ภัยคุกคามต่อระบบนิเวศ

ระบบนิเวศเกาะมีส่วนสำคัญในการคงสถานะบทบาทของระบบนิเวศไว้ อาทิ เพื่อช่วยป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติ สนับสนุนวงจรสารอาหาร การก่อเกิดทรายและดิน และมีส่วนในการควบคุมสภาพภูมิอากาศและเชื้อโรค ในรอบกว่าศตวรรษที่ผ่านมา ความหลากหลายทางชีวภาพของเกาะได้รับแรงกดดันอย่างมากจากสาเหตุหลักหลายประการ เช่น การบุกรุกของชนิดพันธุ์ต่างถิ่น การพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การเปลี่ยนแปลงและผันแปรของสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การใช้ประโยชน์มากเกินควรและไม่ยั่งยืน
สามารถสรุปได้ ดังนี้

  1. การท่องเที่ยวที่เกินขีดการรองรับของพื้นที่ การท่องเที่ยวปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างมากมาย เนื่องจากมีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ อาทิ ชายหาด จุดดำน้ำ และเกาะต่าง ๆ เป็นต้น โดยกิจกรรมการท่องเที่ยวต้องอาศัยแหล่งพักแรม และร้านอาหาร ซึ่งต้องใช้สาธารณูปโภคในพื้นที่ ตลอดจน ทรัพยากรธรรมชาติในแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวแบบกระจุกตัว หรือการท่องเที่ยวที่เกินกว่าขีดการรองรับของพื้นที่ (Overtourism) จึงอาจส่งผลเสียต่อธรรมชาติในพื้นที่ได้หากมีการจัดการที่ไม่ดีพอ ปัญหาจากการท่องเที่ยวเกินกว่าขีดการรองรับของทรัพยากรในพื้นที่ ส่งผลให้ระบบนิเวศเกาะในประเทศไทยถูกคุกคามและเกิดปัญหาระบบนิเวศภายในพื้นที่เกิดความเสื่อมโทรมลง ระบบนิเวศส่วนใหญ่ถูกคุกคามจากกิจกรรมการท่องเที่ยว อาทิ การเหยียบย่ำปะการัง หรือการดำน้ำที่ไม่มีประสบการณ์ การลักลอบเก็บปะการัง หรือแม้แต่การเก็บปะการังกลับไปเป็นที่ระลึก เป็นต้น
  2. การลักลอบทำการประมง การลักลอบทำการประมงบริเวณแหล่งปะการัง เช่น การวางอวน วางลอบและการใช้สารเคมียาเบื่อเมาปลา เนื่องจากแนวปะการังเป็นแหล่งอาศัยของปลาและสัตว์น้ำทะเลจำนวนมาก รวมทั้งการทิ้งสมอเรือในแนวปะการังและการถอนสมอในแนวปะการัง ส่งผลกระทบต่อแนวปะการังอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดการทำลายปะการังให้แตกหักเสียหาย นอกจากนี้ การลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าชายเลนยังส่งผลให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญลดลง
  3. การทิ้งขยะมูลฝอยลงในแหล่งน้ำหรือทะเล ปัจจุบันกิจกรรมการท่องเที่ยวและการดำรงชีวิต มักมีการทิ้งขยะ ขวดน้ำพลาสติก ขวดแก้ว ถุงพลาสติก อาจส่งผลให้เกิดการตื้นเขินของแหล่งน้ำ รวมถึงการสร้างความเสียหายต่อแนวปะการังได้ เช่น ขวดแก้ว เมื่อลงสู่แนวปะการังอาจส่งผลให้ปะการังแตกหักเสียหายได้ หรือถุงพลาสติก ทำให้สัตว์ในแนวปะการังคิดว่าเป็นอาหารแล้วกินเข้าไป นอกจากนี้ขยะมูลฝอยทำให้ทัศนียภาพของแหล่งท่องเที่ยวนั้นเสื่อมโทรมลง ตลอดจนการปล่อยสิ่งปฏิกูลจากเรือท่องเที่ยวโดยไม่มีการบำบัดก่อนปล่อยลงสู่ทะเล หรือแม้กระทั่งน้ำเสียที่เกิดจากกิจกรรมการซักล้าง ทำให้เกิดการปนเปื้อนสารจำพวกไนไตรท และฟอสเฟตลงสู่แหล่งน้ำ ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขึ้นของสาหร่ายจนเกิดการแย่งชิงและปกคลุมปะการัง จนทำให้ปะการังตายในที่สุด
  4. การขยายตัวทางเศรษฐกิจ การพัฒนาชุมชนชายฝั่ง เช่น สร้างรีสอร์ท การก่อสร้างบริเวณชายหาดและแหล่งที่อยู่อาศัย ประกอบกับการขยายตัวของอุตสาหกรรม กิจกรรมบางประเภทก่อให้เกิด ผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยน้ำร้อน น้ำเสียที่ปนเปื้อนสารเคมี รวมถึง การก่อสร้างที่ก่อให้เกิดดินตะกอนลงสู่ทะเล และแหล่งปะการัง รวมถึงการรั่วไหลของคราบน้ำมัน ส่งผลให้สัตว์น้ำหรือแม้แต่ปะการัง เกิดการปนเปื้อน นอกจากนี้ชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นหรือพืชหายากอาจไม่พบอยู่ในพื้นที่เนื่องจากการบุกรุกและทำลายถิ่นที่อยู่บนเกาะ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อรองรับการท่องเที่ยว

จากสถานการณ์การระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้พื้นที่ท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่งได้ถูกปิดตัวซึ่งเป็นการพักจากกิจกรรมและการรบกวนที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทั้งปวง ซึ่งจะเห็นได้ว่าระบบนิเวศ ส่วนใหญ่เกิดการฟื้นฟูตัวเองจนกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง โดยมีตัวชี้วัดคือ ปะการังและแหล่งหญ้าทะเลในพื้นที่ได้เริ่มฟื้นตัวบางส่วน นอกจากนี้ ยังพบการกลับมาของสัตว์ทะเลที่มีความสำคัญ อาทิ เต่าทะเล ฉลาม โลมา เป็นต้น นอกจากนี้ กรณีอ่าวมาหยา ซึ่งเป็นอ่าวที่มีความสวยงามที่สุดในเกาะพีพี และเกิดการท่องเที่ยวที่เกิดกว่าขีดการรองรับของพื้นที่เนื่องจากเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง “The Beach” เมื่อ พ.ศ. 2543 ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมาก ด้วยกิจกรรมการท่องเที่ยวที่มากเกินขีดการรองรับของทรัพยากรในพื้นที่ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม เช่น แนวปะการังถูกทำลายเสียหายจากกิจกรรมดำน้ำ และการจอดเรือโดยสาร การปนเปื้อนสารเคมีจากครีมกันแดดลงสู่ทะเล และเกิดการปล่อยน้ำเสียจากสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่ไม่ผ่านการบำบัดลงสู่แหล่งน้ำ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนำไปสู่การประกาศปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูสภาพของระบบนิเวศ เป็นเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2561-2564) อย่างไรก็ตาม ภายหลังการประกาศปิดอ่าวเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศเป็นเวลา 2 ปี บการกลับมาของสัตว์หายากในพื้นที่ ทั้งฉลามวาฬ ฉลามหูดำ ปูไก่ ปูลม ปูเสฉวน ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ภายในพื้นที่ภายหลังจากการปิดเกาะ

การดำเนินงานที่ผ่านมา

การดำเนินเพื่อดูแลและฟื้นฟูระบบนิเวศเกาะ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง ได้แก่ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมป่าไม้ โดยที่ผ่านมาได้มีการดำเนิน
การดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการพื้นที่ ดังนี้

  1. มีการดำเนินการกำหนดพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามัน (Andaman Sea Nature Reserves) เป็นแนวต่อเนื่องของพื้นที่คุ้มครองทางทะเล ตลอดแนวชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย รวม 18 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระนอง อุทยานแห่งชาติแหลมสน อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติสิรินาถ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา อุทยานแห่งชาติทะเลบัน อุทยานแห่งชาติตะรุเตา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะระ-เกาะพระทอง และเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง โดยได้รับการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองโดยรัฐบาลไทย เพื่อวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การจัดตั้งพื้นที่ดังกล่าวขึ้นเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา
  2. มีการประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นกลไกทางกฎหมายที่สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการยับยั้งการดำเนินการหรือส่งเสริมการดำเนินการที่เป็นการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 43-45 แห่ง พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ในระบบนิเวศเกาะการประกาศพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมดังกล่าวเป็นแนวทางในการช่วยอนุรักษ์และป้องการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศโดยมีจังหวัดที่ได้รับการคุ้มครองตามประกาศฯ ประกอบด้วย จังหวัดประจวบคีรีขันธุ์ กระบี่ พังงา ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี
  3. มีกิจกรรมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนมีการควบคุม และป้องกันกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม รวมถึงการควบคุมการใช้ประโยชน์จากทะเลได้มีการขยายตัวและพัฒนามากขึ้นจนอยู่ในอัตราที่เกินกว่าธรรมชาติจะรับได้ ทำให้สภาพ แวดล้อมทางทะเลเปลี่ยนแปลงไป เช่น กิจกรรมการจัดสร้างปะการังเทียมเพื่อเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเล การทำความสะอาดพื้นที่ชายฝั่งทะเล โครงการจัดทำทุ่นผูกเรือเพื่อรักษาแนวประการัง การจัดทำสถานภาพปลาทะเลสวยงามในประเทศไทย เป็นต้น
  4. จัดทำแผนแม่บทการป้องกันการทำลายสัตว์ทะเลหายาก ร่วมกันระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง กรมประชาสัมพันธ์ กรมการท่องเที่ยว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อมีแนวทางและมาตรการป้องกันการทำลายสัตว์ทะเลหายาว ซึ่งมีความสำคัญในระบบนิเวศ