให้สัตว์ขนาดเล็กที่เอื้อมหากินที่สูงไม่ได้ นอกจากนี้ มูลช้างยังเป็นปุ๋ยให้กับพืชและเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่ที่สำคัญของแมลงป่าหลายชนิด ขณะที่กระทิงและวัวแดงเป็นสัตว์กีบขนาดใหญ่ที่มีบทบาทในการควบคุมประชากรพืชในทุ่งหญ้า และยังเป็นเหยื่อของผู้ล่าขนาดใหญ่อย่างเสือโคร่งด้วย

ในพื้นที่ที่ไม่พบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่ เช่น อุทยานแห่งชาติผาแต้ม และอุทยานแห่งชาติ ภูผาเทิบ จะพบหมาจิ้งจอก (Canis aureus) เป็นผู้ล่าสูงสุดในโซ่อาหาร ซึ่งจะมีบทบาทในการควบคุมประชากรสัตว์ขนาดเล็กที่เป็นเหยื่อ

ชนิดพันธุ์ที่มีความสำคัญในการนำมาใช้ประโยชน์

ความสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของพืชล้มลุกและพืชจับแมลงที่รวมตัวกันขึ้นเป็นทุ่งดอกไม้บนลานหินในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ของรอยต่อปลายฤดูฝนเข้าสู่ฤดูหนาว ทำให้พื้นที่แห้งแล้งกึ่งชื้นมีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติได้