ความเป็นมา
อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CBD)
เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นหลังการประชุมสุดยอด ณ นครริโอ เด จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี พ.ศ. 2535 มีลักษณะเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (legally-binding international treaty) ซึ่งกำหนดแนวทางและหลักกฎหมายทั่วไป สำหรับการบริหารจัดการประเด็นต่าง ๆ ในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นพื้นฐานในการจัดทำเป้าหมาย กรอบเวลา กลไกการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ และ/หรือพิธีสารในประเด็นเฉพาะต่อไป
อนุสัญญาฯ ได้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2536 ซึ่งเป็นเวลา 90 วัน หลังจากที่มีภาคีให้สัตยาบันลำดับที่ 30 โดยเปิดให้มีการลงนามต่อไปจนถึงวันที่
4 มิถุนายน พ.ศ. 2536 จนได้รับการลงนาม 168 ประเทศ ณ ขณะนั้น ทั้งนี้ การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาฯ สมัยแรก ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน –
9 ธันวาคม พ.ศ. 2537 ณ เครือรัฐบาฮามาส
อนุสัญญาฯ นี้มีเป้าประสงค์หลัก “เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน” โดยเน้นว่า การอนุรักษ์
ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันของทุกคน และตระหนักว่าแต่ละประเทศย่อมมีสิทธิอธิปไตยเหนือทรัพยากรชีวภาพในเขตแดนของตน
จำเป็นต้องคำนึงถึงความสำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการขจัดความยากจนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ จึงเป็นเสมือน
เครื่องมือในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ตามแนวทางและกรอบการดำเนินงานเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ
อย่างยั่งยืนที่ได้มีการกำหนดไว้ ทั้งนี้ อาจมีการจัดทำความตกลงเพิ่มเติมเพื่อใช้กับประเด็นเฉพาะด้าน โดยประเทศภาคีอนุสัญญาฯ จะตัดสินใจเองว่าจะนำข้อมติ
แนวทาง และเป้าหมาย/เป้าประสงค์ต่าง ๆ ภายใต้อนุสัญญาฯ ไปปรับใช้กับการดำเนินงานภายในประเทศได้อย่างไร
ดาวน์โหลดอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ