ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง

ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง (Marine and Coastal Ecosystem) หมายถึง ประชาคมของสิ่งมีชีวิตทั้งพืช สัตว์ และสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในผืนน้ำ (Pelagic Organism) ซึ่งประกอบด้วย พวกที่ใช้ชีวิตล่องลอย เรียกว่า แพลงก์ตอน (Plankton) และพวกที่ว่ายน้ำเป็นอิสระ เรียกว่า เนคตอน (Nekton) และที่อาศัยอยู่ตามพื้นทะเล (Benthic Organism) ซึ่งประกอบด้วยพวกที่ใช้ชีวิตคืบคลานหรือเกาะอยู่บนพื้นทะเล เรียกว่า เอพิฟาวนา (Epifauna) และพวกที่ฝังตัวอยู่ในพื้นทะเล เรียกว่า อินฟาวนา (Infauna) สิ่งมีชีวิตเหล่านี้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มสิ่งมีชีวิตด้วยกันและกับสิ่งแวดล้อมซึ่งเชื่อมโยงการไหลของพลังงานและสารอาหารในระบบนิเวศ

ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง หมายความว่า สิ่งที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นตามธรรมชาติในบริเวณทะเลและชายฝั่ง รวมถึงพรุชายฝั่ง พื้นที่ชุ่มน้ำ ชายฝั่ง คลอง คู แพรก ทะเลสาบ และบริเวณพื้นที่ ปากแม่น้ำที่มีพื้นที่ติดต่อกับทะเลหรืออิทธิพลของน้ำทะเลเข้าถึง เช่น ป่าชายเลน ป่าชายหาด หาด ที่ชายทะเล เกาะ หญ้าทะเล ปะการัง ดอนหอย พืชและสัตว์ทะเล หรือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง เช่น ปะการังเทียม แนวลดแรงคลื่น และการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่งทะเลรวมทั้งประเทศทั้งสิ้น 3,151.13 กิโลเมตร ครอบคลุม 23 จังหวัด ตั้งแต่ฝั่งอ่าวไทย จากจังหวัดตราดในภาคตะวันออกตลอดแนวชายฝั่ง ถึงภาคใต้จังหวัดนราธิวาสมีความยาว 2,039.78 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด และฝั่งทะเลอันดามัน ตั้งแต่จังหวัดระนองจนถึงจังหวัดสตูลชายแดนติดประเทศมาเลเซีย มีความยาว 1,111.35 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด เป็นที่รวมของทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ และมีความสำคัญต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ที่มีการใช้ประโยชน์ในกิจกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างรายได้ที่สำคัญของประเทศ

ระบบนิเวศทะเลและชายฝั่งในประเทศไทย สามารถจำแนกเป็นระบบนิเวศย่อยที่สำคัญ ๖6 ระบบนิเวศ ได้แก่
ระบบนิเวศหาด
ระบบนิเวศป่าชายเลน
ระบบนิเวศแนวปะการัง
ระบบนิเวศแหล่งหญ้าทะเล
ระบบนิเวศทะเลสาบสงขลา
ระบบนิเวศทะเลเปิด